การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2019 ส่งผลให้การประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เวทีที่จะกำหนดชะตาสิ่งแวดล้อมโลก ต้องเลือนออกไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2564 แต่เรื่อง “โลกร้อน” ก็ยังเป็นหัวข้อสำคัญ ที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างหยิบยกมา เพื่อเร่งดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ตามเงื่อนไขของความตกลงปารีส เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤต Climate Change ในอนาคต
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ภายใต้กติกา และบริบทใหม่ของสังคมโลก ธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และผลักดันให้เกิดโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า Sustainable Supply Chain หรือ ห่วงโซ่อุปทานที่มีความยั่งยืน ที่เร่งเร้าให้ผู้ซัพพลายวัตถุดิบ ผู้ผลิต และผู้ขนส่ง ต่างต้องร่วมมือกัน เพื่อยกระดับกระบวนการผลิต ที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน โดยมีผู้บริโภค หรือ “ลูกค้า” เป็นแรงผลักดัน
สำหรับบริบทของประเทศไทย รัฐบาลได้ประกาศขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ BCG Model หรือ การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio Circular Green Economy) ซึ่งสอดรับกับการเป็นไปของโลก ที่ต้องการความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นกลไกที่จะพาไทยไปสู่เป้าหมายของการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ที่ผ่านมาบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ได้เริ่มให้ความสำคัญกับ BCG มา 3-4 ปี เช่น กลุ่มบริษัท SCG หรือ ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ร่วมกับพันธมิตรคู่ค้าในการขับเคลื่อน BCG โมเดลมาตลอด
ตามรอยแม่จันโมเดล ชีวมวลรักษ์โลก
ตัวอย่าง กรณีบริษัท ทีพีเอ็น กรีน อินโนเวชั่น จำกัด เป็นหนึ่งในพันธมิตรของ SCG ที่ทำการขับเคลื่อน BCG โดยการนำวัสดุเหลือทิ้งจากภาคเกษตร มาสับย่อย ลดความชื้น และอัดก้อน เป็นเชื้อเพลิงทดแทนจากฟอสซิล ซึ่งเรียกว่า เชื้อเพลิงชีวมวล หรือ Biomass Fuel
คุณณัฏฐพล พฤกษ์สถาพร กรรมการผู้จัดการบริษัท ทีพีเอ็น กรีน อินโนเวชั่น จำกัด โรงงานผลิตเชื้อชีวมวลอัดก้อน (Briquette) และอัดแท่ง (Pellet) กล่าวว่า บริษัทได้เข้าร่วมในโครงการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่การเกษตร เพื่อช่วยแก้ปัญหาการเผาวัสดุเหลือทิ้งจากภาคเกษตร ซึ่งเป็นต้นกำเนิด PM 2.5 อย่างยั่งยืนร่วมกับ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี
บริษัททำหน้าที่ประสานกับกลุ่มเกษตรกร และเกษตรแปลงใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อรวบรวมและรับซื้อวัสดุเหลือทิ้งจากภาคเกษตร นำร่องที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย อาทิ ฟางข้าว ใบอ้อย เหง้ามันสำปะหลัง เป็นต้น โดยทางบริษัทนำวัสดุที่ได้มาผ่านกระบวนการผลิตเป็นชีวมวลอัดก้อน ส่งให้กับ SCG ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตต่อไป
อนาคตชีวมวลยังเติบโตต่อเนื่อง
สำหรับมูลค่าตลาดเชื้อเพลิงชีวมวลในประเทศปัจจุบันราว 3 หมื่นล้านบาท ถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เพราะในอนาคตนวัตกรรมและเทคโนโลยีเรื่องนี้ ยังพัฒนาได้อีกมาก ตลาดก็น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกตามลำดับ
เมื่อทั่วโลกตระหนักเรื่องมลภาวะ จึงมีมาตรการในการผลักดันในอุตสาหกรรมหันมาให้ความสำคัญต่อการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อโลก รวมถึงข้อบังคับต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้ความต้องการใช้พลังงานทดแทนคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5% รวมทั้งความต้องการเชื้อเพลิงชีวมวลที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของภาครัฐ อาทิ การผลักดันโรงไฟฟ้าชีวมวลในภูมิภาค
ถึงตรงนี้ลองนึกภาพว่าหากทั้งประเทศหรือทั้งโลก ที่อุตสาหกรรมหันมาใช้เชื้อเพลิงชีวมวลซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 10 ธุรกิจนี้จะโตอีกแค่ไหน