“คาเฟ่ อเมซอน” แบรนด์กาแฟไทยที่ได้ครองส่วนแบ่งตลาดมากสุดใน กัมพูชา


หากใครมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนเพื่อนบ้าน หนึ่งในสมาชิกกลุ่มประเทศเออีซีอย่างกัมพูชา หรือกรุงพนมเปญ สิ่งหนึ่งที่คุณจะพบเห็น นั่นค่ือ บรรยากาศ 2 ข้างทางที่มีร้านกาแฟเรียงรายอยู่เต็มไปหมด โดยมีการคาดว่านับเฉพาะในกรุงพนมเปญ น่าจะมีร้านกาแฟไม่ต่ำกว่า 300-400 แห่ง และ ทั่วประเทศมากกว่า 500 แห่ง

กาแฟ และร้านกาแฟ กลายเป็นดัชนีชี้วัดความเป็นอยู่ ทั้งสภาพเศรษฐกิจและไลฟ์สไตล์ของผู้คน โดยเฉพาะในกรุงพนมเปญซึ่งเป็นเมืองหลวง มีร้านกาแฟสารพัดยี่ห้อ หลากหลายแบรนด์ตกแต่งอย่างสวยงาม ทั้งร้านที่เป็นแบรนด์มาจากต่างประเทศ และร้านของนักธุรกิจท้องถิ่น

สัญญาณอย่างหนึ่งคือ การมาของแบรนด์ดังอย่าง “สตาร์บัคส์”ที่เริ่มมาเปิดสาขาที่กรุงพนมเปญ เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า เมื่อไปเปิดที่ไหน แสดงว่าที่นั่นเริ่มมีผู้คนที่เป็นชนชั้นกลางจำนวนมากขึ้น ส่วนดัชนีอีกตัวที่ยืนยันว่า วิถีชีวิตของชาวกัมพูชากำลังเปลี่ยนไปก็คือ การเปิดสาขาของ “บราวน์คาเฟ่แอนด์เบเกอรี่ “ร้านกาแฟยอดนิยมของชาวกัมพูชา ซึ่งเป็นกิจการของนักลงทุนท้องถิ่น ที่ตกแต่งแบบอินเตอร์และมีผู้มาใช้บริการเนืองแน่นจนแทบไม่มีที่นั่ง โดยปัจจุบันมีสาขาถึง 20 กว่าแห่ง

 

 

ธุรกิจ ร้านกาแฟในกัมพูชามีการลงทุนหลายรูปแบบ นักลงทุนหลายรายลงทุนซื้อธุรกิจแฟรนไชส์จากต่างประเทศ และมีบางรายที่เลือกสร้างแบรนด์ร้านกาแฟตัวเองขึ้นมา ปัจจุบัน มีร้านกาแฟไทยไปดำเนินธุรกิจในกัมพูชาแล้วกว่า 10 แบรนด์ อาทิ อเมซอน, คอฟฟี่ ทูเดย์, อินทนิน, ชาพะยอม, ชาตรามือ และ Arabitia เป็นต้น ซึ่งแต่ละแบรนด์มีกลยุทธ์ในการทำตลาดที่ต่างกันออกไป เช่น การขายแฟรนไชส์เต็มรูปแบบ หรือ ขายวัตถุดิบ เป็นต้น

ทราบหรือไม่ว่า ร้านกาแฟแบรนด์ไทย มีส่วนแบ่งตลาดร้านกาแฟในกัมพูชาเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน 45% แต่ที่น่าภูมิใจที่สุด คือ แบรนด์ “อเมซอน” ร้านกาแฟในกลุ่ม ปตท.ของไทย ยังคงเป็นที่นิยมมากที่สุดเมื่อเทียบกับแบรนด์ร้านกาแฟข้ามชาติที่อยู่ในกัมพูชา โดยอเมซอนขยายสาขาไปแล้ว 104 สาขา ตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ 12 สาขา (ข้อมูล ณ ส.ค. 2561) และภายใน 5 ปี มีแผนจะขยายเพิ่มอีก 20 สาขามีทั้งเปิดในห้างสรรพสินค้า เปิดเป็นร้าน แบบ สแตน อะโลน รวมถึงในปั๊มปตท.ที่ไปเปิดสถานีบริการน้ำมันที่นั่น ว่ากันว่าสั่งกาแฟอเมซอนแล้วต้องเข้าคิวกันนานมากกว่าจะได้กิน แต่คนก็ยังนิยม โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานออฟฟิศทั้งหลาย

 

 

