ภูมิคุ้มกันหมู่ เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำนี้มาบ้างแล้ว ทั้งจากการประชาสัมพันธ์โดยภาครัฐ หรือแม้แต่ความหวังลึกๆ ในใจของประชาชนทั่วไป เพราะเมื่อพูดถึงคำนี้ทีไร ก็เปรียบเสมือนแสงสว่างปลายอุโมงค์ ให้กับคนที่ยังพอมีหวังว่า อีกไม่นานประเทศคงจะกลับสู่สภาวะปกติสักที
.
โดยคำนี้เป็นคำที่ได้ยินมาตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาดของโควิด เพราะเป็นคำตอบของคำถามที่ว่าโรคระบาดนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านน่าจะพูดตรงกันว่าสิ่งที่จะสามารถหยุดการระบาดได้คือ ภูมิคุ้มกันหมู่ หรือเรียกอีกชื่อว่า เฮิร์ท อิมมูนิตี้ ซึ่งเป็นระดับภูมิคุ้มกันของประชากร ถ้าหากประชากรมีภูมิคุ้มกันมากจนถึงระดับหนึ่งแล้วก็จะสามารถปกป้องคนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันไม่ให้ได้รับเชื้อได้
.
จนทำให้อัตราการแพร่กระจายของโรคถูกจำกัดให้น้อยลงในระดับที่ควบคุมได้ และยังเป็นการปกป้องกลุ่มที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ในทางอ้อมไปพร้อมกันด้วย
แม้ภูมิคุ้มกันหมู่ จะเป็นความหวังที่เราทุกคนจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติ ทว่าในภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รวดเร็วและไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญเองก็ต่างตั้งคำถามว่า มีความเป็นไปได้แค่ไหนและต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโรคโควิด-19 จึงจะเกิดขึ้น
.
ภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร มีที่มาจากไหน เอาอะไรเป็นตัวกำหนดทิศทาง
หากจะให้อ้างอิงจากบทความของคุณหมอ ชนาธิป ไชยเหล็ก ได้ให้รายละเอียดในเรื่องนี้เอาไว้ว่า ภูมิคุ้มกันนี้จะเกิดขึ้นได้ 2 แบบ คือ
1.) จากการติดเชื้อตามธรรมชาติ โดยเมื่อผู้ติดเชื้อหายป่วยแล้ว กลไกของร่างกายจะเรียนรู้และสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นโดยอัตโนมัติ
2.) จากการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน วิธีนี้จะสร้างภูมิให้กับคนที่ยังไม่เคยรับเชื้อ เพื่อให้ร่างกายเร่งปฏิกิริยาตอบสนองต่อวัคซีนที่ฉีดเข้าไป จนสามารถสร้างภูมิป้องกันเชื้อโรค
แต่เมื่อโควิดเริ่มระบาด ซึ่งนับเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง จึงเป็นที่มาของยอดการจองวัคซีน 65 ล้านโดสตอนแรก หรือต่อมาจองเพิ่มเป็น 100 ล้านโดส ซึ่งคำนวณจากระดับภูมิคุ้มกันหมู่ที่ประเทศเราต้องการนั่นเอง
.
สูตรภูมิคุ้มกันหมู่ที่ใช้กันโดยทั่วไป
สูตรของภูมิคุ้มกันหมู่ จะใช้ตัวชี้วัดด้วยค่า 1 – 1/R0 โดย R0 (Basic reproductive number) ซึ่งเป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงความสามารถในการแพร่กระจายของเชื้อโรค
เช่น ไวรัสโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมมีค่า R0 ประมาณ 2-3 หมายความว่าผู้ติดเชื้อ 1 รายจะสามารถแพร่เชื้อต่อให้กับคนอื่นได้อีก 2-3 ราย ดังนั้นภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงแรกของบ้านเรา จึงควรมีค่าอยู่ระหว่าง 50-66.7% หรือประมาณ 50 ล้านคน
.
แต่ปัจจุบันไม่มีสายพันธุ์ดั้งเดิมระบาดอีกต่อไปแล้ว หากแต่เป็นสายพันธุ์เดลตา ซึ่งมีความสามารถในการแพร่กระจายได้สูงมาก
โดยมีข้อมูลจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่าสายพันธุ์นี้มีค่า R0 ประมาณ 5 ไม่เกิน 10 ดังนั้นภูมิคุ้มกันหมู่ที่ต้องการสำหรับยั้บยั่งเชื้อ จึงควรจะมีอย่างน้อยอยู่ที่ 80% และคำนวณแบบกรณีที่เลวร้ายที่สุดเผื่อไว้คือ 90% หรือ 9 ใน 10 คนควรจะได้รับการฉีดวัคซีน
.
