ทำความรู้จัก เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในชื่อ เอปซิลอน (Epsilon) ภายหลังเกิดการระบาดในปากีสถาน พร้อมคำเตือนของหมอธีระวัฒน์


ภายหลังจากที่มีการเตือนจาก นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมาไม่นาน ชื่อของ โควิด-19 สายพันธุ์เอปซิลอน ก็กลายเป็นที่พูดถึงกันอย่างแพร่หลายในทันที

ซึ่งต้นตอของการออกมาเตือนนี้ สืบเนื่องมาจากการออกมาเตือนของนาย ซาราห์ อัสลาม เลขาธิการสำนักงานสุขภาพขั้นปฐมภูมิและทุติยภูมิแห่งแคว้นปัญจาบ ของปากีสถาน ซึ่งได้ออกคำเตือนเมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ตัวกลายพันธุ์ เอปซิลอน จำนวน 5 คนในเมืองลาฮอร์ จากการเก็บตัวอย่างจากเคสผู้ต้องสงสัยจำนวน 23 คนในเมืองลาฮอร์

โดยมีผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ในประเทศได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า สายพันธุ์เอปซิลอนนั้นอาจจะมีขีดความสามารถในการต่อต้านวัคซีนสูง และอาจทำให้ประชาชนที่ฉีดวัคซีนแล้วสามารถติดเชื้อโควิดได้อีกครั้ง ประกอบกับอัตราการแพร่เชื้อนั้นสามารถกระจายได้ง่าย ใกล้เคียงกับสายพันธุ์เดลตา ที่เป็นสายพันธุ์หลักในการระบาดที่ปากีสถานอยู่ตอนนี้

.

.

โควิดสายพันธุ์เอปซิลอน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการว่า B.1.427 และ B.1.429 พบครั้งแรกในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในเดือน มีนาคม 2020 ซึ่งขณะนั้นมักเรียกกันในชื่อ สายพันธุ์แคลิฟอร์เนีย จนต่อมาเมื่อองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศวิธีเรียกชื่อสายพันธุ์ใหม่ จึงได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า เอปซิลอน (Epsilon)

มีผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า อัตราการแพร่ระบาด เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ปกติ สูงขึ้น 18.6-24.2% ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ก็ระบุว่า มีความสามารถในการแพร่ระบาดสูงกว่าสายพันธุ์ปกติประมาณ 20% เช่นกัน ซึ่งมีการกลายพันธุ์ที่น่ากังวลอยู่ใน 5 ตำแหน่ง คือ I4205V และ D1183Y ในยีน ORF1ab และ S13I, W152C, L452R ในยีน S ของโปรตีนหนาม

เมื่อต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา มีการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันซึ่งได้รับการตีพิมพ์ ระบุว่า การกลายพันธุ์ 3 ตำแหน่งในโปรตีนหนาม S13I, W152C, L452R ของโควิด-19 เอปซิลอน สามารถลดศักยภาพแอนติบอดีของผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือภูมิที่เกิดจากการติดเชื้อ โดยความสามารถในการต่อต้านสายพันธุ์เอปซิลอนจะลดลงประมาณ 2-3.5 เท่า หรือ 50-70%

การกลายพันธุ์ของโปรตีนหนาม L452R เป็นการกลายพันธุ์ที่เพิ่มความสามารถในการเกาะเซลล์ และสามารถลดแอนติบอดีที่เกิดจากวัคซีนโควิด-19 ได้ ทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น และยังมีฤทธิ์ดื้อต่อ T-Cell ซึ่งเป็นเซลล์ที่จำเป็นต่อการกำหนดเป้าหมายและทำลายเซลล์ที่ติดไวรัส

นอกจากนี้ โควิด-19 สายพันธุ์เอปซิลอนนี้ ยังลดประสิทธิภาพการรักษาด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibody) ในระดับปานกลาง ซึ่งวิธีการรักษานี้เป็นหนึ่งในวิธีที่สหรัฐฯ อนุมัติให้ใช้ได้ในการรักษาร่วม

แม้ว่าในปัจจุบัน WHO ได้ถอดชื่อสายพันธุ์เอปซิลอนออกจากสายพันธุ์ต้องให้ความสนใจแล้ว และจัดระดับเป็นเพียง สายพันธุ์ตรวจสอบเพิ่มเติม (Alerts for Further Monitoring) เท่านั้น เนื่องจากพบการระบาดน้อย จากสัดส่วนการระบาดในสหรัฐฯ ที่อดีตเคยเป็นสายพันธุ์เอปซิลอน 15% แต่ในปัจจุบันกลับลดลงเหลือน้อยกว่า 1% แล้วนั่นเอง

แต่ในขณะเดียวกัน หน่วยงานสาธารณสุขในหลายประเทศ ก็ยังคงระดับความอันตรายไว้ที่ สายพันธุ์ต้องให้ความสนใจอยู่ และยังต้องคอยจับตาการระบาดอย่างต่อเนื่อง ด้วยความไม่ประมาท

ปัจจุบันมีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เอปซิลอนในอย่างน้อย 46 ประเทศทั่วโลก พบมากเป็นพิเศษในแถบทวีปอเมริกา ต้นกำเนิดของสายพันธ์นี้ และนี่คือเหตุผลที่ผู้คนต่างให้ความสนใจและเฝ้าจับตา การพบโควิด-19 สายพันธุ์เอปซิลอนระบาดในปากีสถาน ซึ่งนับว่า คลืบคลานเข้ามาในในภูมิภาคเอเชียของเราแล้ว

.

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ได้ให้ความเห็นถึงเชื้อโควิด สายพันธุ์เอปซิลอน ทิ้งท้ายไว้ความว่า “การฉีดวัคซีนต้องครอบคลุม ทำให้ได้ถึง 80 ถึง 90% ของประชาชนในระยะเวลาเร็วที่สุดภายในสามเดือน โดยที่ในเด็กเล็กอายุตั้งแต่สองขวบจนกระทั่งถึง 15 ปีสามารถใช้วัคซีนเชื้อตายอย่างที่ประเทศจีนได้นำมาใช้โดยแม้ว่าจะกันการติดของเดลต้าไม่ดีเท่ากับวัคซีนอื่นแต่สามารถลดอาการหนักหรือเสียชีวิตได้ และประเทศจีนกำลังนำวัคซีนคู่แฝดไฟเซอร์ เข้ามาเสริมป้องกัน เดลต้า และการพัฒนาวัคซีนโปรคีนย่อยแบบโนวาแวคซ์ แต่แทนที่จะผลิตในระบบเซลล์แมลงหรือใบพืชแบบของใบยา จะผลิตในเซลล์เพาะเลี้ยงแทน รวมถึงวัคซีนอีกหลายเทคนิค การรุกหนักอย่างเข้มข้นรวดเร็วจะกันไม่ให้มีการกลายพันธุ์ภายในพื้นที่เหมือนกับสายพันธุ์เอปซิลอน ในสหรัฐที่ถือกำเนิดในพื้นที่เอง ไม่มีการนำเข้า และแพร่ไปหลายสิบประเทศแล้วจนกระทั่งถึงปากีสถาน และแน่นอนไม่ช้าไม่นานคงจะเข้าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมกระทั่งถึงประเทศไทย” 

.