ไม่มีอารมณ์เที่ยว! ธุรกิจญี่ปุ่นอ่วม ไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ทำคนไม่เดินทาง ไม่ซื้อของ


เป็นปีที่สองติดต่อกันที่เทศกาลวันหยุด Golden Week ของญี่ปุ่น ต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวเผชิญกับข้อจำกัดที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ

ญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีระยะเวลาอย่างน้อย 17 วัน ซึ่งจะไปสิ้นสุดวันที่ 11 พฤษภาคม อย่างไรก็ตาม การประกาศในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจที่คาดหวังจะฟื้นตัวกลับมาในช่วงเทศกาล Golden Week จากการจับจ่ายเงินของผู้บริโภค เนื่องจากพบข้อจำกัดมากมายที่ทำให้ไม่สามารถนำดำเนินงานได้อย่างเต็มที่

สำหรับเมืองที่ถูกประกาศภาวะฉุกเฉินมี 4 เมือง ได้แก่ โตเกียว, โอซาก้า, เฮียวกะ และเกียวโต ซึ่งเป็นเมืองที่สำคัญของญี่ปุ่นมีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก รวมเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยว แต่ที่ผ่านมา ความต้องการเดินทางท่องเที่ยวของเมืองดังกล่าวมีอัตราลดลงจนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว

หลังจากการประกาศภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้น Yuriko Koike ผู้ว่าการกรุงโตเกียว เรียกร้องให้ประชาชนเคารพกับมาตรการที่ออกมา และขอความร่วมมือประชาชนที่อยู่นอกเมืองงดการเดินทางเข้ามายังเมืองหลวงให้น้อยที่สุด

“เราเรียกร้องคนโตเกียวอีกครั้ง ขอให้อยู่บ้าน ยกเลิกหรือเลื่อนแผนการเดินทาง” Koike กล่าว

สอดคล้องกับการสำรวจของ JTB Corp เอเจนซี่ด้านการท่องเที่ยวที่ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นไม่มีอารมณ์ที่จะออกเดินทาง โดยการสำรวจดังกล่าวทำเก็บผลสำรวจผ่านออนไลน์ ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 200 คน ระหว่างวันที่ 9-14 เม.ย. พบว่ามีเพียง 10.3% ที่จะเดินทาง หรือเป็นไปได้ที่จะเดินทางในช่วงเทศกาล Golden Week ต่างจากผลสำรวจเมื่อปี 2018 และ 2019 ที่คนออกเดินทางคิดเป็น 25.2% และ 26.3% ตามลำดับ

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้คนเดินทางลดลงมาจากการประกาศภาวะฉุกเฉินในญี่ปุ่น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นข่าวร้ายสำหรับร้านค้าที่ได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ ทั้งที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าที่ต้องถูกปิด เพื่อควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายของผู้คน

ด้าน Isetan Mitsukoshi Holdings ประกาศยืนยันว่ายังคงเปิดให้บริการแผนกอาหาร, เครื่องสำอาง และบริการอื่น ๆ ใน 4 สาขาของกรุงโตเกียว ส่วนแผนกอื่น ๆ จะปิดให้บริการทั้งหมด

แม้ว่าร้านค้าจะถูกสั่งปิด แต่รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีมาตรการเยียวยาให้กับผู้ประกอบการ โดยขยายความช่วยเหลือทางด้านการเงินกับผู้ประกอบการ และห้างสรรพสินค้า แต่คาดการณ์ว่าอาจจะไม่เพียงพอเมื่อเปรียบเทียบกับยอดขาย และต้นทุนที่เสียไป

ที่มา: japantimes