เท่านี้อาจยังไม่พอ หากนำประสิทธิผลของวัคซีนมาคำนวณด้วย ภูมิคุ้มกันหมู่จะเท่ากับ (1 – 1/R0)/E โดยที่ E เป็นประสิทธิผลวัคซีนในการป้องกัน ‘การแพร่เชื้อ’ ซึ่งถ้าแทนค่าด้วยประสิทธิผล 80% ในการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีน Pfizer จากภูมิคุ้มกันหมู่ 80-90% จะเพิ่มขึ้นเป็น 100-112.5% ดังนั้นนอกจากทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ยังต้องมีวัคซีนที่มีประสิทธิผลเพิ่มขึ้นอีกด้วยเพื่อการันตีความสำเร็จของภูมิคุ้มกันหมู่
.
.
.
แล้วคำกล่าวที่ว่า ไทยเข้าใกล้ภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว เราเข้าไปใกล้ขนาดไหนในปัจจุบัน
.
สหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างของประเทศที่สามารถฉีดวัคซีนจนถึงระดับภูมิคุ้มกันหมู่ โดยเห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมษายน-มิถุนายน 2564 ซึ่งตอนนั้นมีผู้ได้รับวัคซีน 1 เข็ม 40% และครบ 2 เข็มเพียง 25% เท่านั้น
แต่พอมาถึงตอนนี้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งถึงแม้จะฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้วมากกว่า 50% สถานการณ์ปัจจุบันต่างจากตอนที่สายพันธุ์อัลฟาระบาดอย่างสิ้นเชิง จากจุดนี้อาจจะทำให้เราเห็นภาพรวมอะไรได้หลายอย่างว่า ภูมิคุ้มกันในประเทศที่ฉีดวัคซีนคุณภาพแล้ว ก็ยังคงมีการระบาดเพิ่ม
.
และหากจะให้เปรียบเทียบกับไทย ขณะนี้เรามีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มอยู่ที่ 30% และครบ 2 เข็มอยู่ที่ 10% โดยการคาดการณ์โดยประมาณ
ดังนั้น ไม่ว่าเราจะมองที่ผลชี้วัดของการฉีดวัคซีน แบบเข็มเดียวหรือ 2 เข็ม ก็ยังไม่น่าจะพูดได้ว่า ประเทศเราเข้าใกล้แผนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 50 ล้านคน (75%ของประชากรหมู่) แต่อย่างใด
ยกเว้นแต่เราจะพูดว่า ถ้าสามารถจัดหาวัคซีนได้เพียงพอก็จะสามารถฉีดวัคซีนได้ตามแผนภายในสิ้นปี ส่วนระดับภูมิคุ้มกันหมู่น่าจะยิ่งไกลออกไปอีกจนเอื้อมไม่ถึงในปีนี้นั่นเอง
.
แต่หากเรายังอยากตั้งความหวังกับ ภูมิคุ้มกันหมู่ อาจจะกำหนดทิศทางใหม่อีกครั้ง โดยมองในระดับที่เล็กลงมาในสเกล จังหวัด ชุมชน โรงเรียน หรือมองในระดับกลุ่มประชากร เช่น ผู้สูงอายุ ยกตัวอย่างที่ภูเก็ตมีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มแล้ว 92% และครบ 2 เข็ม 75%
แต่ขณะเดียวกัน เราก็ควรปรับฐานวิธีคิดของประชากรโดยรวมให้เข้าใจถึงคำว่า ภูมิคุ้มกันหมู่ ไปในทิศทางเดียวกันกับภาครัฐ โดยยึดเป้าประสงค์เดียวกัน เพื่อการขับเคลื่อนที่มีพลังพร้อมกันทุกภาคส่วน
.
ขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึงวัคซีน แล้วตัวไหนจะเป็นทางไปสู่ภูมิคุ้มกันหมู่
.
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทางการสิงคโปร์ประกาศว่าจะไม่นับผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac เป็นยอดผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด ด้วยเหตุผลว่าไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อหรือป้องกันอาการรุนแรงจากสายพันธุ์เดลตา ถึงแม้ทางการจะอนุญาตให้ประชาชนฉีดวัคซีนนี้ที่คลินิกเอกชนก็ตาม โดยจะนับแต่ผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer หรือ Moderna เท่านั้น
.