อดีตผู้บริหารปตท.เคยเล่าว่ารายได้กาแฟ คาเฟ่ อเมซอน ที่กรุงพนมเปญมียอดขายดีเป็นอันดับหนึ่ง ดีกว่าทุกสาขาทั้งในไทยและต่างประเทศอันดับ 2 ก็ยังคงเป็นแบรนด์ไทย คือ คอฟฟี่ ทูเดย์ ที่มีสาขาราว ๆ 50 สาขา ต้องบอกว่าสินค้าไทยมีภาพลักษณ์ที่ดี คุณภาพ ในสายตาของคนกัมพูชาเป็นอย่างมาก

หนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้อเมซอนสามารถขยายสาขาและครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในกัมพูชา น่าจะมาจากราคาที่ถูกและปริมาณมากกว่าคู่แข่ง เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษาหรือวัยเพิ่งเริ่มทำงาน ทำเลที่ตั้งที่สะดวก ใช้กลยุทธ์การบริการแบบ Take away มากกว่าการนั่งดื่มในร้าน แตกต่างจากกาแฟแบรนด์ดังอื่น เช่น สตาร์บัคส์ และบราวน์ คอฟฟี่ ที่เน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง รวมถึงนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวต่างชาติ การตกแต่งร้านจะเน้นมานั่งพักผ่อน พบปะสังสรรค์ และนั่งทำงาน

 

ภาพจาก : www.browncoffee.com.kh

 ภาพจาก : www.browncoffee.com.kh

บริษัท อเมซอนได้มอบสิทธิในการขายแฟรนไชส์คาเฟ่อเมซอนทั้งหมดในกัมพูชาให้บริษัท ปตท.(กัมพูชา) เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการเพื่อขยายตลาดดังกล่าว การมอบสิทธิในการขายแฟรนไชส์นี้ จะเป็นต้นแบบการดำเนินธุรกิจค้าปลีกอย่างเต็มรูปแบบในต่างประเทศของกลุ่ม ปตท.

ส่วนแบรนด์ท้องถิ่นจะเป็นร้านเล็กร้านน้อย เป็นบูธกาแฟ แต่ถ้าพูดถึงแบรนด์ที่เป็นเชนก็จะมี 2 รายคือ บราวน์ คาเฟ่ฯ ทำร้านอินเตอร์แต่เติมอัธยาศัย น้ำใจไมตรีแบบคนท้องถิ่น เช่นมีบริการมาเสิร์ฟ พูดคุยให้คำแนะนำเรื่องเมนูด้วยภาษาท้องถิ่น ต่างจาก “สตาร์บัคส์” ที่วางระบบแบบเครื่องจักร ซึ่งคนท้องถิ่นอาจจะยังไม่คุ้นเคย สตาร์บัคส์” ถึงมองว่า “บราวน์คาเฟ่แอนด์เบเกอรี่” เป็นคู่แข่งรายสำคัญ

นอกจากนี้ยังมี พาร์ค คาเฟ่ ที่เป็นของนักธุรกิจท้องถิ่น ทั้งสองรายเป็นของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของกัมพูชามีสาขาทั้งประเทศประเทศ รวมกันน่าจะมีประมาณ 30-40 สาขาขนาดสตาร์ บัคส์ แบรนด์ดังระดับโลกมีแค่สิบกว่าสาขาเท่านั้น
อย่างไรก็ตามทำให้ธุรกิจร้านกาแฟทั้งแบรนด์ท้องถิ่นและต่างประเทศโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่มากขึ้นทุกวัน ทำให้มีการแข่งขันสูงจนมีสัญญาณว่าธุรกิจร้านกาแฟในกัมพูชา โดยเฉพาะในพนมเปญอาจอยู่ในภาวะล้นตลาด จนทำให้มีแบรนด์ใหญ่บางรายเริ่มมีการปิดสาขาบางแห่งแม้จะเป็นโอกาสของแบรนด์กาแฟไทยก็ตาม แต่ควรลงทุนรอบคอบ

จากอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชา GDP โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับ 6-7% ต่อเนื่องกันมาหลายปีรวมถึงกระแสนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หลั่งไหลเข้าไปในกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น คนรุ่นใหม่ คนวัยทำงานในพื้นที่และชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ที่นี่นิยมดื่มกาแฟมากขึ้น ช่องว่างการตลาดนี้ จึงส่งผลให้ธุรกิจร้านกาแฟแบรนด์ดังจากต่างประเทศและจากไทยพากันหลั่งไหลเข้าไปขยายธุรกิจกันอย่างคึกคัก 

 

Source : Bangkok Bank SME