บ้านถนนใหญ่ วัฒนธรรมลาวพวน และแหล่งทำดินสองพองแห่งเดียวของไทย


บ้านถนนใหญ่ หมู่ 5 ต.ถนนใหญ่ อำเภอเมือง จ.ลพบุรี บางส่วนเป็นชาวลาวพวนที่อพยพจากประเทศลาว ครั้งเมื่อถูกกวาดต้อนในฐานะเชลยศึกจากเมืองพวน แขวงเชียงขวาง ประเทศลาว ครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเกิดกบฏจีนฮ่อที่หัวเมืองพวนชาวพวนที่อพยพมาที่จังหวัดลพบุรีจึงมากเป็นอันดับสอง รองจากปราจีนบุรี

ชาวพวน มีวัฒนธรรมประเพณีเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เครื่องแต่งกาย อาหารการกิน และยังคงประเพณีสืบทอดต่อมากว่า 100 ปีคือประเพณีกำฟ้า เป็นประเพณีสำคัญของชาวไทยพวน บ้านถนนใหญ่ คำว่า “กำ” ภาษาพวนแปลว่า การนับถือสักการะ “ฟ้า” หมายถึงเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน ผู้อยู่สูงเทียมฟ้า หรือเทวดา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น “กำฟ้า” หมายถึง การเคารพสักการะบูชาฟ้า ชาวไทยพวนมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับฟ้า ไม่กล้าทำให้ฟ้าพิโรธ เพราะกลัวฟ้าฝนจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล ในวันนี้ตอนเช้าจะมีการทำบุญตักบาตรด้วยข้าวหลามที่วัดถนนแค และทำบุญข้าวจี่ที่วัดถนนใหญ่ เป็นงานสารทใหญ่ประจำปี

วัดถนนใหญ่ สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2335 ในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 1 โดยการนำของครูบาสิงห์ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชน บ้านถนนใหญ่และวัดถนนใหญ่นี้ เป็นชาวไทยพวน วัดนี้เป็นวัดโบราณเก่าแก่ มีอายุ 220 ปี เป็นวัดสำคัญของชาวไทยพวน เพราะเมื่อคนไทยพวนที่อพยพมาก ก็จะมาสร้างเรือนกันอยู่บริเวณ ที่วัดถนนใหญ่มีพระอุปัชฌาย์ 3 ท่านคือ อุปัชฌาย์สิงห์ อุปัชฌาย์ขัน อุปัชฌาย์เกตุ

ไม่ไกลจากวัดถนนใหญ่ ที่บ้านป้าพะยอม บ้านหินสองกอง ต.ถนนใหญ่ คือแหล่งทำดินสองพองของจังหวัดลพบุรี ซึ่งลพบุรีเป็นพื้นที่ทำดินสอพองแห่งเดียวในประเทศไทย เรารู้จักดินสองพองใช้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์มากที่สุด

บ้านเลขที่ 1 อยู่ในซอยเล็ก ๆ ทางเดินลาดซีเมนต์ เดินสะดวกชมบรรยากาศชุมชนชาวไทยพวนเก่าแก่ ซึ่งบ้านชาวไทยพวนมีลักษณะเหมือนบ้านไทยภาคกลาง เป็นบ้านไม้ทั้งหลังชั้นเดียว ใต้ถุนบ้านสูง ขึ้นบันไดจะเป็นชานบ้านกว้างขวาง ห้องครัวจะอยู่ด้านในสุด หลังคาเป็นทรงจั่วมะนิลา

วัดถนนใหญ่ มีพื้นที่เป็นเนินสูง ภายในบริเวณวัดมีโบราณสถานเก่าแก่ เป็นโบสถ์โบราณที่มีลักษณะแปลกกว่าโบสถ์อื่นๆ คือโบสถ์มหาอุฒม์ เป็นโบสถ์ที่มีประตูเข้า-ออกทางเดียว สันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เหตุที่มีทางเข้าออกเพียงทางเดียว ในอดีตเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ไว้ทำพิธีกรรมในการลงของอาคมต่างๆ ที่ใช้ในการออกศึกสงคราม อุโบสถมีขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 15 เมตร สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2338 ก่ออิฐก้อนใหญ่ฉาบผนังด้วยปูน

ภายในมีภาพเขียนโบราณที่เป็นเรื่องชาดกตอนต่างๆ กับพระพุทธประวัติทั้งสี่ด้าน ซึ่งในรายละเอียดของภาพมีอิทธิพลจีนแทรกเข้ามา เช่น มีม้ามังกร ชายจีนไว้หางเปีย ที่หน้าบันของวิหารเป็นปูนปั้นรูปมังกร และประดับลายปูนปั้นชาดกตอนต่าง ๆ ที่ซุ้มประตูหน้าต่าง วิหาร โบสถ์และเสาหงส์ เป็นเครื่องแสดงบ่งบอกความเป็นมาในอดีตว่าคนจีนเคยเป็นช่างใหญ่ในพื้นที่นี้ ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปั้นศิลปะแบบลาว ขนาดหน้าตัก 2.5 เมตร

เมื่อมาถึงวัดถนนใหญ่ นักท่องเที่ยวมักมากราบไหว้ศาลหลวงยาย ที่ตำหนักแม่ประทุมมาเทวีด้วย เป็นศาลกลางบ้านที่คนในชุมชนให้ความเคารพนับถือกันมาก

วิถีชีวิตของหญิงไทยพวนในสมัยโบราณต้องทอผ้าเป็นถึงจะได้แต่งงานออกเรือนไปสร้างครอบครัวใหม่ ส่วนผู้ชายมีหน้าที่ในการสร้างกี่ทอผ้า เมื่อทอผ้าเสร็จเป็นผืนก็นำไปตัดเป็นเสื้อหรือผ้านุ่งใส่ออกไปทำนา และมักย้อมด้วยสีมะเกลือ (สีดำ) หรือสีมะโก (สีน้ำตาล) เมื่อไปทำนาเลอะเปรอะโคลน ส่วนผ้าทอมัดหมี่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นมรดกตกทอดสืบต่อกันมา

ที่ลานทอผ้า คุณป้าภิรมย์ คำดี อดีตกำนัน ได้เป็นผู้รณรงค์ฟื้นฟูกิจกรรมการทอผ้าอีกครั้ง จึงรวบรวมกี่ทอผ้าและกลุ่มชาวไทยพวน บ้านถนนใหญ่ มาทอผ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ และรวมกลุ่มแต่งตัวสไตล์ไทยพวน สวมเสื้อคอกระเช้าและนุ่งผ้าถุงมาทอผ้าขาวม้าบ้าง ทอผ้ามัดหมี่ ผ้าฝ้ายที่ใช้กี่กระตุก เป็นวิถีชุมชนที่ควรหาผู้สืบทอดต่อไป

ลานชุมชนบ้านไทยพวนเป็นศูนย์นักท่องเที่ยว ด้วยเปิดบ้านไทยพวนโบราณเป็นเจ้าบ้านต้อนรับด้วยไมตรี ผลิตภัณฑ์ชุมชนของชาวบ้านไทยพวน 3 เมนูขึ้นชื่อ ได้แก่ น้ำพริกเผาบ้านแค ซึ่งเป็นน้ำพริกเผารสกลมกล่อมไม่เผ็ดมาก เหมาะกับคลุกข้าวได้ทุกมื้อควรมีติดไว้ในครัวทุกวัน

ส่วนอาหารถิ่นที่ชวนให้ลิ้มลอง ได้แก่ แกงจานน้ำใส “จาน” ภาษาพวนหมายถึง “หน่อไม้ดอง”

ใช้หน่อไม้ดองจากธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะนำหน่อไม้ต้มให้สุกเพื่อล้างน้ำเหลืองก่อน แล้วจึงต้มน้ำด้วยพริกแกง พริกแกงตำเอง ใช้หอม กระเทียม พริกแห้ง และใส่เนื้อปลาสดหั่นชิ้น เพิ่มความหอมด้วยใบแมงลัก