วัคซีน Sinovac เข้ามาเป็นวัคซีนขัดตาทัพในประเทศไทย ทั้งใช้เป็นวัคซีน 2 เข็มตั้งแต่ต้นปี และเป็นวัคซีนเข็มที่ 1 ในสูตรไขว้ตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นมา ถึงแม้วัคซีนนี้จะได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก แต่ประสิทธิผลจากการใช้จริงในต่างประเทศต่ำกว่าวัคซีนชนิดอื่น และเริ่มมีผลการศึกษาในประเทศมากขึ้นว่าภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน 2 เข็มต่ำกว่ากว่าการฉีดวัคซีนสูตรอื่น
.
นั่นทำให้ เมื่อพูดถึงภูมิคุ้มกันหมู่ จึงมีผู้สงสัยว่าเราจะนับผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac เข้าเกณฑ์นี้ด้วยหรือไม่ แต่เนื่องจากประเทศไทยมีทางเลือกไม่มากนักจึงยังต้องนับผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มอยู่ในแผนการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ประกอบกับขณะนี้ กรมควบคุมโรคกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้ประชาชนกลุ่มนี้ โดยคาดว่าจะฉีดเป็นวัคซีน AstraZeneca หรือ Pfizer ให้กับกลุ่มเสี่ยงก่อนในช่วงปลายปีนี้เมื่อวัคซีนเข้ามามากพอ เราจึงอาจจะต้องติดตามเรื่องนี้กันต่ออย่างใกล้ชิด ทั้งในทางผลวิจัย และผลจากการเปลี่ยนทิศทางการฉีดแบบไขว้ที่ภาครัฐยึดเป็นวิธีหลักในขณะนี้
.
.
.
เมื่อเราอาจจะยังเข้าไปไม่ใกล้ การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ทางออกที่มีควรจะมีหน้าตาอย่างไร
.
จากเดิมที่เราเคยคาดว่าการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และทำให้เราเอาชนะไวรัสโควิด-19 ได้ แต่ขณะเดียวกันไวรัสก็กลายพันธุ์จนกระทั่งวัคซีนบางชนิดที่เคยกันติด และมีศักยภาพป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ เมื่อผ่านศึกใหญ่ที่มีไวรัสตัวแรงกว่าเข้ามาสมทบ กลับทำให้ประสิทธิภาพลดลงเหลือแค่ กันป่วยกันหนัก ให้พอป้องกันอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตจากไวรัสสายพันธ์ใหม่ เมื่อผสมโรงกันหนักเข้า จึงทำให้ระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง ความหวังจึงพุ่งไปที่วัคซีนเข็มที่ 3 หรือวัคซีนรุ่นที่ 2 ในปีหน้า
.
ระหว่างนี้จึงอาจลดความคาดหวังจากภูมิคุ้มกันหมู่เป็น ความครอบคลุมของวัคซีน ที่ป้องกันกลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคนี้ไปก่อน หากกลุ่มเสี่ยงในจังหวัดใดได้รับวัคซีนมากกว่า 80-90% จังหวัดนั้นจะสามารถเปิดเมืองได้อย่างปลอดภัย เพราะถึงแม้จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้ป่วยหนักจะไม่เกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข
.
ในภาวะที่ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้และไม่มีการฉีดวัคซีนมากพอ เราอาจต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ขึ้นเรื่อยๆ
โดยนอกจากการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นแล้ว อีกสิ่งที่น่ากังวลก็คือการกลายพันธุ์ของไวรัสที่จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนของผู้ติดเชื้อ ทำให้เราต้องรับมือกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่แข็งแกร่งกว่าเดิม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการติดต่อกันได้ง่ายขึ้น มีอาการรุนแรงกว่าเดิม หรือลดประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ลงไป
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เราสามารถฉีดวัคซีนให้คนจำนวนมากโดยเร็ว ในขณะที่ก็ยังคงเว้นระยะห่างและปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันขั้นพื้นฐาน และมีระบบคัดกรองผู้ติดเชื้อออกจากผู้ที่ไม่ติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ แม้ ภูมิคุ้มกันหมู่ จะไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่ก็จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อไปได้มาก และย่อมมีความหวังในการเข้าใกล้การควบคุมการระบาดครั้งนี้มากขึ้น
.
.
.