สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องการเรียนออนไลน์ในสถานการณ์ Covid-19 จำนวนทั้งสิ้น 505 ตัวอย่าง ในเขตกรุงเทพมหานครที่เรียนออนไลน์ หรือมีบุตรหลานที่เรียนออนไลน์ ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1–18 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา พบว่า
ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.1 เป็นชาย และร้อยละ 52.9 เป็นหญิง เมื่อพิจารณาจำแนกเป็นอายุ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 23.8 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 21.6 มีอายุ 25-35 ปี ร้อยละ 33.5 มีอายุ 36-50 ปี และร้อยละ 21.1 มีอายุมากกว่า 50 ปี ส่วนรายได้ส่วนตัวเฉลี่ยต่อเดือน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 61.2 มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาท ร้อยละ 24.2 มีรายได้ 20,001-30,000 บาท และร้อยละ 14.6 มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท สำหรับอาชีพ 3 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 27.8 อาชีพพนักงานบริษัทเอกชน รองลงมาคือร้อยละ 23.3 อาชีพค้าขาย และร้อยละ 20.4 อาชีพนักเรียนนักศึกษา
สำหรับระดับการศึกษาของตัวอย่าง/บุตรหลาน ที่กำลังเรียนออนไลน์ พบว่า ร้อยละ 10.6 ระบุระดับอนุบาล ร้อยละ 47.9 ระบุระดับประถมศึกษา ร้อยละ 36.1 ระบุระดับมัธยมศึกษา และร้อยละ 25.5 ระบุระดับอุดมศึกษา ตามลำดับ
ตัวอย่างกว่าร้อยละ 95 มีเรียนออนไลน์ที่บ้าน และเกือบร้อยละ 70 มีสมาร์ทโฟนที่สามารถใช้เรียนออนไลน์ได้
ความพร้อมของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในบ้านที่สามารถใช้ในการเรียนออนไลน์ได้ พบว่า ร้อยละ 69.7 ระบุสมาร์ทโฟน รองลงมาร้อยละ 29.2 ระบุโน๊ตบุ๊ก ร้อยละ 25.0 ระบุสมาร์ททีวี ร้อยละ 23.9 ระบุแท็ปเล็ต และร้อยละ 20.8 ระบุคอมพิวเตอร์พีซี สำหรับสถานที่ใช้เรียนออนไลน์ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 95.8 เรียนที่บ้าน ส่วนสถานที่อื่นๆ พบบ้างเล็กน้อย ได้แก่ บ้านญาติ/คนรู้จัก ที่ทำงานผู้ปกครอง เป็นต้น
ตัวอย่างเกือบร้อยละ 70 มีเรียนออนไลน์ของโรงเรียน วิธีเรียนส่วนใหญ่เรียนผ่านเทปหรือคลิปวีดีโอที่ทางโรงเรียนบันทึกไว้
ตัวอย่างร้อยละ 69.3 มีการเรียนออนไลน์ที่โรงเรียน ในขณะที่ร้อยละ 17.3 มีเรียนออนไลน์ผ่านโรงเรียนกวดวิชา โดยร้อยละ 33.6 เรียนผ่านเทปหรือคลิปวีดีโอที่ทางโรงเรียนบันทึกไว้ โดยที่ผู้เรียนสามารถเข้าไปเรียนในเวลาที่ตนเองสะดวก ร้อยละ 29.8 เรียนสดผ่านวิดีโอ คอล ร้อยละ 18.4 เรียนสดผ่าน Google Classroom ร้อยละ 9.1 เรียนสดผ่าน Zoom และร้อยละ 5.3 เรียนสดผ่าน Microsoft Team ตามลำดับ
ตัวอย่างร้อยละ 34.5 มีเรียนการศึกษาทางไกล (DLTV) โดยร้อยละ 19.2 เรียนผ่านเว็บไซต์ www.dltv.ac.th รองลงมาร้อยละ 19.0 เรียนผ่านทีวีดิจิทัล ช่อง 37-51 ร้อยละ 11.5 เรียนผ่าน Mobile application dltv ร้อยละ 9.7 เรียนผ่าน Youtube และร้อยละ 4.1 ผ่านทีวีดาวเทียม Ku-Band และ C-Band ตามลำดับ
ตัวอย่างกว่าร้อยละ 75 รู้สึกเครียดจากการเรียนออนไลน์ สาเหตุที่ทำให้เครียด 3 อันดับแรก คือ 1) การเรียนออนไลน์ทำให้ความตั้งใจและสมาธิต่อการเรียนลดน้อยลง 2) ความไม่เข้าใจในเนื้อหาวิชาที่เรียน และ 3) วิชาบางวิชามีเนื้อหาที่ไม่เหมาะกับการเรียนการสอนออนไลน์
ตัวอย่างร้อยละ 75.1 รู้สึกเครียดจากการเรียนออนไลน์ในสถานการณ์ Covid-19 โดยสาเหตุที่ทำให้เครียด 3 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 52.8 การเรียนออนไลน์ทำให้ความตั้งใจและสมาธิต่อการเรียนลดน้อยลง รองลงมาร้อยละ 45.7 ความไม่เข้าใจในเนื้อหาวิชาที่เรียน และร้อยละ 31.4 วิชาบางวิชามีเนื้อหาที่ไม่เหมาะกับการเรียนการสอนออนไลน์ ในขณะที่สาเหตุที่ทำให้เครียดอื่นๆ พบว่า ร้อยละ 29.0 การมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.3 ความเร็วของสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่เพียงพอ และร้อยละ 22.6 เป็นภาระของผู้ปกครองในการดูแลการเรียนออนไลน์ของบุตรหลาน ตามลำดับ
การลดค่าเทอม และการให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นสิ่งที่ตัวอย่างต้องการได้รับความช่วยเหลือมากที่สุด
ความต้องการได้รับความช่วยเรียนจากการเรียนออนไลน์ พบว่า
ตัวอย่างร้อยละ 33.8 ต้องการให้ลดค่าเทอมมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท รองลงมาร้อยละ 32.1 การช่วยเหลือด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 25.1 การให้คำแนะนำในการเรียนออนไลน์ และร้อยละ 9.0 การสนับสนุนด้านเวลาจากที่ทำงาน ตามลำดับ
ปัญหาอุปสรรคที่พบจากการเรียนออนไลน์ พบว่ามีความสอดคล้องกับสาเหตุที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างเกิดความเครียด ซึ่งได้แก่ บุตรหลานไม่เข้าใจเนื้อหา ไม่มีสมาธิในการเรียนออนไลน์ ความตั้งใจและความสนใจลดน้อยลงเมื่อเทียบกับการเรียนในห้องเรียน รวมถึงการมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น การไม่มีอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ในการเรียน และการไม่มีเวลาดูแลบุตรหลาน เป็นต้น