แจ่วโค้น เป็นเครื่องจิ้มทานกับสารพัดผักสดอร่อยแซบ ครบเครื่องเรื่องสมุนไพรไทย ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริกแห้ง มะเขือเทศหอม กระเทียม คลุกเคล้าเข้าปลาดุกย่างเนื้อหอมฟูเหลือง ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า

แกงเส้นร้อน แกงกะทิปลาดุกใส่วุ้นเส้น หอมชวนรับประทาน กะทิคั้นสด และเครื่องแกงตำเอง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริกแห้ง กระชาย ใส่เนื้อปลาดุกก่อนปรุงรส เติมวุ้นเส้นเป็นอันดับสุดท้ายเส้นจะได้พอง พร้อมรับประทานตอนร้อน ๆ

หลามมะเขือ สำรับอาหารพื้นบ้านไทยพวน หมายถึงต้มที่มีน้ำน้อย ซึ่งใช้มะเขือเปาะเป็นหลัก ความหอมของเมนูนี้คือน้ำปลาร้า โขลกกระเทียม พริกแห้ง หอมแดง นำมะเขือต้มสุกโขลกรวมกันอีกรอบ ปรุงรสเติม ใบแมงลัก

ปัจจุบันการนำดินสอพองมาใช้ในเรื่องการบำรุงผิวพรรณ เป็นส่วนผสมในการทำสปาตัวสูตรต่างๆ ซึ่งมีสรรพคุณ ช่วยขจัดสิวเสี้ยน ปรับสภาพผิวหน้าให้ดีขึ้น เมื่อนำมาผสมกับสมุนไพร เช่นขมิ้นและมะขามเปียก ขัดหน้าขัดผิวจะช่วยให้ผิวพรรณสดใสสวยงาม หรือใช้ดินสอพองผสมขมิ้น ลิ้นทะเล และพิมเสน ใช้ลอกฝ้าได้อีกด้วย

การทำดินสอพองในแต่ละครั้งจะต้องกรองเอาเศษกรวด หรือสิ่งเจือปนออกให้หมด เพื่อที่จะได้เนื้อดินที่ปราศจากสิ่งเจือปน และต้องอาศัยความร้อนจากแสงแดดในการตากแห้ง การหยอดดินสอพองจึงจะหยอดในวันที่มีแสงแดด เพราะจะช่วยให้ดินสอพองแห้งเร็ว หากนำไปเป็นส่วนผสมสำหรับเครื่องบำรุงผิวจะต้องผ่านกระบวนอบฆ่าเชื้อสะตุก่อน

โดยตามตำนานของลพบุรี เล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อครั้งที่พระรามปราบทศกัณฐ์ได้สำเร็จ พระองค์จึงคิดปูนบำเหน็จให้กับหนุมาน ซึ่งเป็นทหารเอก โดยการแผลงศรออกไปและถ้าศรตกลงที่ใดบริเวณนั้นก็จะเป็นของหนุมาน ศรของพระรามเป็นศรศักดิ์สิทธิ์ เมื่อแผลงมาตกบริเวณทะเลชุบศร ก็ทำให้แผ่นดินลุกเป็นไฟ
หนุมานจึงใช้หางกวาดเปลวไฟให้ดับ ดินบริเวณที่ถูกไฟจึงสุกกลายเป็นสีขาว คือดินที่ใช้ทำดินสอพองจวบจนทุกวันนี้ ซึ่งเป็นดินสีขาว หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ดินมาร์ล” มีการสืบค้นเรื่องประวัติการใช้ดินสอพอง ซึ่งใช้เป็นยาสมุนไพรตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งพิสูจน์ได้ในตำรา “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” กล่าวถึงการใช้ดินสอพองดังนี้ “ให้เอาชานอ้อย กำยาน แก่นคูน กรักขีถาก รมหม้อใหม่ใส่น้ำไว้ จึงเอาดินสอพองเผาให้สุก ใส่ลงในหม้อน้ำนั้นให้คนไข้กินเนือง ๆ แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ” บ้านป้าพะยอม โทร. 098 3691706