เทคนิคการปรับสภาพจิตใจในช่วงโควิด


วันนี้เราจะพามารู้จักกับวิธีการรับมือกับความเครียด เพราะในสถานการณ์ปัจจุบัน มีความเสี่ยงเป็นอย่างมากที่จะทำให้เราเกิดภาวะเครียดจากการไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีเตียงรักษา กลัวจะติดโรค กลัวธุรกิจต้องถูกปิดตัว และรวมไปถึงปัญหาอีกร้อยแปดพันอย่างที่แต่ละคนต่างก็ได้ประสบพบเจอในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป จนในที่สุดอาจจะทำให้เราเกิดการตัดสินใจผิดพลาดขึ้นได้

.

ซึ่งในวันนี้เรามีคำแนะนำจากกรมสุขภาพจิตที่ได้ให้แนวทางการดูแลจิตใจของประชาชน เพื่อไม่ให้บอบช้ำจากเหตุการณ์ที่พบเจอในแต่ละวัน เพราะหากเราเห็นตามหน้าข่าวในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา จะพบว่ามีข่าวของผู้คนที่ต้องจบชีวิตตัวเองเพราะปัญหาที่ส่งผลมาจากพิษโควิด การมีวิธีรับมือกับจิตใจของตัวเองจึงมีผลเป็นอย่างมากในช่วงเวลาแบบนี้

 

  • ทุกครั้งที่มีความรู้สึกแย่ๆเกิดขึ้น ต้องรู้สึกตัวให้รู้ว่าวันนี้รู้สึกไม่ดี ลองใช้เวลาสักวันละ 5 นาที สำรวจ ทบทวนความคิดความรู้สึก หรือการตอบสนองทางร่างกาย หรือถ้าไม่แน่ใจลองถามคนรอบข้างและคนใกล้ชิดได้

 

  • เมื่อรับรู้ถึงความรู้สึกลบ ไม่ต้องพยายามปรับให้เป็นบวก หลักสำคัญคือ การอยู่บนพื้นฐานความจริง อยู่แบบกลางๆ (Neutral) แต่ละวันข่าวร้ายก็มีข่าวดีก็มีมาก เมื่อรู้สึกแล้วก็แค่รับรู้ว่ามันเป็นความรู้สึก ไม่ต้องไปหงุดหงิด ผิดหวังในตัวเองว่าทำไมต้องเครียดขนาดนี้ การกดดันตัวเองเรียกว่า Worry About Worry คือเกิดความรู้สึกไม่ดีขึ้นโดยธรรมชาติแล้วยังไปรู้สึกชอบใจหรือไม่ชอบใจกับความคิดหรือความรู้สึกนั้น ๆ ทำให้เสียพลังงานถึงสองต่อ

 

  • ยอมรับว่าความผิดพลาด ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่อาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เราต้องยอมรับว่า แม้เราพยายามอย่างเต็มที่ก็ยังอาจเกิดข้อผิดพลาด สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ใช่ความผิดของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่เวลาที่จะมาตำหนิตัวเอง หรือสำรวจว่าใครบกพร่อง ณ เวลานี้ทุกคนต้องการกำลังใจ แม้ผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร เราจะไม่เสียดาย เพราะเราตระหนักว่าในสถานการณ์ที่ข้อจำกัดต่างๆมีมากมาย เราได้พยายามอย่างดีที่สุดแล้ว

 

  • Mindfulness  ช้าลงช่วยให้เร็วขึ้น เหตุการณ์นี้ยังคงจะดำเนินไปอีกสักระยะใหญ่ เมื่อรู้ว่าจะต้องรับมือกับความเครียดระยะยาว เราต้องประคับประคองไปเรื่อยๆ ใช้ชีวิตให้ช้าลงสักนิด ลองฝึกที่จะจดจ่ออยู่กับวินาทีที่เป็นปัจจุบัน นั่นคือช่วงที่ Mind ได้รับการบำบัด Take A Break หยุดทั้งความคิดลบและบวก ทั้งความรู้สึกดี ความรู้สึกแย่ก็ไม่เกิด เทคนิคนี้เรียกว่า Mindfulness ฝึกให้ได้วันละนิดเมื่อนึกได้ เมื่อ Mind ได้พักเติมพลังเป็นระยะๆจะมีเรี่ยวแรงออกไปสู้รบกับสถานการณ์ยากๆได้ใหม่ เสมือนเป็นการเก็บกวาดขยะความคิด ความรู้สึกออกเป็นพักๆ จะได้มีที่ไว้รองรับความคิดแย่ๆ ความรู้สึกลบๆที่จะกลับมาใหม่ทุกๆวัน

 

  • Sharing is Caring คงความสัมพันธ์ไว้ให้มั่น แม้จะห่างกายตามนโยบาย Social Distancing แต่ไม่จำเป็นต้องห่างกัน สามารถโทรคุยกันหรือจะ Vdo Call ให้เห็นหน้ากันบ้าง พยายามอย่าคุยกันเรื่องโควิด-19 การที่เราต่างคนต่างมีความทุกข์ วิตกกังวล และได้มีพื้นที่ที่สามารถระบายออกมาได้บ้าง และยังได้รับการตอบสนองในลักษณะที่ทำให้เรารับรู้ได้ว่าเขาก็ลำบากเหมือนกัน

 

  • การแลกเปลี่ยนแบ่งปัน (Sharing) ถือได้ว่าเป็นอาวุธอันสำคัญ การพูดจาโต้ตอบอย่างเข้าอกเข้าใจและเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน แม้จะไม่รู้จักกันเป็นการเยียวยา ช่วยให้มีความหวังและเกิดกำลังใจที่จะเดินหน้าร่วมสู้ไปด้วยกัน พลังของการพูด การหัวเราะ การให้กำลังใจเป็นยาสำคัญที่ทุกคนต้องการอย่างมากที่สุด

 

ที่มา : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณะสุข