SME บนเส้นทาง Covid Economy


เข้าสู่ปี 2556 เป็นปีที่ SME ยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ส่วนจะหนักหน่วงขึ้นหรือไม่ อยู่ที่ระดับความรุนแรงของโรคระบาดจากเชื้อโควิด สายพันธุ์ โอมิครอน ว่าจะถึงขั้นส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข หรือไม่

วันนี้เริ่มมีการพูดถึงคำว่า Co-Economy ที่ย่อมาจาก Covid Economy หรือเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์โควิด เนื่องจากเจ้าโควิด ที่เกิดขึ้นมากกว่า 2 ปี ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่อเศรษฐกิจสะสมมาอย่างต่อเนื่อง โดยยังไม่รู้ว่าปัญหาจะจบลงเมื่อไหร่ รู้แต่เพียงว่า จนกว่าเจ้าโควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนไข้หวัดใหญ่

ดังนั้น SME จึงควรเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้ไว้แต่เนิ่นๆ โดยมองไปข้างหน้า ประเมินฉากทัศน์ แล้ววางแผนการ เพื่อความพร้อมจัดการปัญหาให้ได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้จากการรวบรวมความคิดเห็นของบรรดาสำนักเศรษฐกิจต่างๆ มีการประเมินสถานการณ์ที่จะ SME ควรเตรียมรับมือไว้ในหลากหลายมุมมอง แต่สามารถสรุปประเด็นสำคัญที่สุดได้ 3 ข้อคือ

1. สถานการณ์การระบาดของเชื้อ โอมิครอน ที่แม้จะมีอันตรายทำให้ถึงแก่ชีวิตน้อยกว่า แต่อัตราความเร็วของการระบาดเร็วกว่าเชื้อสายพันธุ์เดลต้า ถึง 4 เท่า ซึ่งหากเกิดการระบาดในวงกว้างขึ้น ภาครัฐจะต้องออกมาตรการ เพื่อสกัดไม่ให้ระบบสาธารณสุขล้มเหลว ซึ่งวันนี้เราก็เริ่มเห็นประกาศขอความร่วมมือให้ทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home กันแล้ว
ดังนั้น SME ต้องเตรียมแผนรับมือกับระดับมาตรการ ที่อาจทยอยออกมา เริ่มจาก Work from Home เราจะทำอย่างไร บริหารสต็อคสินค้าอย่างไร ทำแผนตลาดอย่างไร เช่น ร้านอาหารอาจต้องมีโปรโมชั่นสำหรับ Delivery เพิ่มขึ้น เป็นต้น ขณะเดียวกันต้องวางแผนไกลไปถึงกรณีมี ล็อคดาวน์ เต็มขั้นด้วย

2. สถานการณ์บีบรัดจากเงินเฟ้อ ที่กำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับขึ้นราคา โดยจากรายงานจากทุกสำนัก ชี้ตรงกันว่า เงินเฟ้อจะเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการในปี 2556

ทั้งนี้ปัญหาเงินเฟ้อ ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการจะสามารถผลักภาระไปสู่ผู้บริโภคได้มากน้อยเพียงใด (ขึ้นราคาสินค้า) แต่ปัญหานี้ก็ซ้ำซ้อนด้วยสถานการณ์โควิด ที่กำลังซื้อน้อยอยู่แล้ว ดังนั้นการขึ้นราคาอาจเป็นทางเลือกที่มีโอกาสไม่มากนัก

สิ่งที่ SME จะพยายามทำได้ คือ หาวิธีลดต้นทุนลงเท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อยังคงระดับราคา เพื่อขีดความสามารถในการแข่งขันไว้ หรือ ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด เป็นต้น

3. เตรียมรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ที่จะส่งผลกระทบกับประเทศไทย โดยเฉพาะนโยบายการค้าของประเทศมหาอำนาจอย่างจีน โดยต้องยอมรับว่าจีนได้กลายเป็นประเทศที่มีพลังในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกไปแล้ว ตัวอย่างเพียงแค่จีน บอกจะขยับราคาถ่านหิน ราคาถ่านหินรวมทั้งพลังงานต่างๆบนโลก ก็จะพุ่งสูงขึ้นทันที ดังนั้นเราต้องจับตาว่า จีนจะมีนโยบายอะไรออกมา โดยเฉพาะเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์

รวมทั้งกรณีราคานำเข้าสินค้า และวัตถุดิบ ชิ้นส่วน Semiconductor จากต่างประเทศ ที่ตลอดปีที่ผ่านมาราคาพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง อย่างกรณี เหล็ก ที่คนในวงการเหล็ก หรือ ธาตุอื่นๆ เพลิดเพลินกับการทำกำไร แต่ต้องระวังเมื่อถึงจุดหนึ่งราคาอาจล่วงลง ตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่พลิกผันอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ปี 2565 ยังเป็นปีที่ SME ต้องเผชิญกับความท้าทายกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการระบาดของเชื้อโควิด- 19 ต่อไป การมีสติเตรียมความพร้อม วางแผนรับมือไว้อย่างรอบครอบ จะทำให้สามารถเดินต่อไปบนเส้นทาง Covid Economy จนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุดลง ขอให้ทุกท่านโชคดี ประสบความสำเร็จ ผ่านพ้นภัยจากโควิด ตลอดปี 2565 ครับ