คำถามยอดฮิตที่ยังคงติดในใจหลาย ๆ คน นอกจาก “เราติดหรือยัง?” ยังมีความสงสัยมากมายเกี่ยวกับประเด็นถกเถียงกันว่า หน้ากากแบบไหน ป้องกัน Covid-19 ได้หรือไม่?
โดย Mahidol Channel ได้เผยแพร่คลิปที่น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากขณะนี้ เกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโรค Covid-19 ที่ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวในการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อไวรัส หน้ากากอนามัยจึงถือเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ประชาชนเลือกใช้ในการป้องกันตัวเอง
เพราะฉะนั้นการเลือกใช้วัสดุอื่นสามารถจะนำมาทดแทนหน้ากากอนามัยได้หรือไม่? ไปฟัง ผศ.ดร.ภก.จตุรงค์ ประเทืองเดชกุล หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล มีคำตอบมาฝากกัน
1. “หน้ากากผ้า” ป้องกัน Covid-19 ได้หรือไม่?
ข่าวที่บอกว่า เราสามารถใช้หน้ากากผ้า ทดแทนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ได้ คำตอบคือ ไม่สามารถใช้ทดแทนกันได้ บุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องทำงานกับผู้ป่วย หรือประชาชนที่ต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หน้ากากผ้าไม่สามารถจะใช้ในการป้องกันการติดเชื้อของโรค ป้องกัน Covid-19 ได้ ทั้งนี้เพราะวัสดุที่ใช้ในการทำหน้ากากอนามัยนั้น มีความแตกต่าง ทั้งวัสดุและคุณสมบัติของวัสดุเมื่อเปรียบเทียบกับหน้ากากผ้าเนื่องจาก
หน้ากากอนามัยทางการแพทย์นั้นโดยทั่วไป จะประกอบด้วยวัสดุที่จะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ฉะนั้นโดยทั่วไปแล้ว หน้ากากทางการแพทย์ถึงจะสามารถใช้ป้องกันและดูดซับละอองฝอยขนาดใหญ่จากผู้ป่วยได้
2. “หน้ากากทิชชู่” ป้องกัน Covid-19 ได้หรือไม่?
ข่าวที่มีการแชร์กันคือ บอกต่อกันว่าการนำกระดาษทิชชู่มาทำเป็นหน้ากากป้องกัน Covid-19 ได้ คำตอบคือ ไม่จริงเป็นอย่างยิ่ง เพราะคุณสมบัติของกระดาษทิชชูไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนหน้ากากอนามัยได้ ทิชชู่ มีคุณสมบัติเพียงช่วยในการดูดซับความชื้น และเมื่อมันสัมผัสกับความชื้นก็จะทำให้กระดาษเกิดความยุ่ยและขาดได้ง่าย
3. “หน้ากากจาก ทิชชู่เปียก” ป้องกัน Covid-19 ได้หรือไม่?
ตอบว่า ไม่สามารถใช้หน้ากากจากทิชชู่เปียกมาทดแทนหน้ากากอนามัยได้ คุณสมบัติของทิชชูเปียกประกอบด้วยทิชชู่และสารให้ความชุ่มชื้นที่เคลือบอยู่บนผิวของทิชชู่เปียก โดยทั่วไปเราต้องการให้วัสดุนั้นเกิดการดูดซับละอองฝอย แต่หากวัสดุนั้น ๆ มีความชุ่มชื้นอยู่แล้ว มันจะสูญเสียคุณสมบัติในการดูดซับละอองฝอย นอกเหนือจากนั้นทิชชูเปียกบางชนิดมีการเติมสารต้านแบคทีเรีย
สิ่งที่ต้องจำให้ดี คือ สิ่งที่มีสารต้านแบคทีเรียนั้นไม่สามารถต้านไวรัสได้ หากมีการสัมผัสบริเวณปาก หรือจมูก อาจทำให้ผู้ใช้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองได้
ดังนั้น สำหรับประชาชนทั่วไปที่เกิดความกังวลอยู่ ถ้าท่านไม่ได้มีโอกาสเสี่ยงใด ๆ การใช้หน้ากากผ้าถือว่าเพียงพอแล้วในการลดโอกาสที่จะไปสัมผัสละอองฝอยขนาดใหญ่
นอกจากนี้ สิ่งที่เราต้องระมัดระวังก็คือ หน้ากากผ้า คือเมื่อใช้แล้วรู้สึกว่ามีความชื้น ควรเปลี่ยนหน้ากากใหม่ และในกรณีที่ต้องการใช้ซ้ำหลังจากถอดออกแล้ว ควรจะเก็บในถุงพลาสติกเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้หน้ากากผ้าที่ถูกใช้แล้ว
เกิดการปนเปื้อนกับสิ่งอื่น ๆ ก่อนการใช้ซ้ำ ต้องซักและตากแดดให้แห้ง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดนั่นคือ “มือ” ของเรา ถ้าเราหมั่นทำความสะอาดโดยการล้างมือเป็นประจำด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ลดการปนเปื้อนของเชื้อที่บริเวณมือของเราก็จะช่วยป้องกันการติดเชื้อจากโรคโควิด-19 ได้
ขอบคุณที่มาคลิป และข้อมูลจาก : Mahidol Channel
โดย ผศ.ดร.ภก.จตุรงค์ ประเทืองเดชกุล หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล