เทรนด์ ‘ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ’ ขยับต่อเนื่อง 3 ปี รับไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย ปี 65


‘ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ’ ยังขยับขึ้นต่อเนื่อง 3 ปี เล็งโอกาสขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า วิเคราะห์ธุรกิจเนื้อหอมประจำเดือนมีนาคม 2564 พบน่าจับตา ‘ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ’ 3 ปี ที่ผ่านมาพุ่งมาแรงต่อเนื่อง ทั้งจำนวนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 62 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 50% การเพิ่มทุนในปี 64 เพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า และรายได้กับกำไรก็เติบโตไม่หยุดท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจนี้ไปต่อได้มาจากผู้ประกอบธุรกิจเห็นทิศทางที่สดใสรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต ประกอบกับรองรับกฎหมายคุมกิจการดูแลผู้สูงอายุที่เริ่มบังคับใช้ ส่งผลให้ต้องปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานมากขึ้น และยังมีโอกาสขยายไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการผู้สูงอายุได้อีกมากมาย

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า จากระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ประเทศไทยและทั่วโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาต้องชะลอตัวลง กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มีการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเข้มแข็งและเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเร่งออกมาตรการด้านต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของภาคธุรกิจ ประกอบกับใช้ข้อมูล Big data มาวิเคราะห์ทิศทางของธุรกิจในประเทศเพื่อจะได้ชี้นำทิศทางการและเข้าไปส่งเสริมธุรกิจได้อย่างตรงจุด

โดยเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมาพบว่า ‘ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ’ ถือเป็นธุรกิจที่น่าจับตาและยังสามารถขยายตัว สร้างรายได้ต่อเนื่องท่ามกลางวิกฤตที่รุนแรงในปัจจุบัน รวมถึงยังเป็นธุรกิจที่กรมฯ ได้ให้การส่งเสริม มาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

อธิบดี กล่าวต่อว่า “จากการวิเคราะห์ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ พบว่า ประเทศไทยมีธุรกิจดังกล่าวที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลจำนวน 493 ราย และมีมูลค่าทุนจดทะเบียน 1,615.93 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจ ในรูปแบบบริษัทจำกัด รองลงมาคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล

หากวิเคราะห์ย้อนหลังไป 3 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2563 จะพบว่า มีจำนวน ‘การจัดตั้งธุรกิจใหม่’ ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะปี 2562 มีจำนวน 113 ราย ซึ่งเติบโตกว่า 50% เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีจำนวน 76 ราย และในขณะที่ปี 2563 มีจำนวน 117 ราย ใกล้เคียงกับปี 2562 อย่างไรก็ดีในปี 2564 เพียงแค่ 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) ก็มีการจัดตั้งนิติบุคคลในธุรกิจนี้แล้วจำนวน 52 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 79.31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 และมี ‘การเพิ่มทุน’ จำนวน 19.40 ล้านบาท มากขึ้นถึง 8 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน

ทั้งนี้ ‘รายได้’ ของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุมีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยปี 2560 มีรายได้จำนวน 460.07 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้จำนวน 772.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน และปี 2562 มีรายได้ 1,008.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.60% และมี ‘ผลกำไร’ จำนวน 11.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 คิดเป็น 1.6 เท่า”

“สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเกิดการขยายตัวนอกจากการเติบโตของจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มากขึ้นซึ่งไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 2565 ยังเป็นผลมาจากการออกพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 มาตรา 3 (3) โดยเป็นกฎหมายคุมกิจการดูแลผู้สูงอายุ มีผลบังคับใช้เมื่อ 28 มกราคม 2564 ซึ่งผู้ประกอบกิจการรายใหม่ทุกรายจะต้องขออนุญาตก่อนเปิดกิจการ

รวมถึงผู้ประกอบการรายเดิมที่เปิดกิจการอยู่แล้วก็ต้องมายื่นขออนุญาตที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ดังนั้น การที่มีผู้ประกอบธุรกิจมาจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลมากขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของธุรกิจเข้าสู่มาตรฐานที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างจุดแข็งให้กับธุรกิจและผู้มาใช้บริการได้เกิดความไว้วางใจ

ทั้งนี้ นอกจากจะดำเนินธุรกิจดูแลผู้สูงอายุแล้ว ยังสามารถขยายโอกาสไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการผู้สูงอายุได้อีกด้วย อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ จะให้ได้ว่ายังมีโอกาสในธุรกิจกลุ่มนี้อีกมากหากผู้ประกอบธุรกิจสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว” อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย