สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ใหญ่ และยืดเยื้อกว่าเดิมที่เริ่มต้นอีกครั้งในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ยังคงเป็นความเปราะบางในทุก ๆ ด้านของประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจ ธุรกิจที่ขับเคลื่อนไปได้อย่างยากลำบาก ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ยังเป็นอุปสรรคที่ทั่วโลกต้องเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ครั้งนี้ และไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน หรือเมื่อไหร่
โดยเฉพาะธุรกิจรายย่อย สายป่านสั้น อาจจำเป็นต้องตัดใจหยุดไปต่อเพราะทนพิษรุมเร้าทั้งต้นทุน ค่าเช่าที่ ค่าใช้จ่ายรายวัน ลูกน้อง ค่าจ้างพนักงาน และอีกสารพันไม่ไหว พร้อมใจยกธงยอมแพ้ ติดป้ายประกาศเลิกกิจการกันแบบรายวัน
หากเราดูจากข้อมูลของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ได้วิเคราะห์ประเด็น “ความท้าทายจากการเลิกกิจการของธุรกิจเอสเอ็มอี” โดยระบุไว้อย่างน่าสนใจว่า
การปิดตัวลงของธุรกิจภายใต้ภาวะเศรษกิจที่ชะลอตัว เริ่มเห็นภาพมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SME ที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่สูง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ธุรกิจ SME ในปี 2563 ยังคงมีความเสี่ยงจากการเลิกกิจการไม่ต่างจาก ปีที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากประเด็นทางด้านภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่กดดันต่อเนื่องแล้ว ยังมีความท้าทาย จากปัจจัยพิเศษที่เพิ่มเติมเข้ามา อาทิ ปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงกว่าปี 2562 การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและกระแสรักษ์โลก
ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ เป็นความเสี่ยงต่อหลาย ๆ ธุรกิจให้เผชิญความยากลำบากมากขึ้น การปรับตัวที่สำคัญเพื่อช่วยให้ธุรกิจ SME มีศักยภาพในการแข่งขันในระยะข้างหน้า
นอกจากการปรับลดต้นทุนแล้ว ยังควรเพิ่มยอดขายไปยังทุกช่องทางเพื่อเข้าถึงลูกค้าเป้าหมาย ด้วยวิธีที่แตกต่าง จากเดิมหรือหลากหลายมากขึ้น ทั้งช่องทางหน้าร้าน รวมถึงช่องทางออนไลน์ที่เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมถึงตลาดต่างประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง
5 กลุ่มธุรกิจ “อ่วม” ไม่ได้อีก
นอกจากนี้ ในแต่ละปีมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่ถึงกว่า 6 หมื่นรายที่สนใจเข้าสู่ธุรกิจ ขณะเดียวกัน จากปัญหาและข้อจำกัดต่าง ๆ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประมาณ 2 หมื่นรายต้องปิดหรือเลิกกิจการ
เช่นเดียวกัน การปิดตัวลงของธุรกิจภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเริ่มเห็นภาพมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่สูง ซึ่งส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ใน 5 กลุ่มธุรกิจหลักได้แก่ ค้าปลีก ค้าส่ง ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่ส่วนใหญ่จะพึ่งพากำลังซื้อในประเทศค่อนข้างสูง
ข้อมูลดังกล่าว สอดคล้องกับตัวเลขล่าสุดของหน่วยงานสำคัญของการขับเคลื่อนภาคธุรกิจไทยอย่าง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่ล่าสุดมีรายงานสถิติการจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนเมษายน 2564
โดย นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยผลการจดทะเบียนธุรกิจตามประเทต่าง ๆ ดังนี้
ธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนเมษายน 2564
• จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่
มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศในเดือนเมษายน 2564 จำนวน 5,972 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 20,697.64 ล้านบาท
• ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด
3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 466 ราย คิดเป็น 8% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 283 ราย คิดเป็น 5% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจในภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 185 ราย คิดเป็น 3% ตามลำดับ
• ธุรกิจจัดตั้งใหม่แบ่งตามช่วงทุน
โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 4,477 ราย คิดเป็น 74.97% รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 1,379 ราย คิดเป็น 23.09% ลำดับถัดไป คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 105 ราย คิดเป็น 1.76% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 11 ราย คิดเป็น 0.18% ตามลำดับ
ด้าน ธุรกิจเลิกประกอบกิจการ
• จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ
มีจำนวน 612 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 5,162.68 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
• ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด
3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 54 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 42 ราย คิดเป็น 7% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 25 ราย คิดเป็น 4% ตามลำดับ
• ธุรกิจเลิกประกอบกิจการแบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศ มากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 399 ราย คิดเป็น 65.20% รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท จำนวน 169 ราย คิดเป็น 27.61% ลำดับถัดไป คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 36 ราย คิดเป็น 5.88% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 8 ราย คิดเป็น 1.31% ตามลำดับ
ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่
• ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 30 เม.ย. 64) ธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 795,160 ราย มูลค่าทุน 19.47 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 194,760 ราย คิดเป็น 24.49% บริษัทจำกัด จำนวน 599,109 ราย คิดเป็น 75.35% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,291 ราย คิดเป็น 0.16% ตามลำดับ
จากข้อมูลจะเห็นว่า อันดับของธุรกิจที่ครองตำแหน่งทั้งแชมป์เกิดใหม่ และเลิกกิจการ จะยังเกาะกลุ่มกัน ซึ่งคาดว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนการจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ในไตรมาสแรกของปี มาจากปัจจัยบวกด้านเศรษฐกิจที่มีสัญญาณฟื้นตัว โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมี.ค. 64 ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าหดตัวน้อยที่สุดในรอบ 13 เดือน รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการเห็นสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจมากขึ้น
ทางด้านการแถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2564 เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2564 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่ามีการทยอยปรับดีขึ้น หลังการแพร่ระบาดรอบสองของ COVID-19 คลี่คลายลง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นและแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ขณะเดียวกันการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำขยายตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ส่งผลให้เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่อง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง สะท้อนจากสัดส่วน ผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคมต่อผู้ประกันตนทั้งหมดที่ยังอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ดี เรื่องที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดขณะนี้และระยะยาวคือเรื่องของการแก้ปัญหาและเร่งเดินหน้าอาวุธกู้ภาคธุรกิจอย่าง วัคซีนโควิด-19 และบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการกระจายให้ถึงประชาชนอย่างทั่วถึงและเหมาะสม อย่างรวดเร็ว ลดความเสี่ยงของการระบาดเป็นวงกว้าง เพื่อจะได้นำมาสู่แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูความเสียหายจากผลกระทบต่าง ๆ และกลับเข้าสู่สภาวะปกติหลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มมีการคลี่คลายลงได้ในเร็ววัน
อ้างอิงข้อมูล :
– ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
– www.bot.or.th
– กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์