มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ชี้แนวทางผู้ประกอบการควรศึกษาผู้บริโภคในประเทศก่อนแยกทำตลาดเฉพาะกลุ่ม ชูค่านิยมแบบไทย สนับสนุนท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว
ผลกระทบจากวิกฤต COVID -19 ทำให้ตลาดท่องเที่ยวไทยซบเซาอย่างหนักและสูญเสียรายได้ไปจำนวนมหาศาล เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก แนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว นอกจากการกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวไทยแล้ว ล่าสุดรัฐบาลยังมีนโยบายนำร่องเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้แบบจำกัดพื้นที่และมีการกักตัวใน State Quarantine ภายใต้ ภูเก็ตโมเดล โดยจะเริ่มทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้
ผศ.ดร.มณฑกานติ ชุบชูวงศ์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU กล่าวต่อกรณีผลกระทบจากวิกฤต COVID -19 ต่อการท่องเที่ยวไทย ว่า แม้รัฐบาลจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศบ้างแล้ว แต่ในปัจจุบันและอนาคตประเทศไทยควรหันมา มากขึ้น โดยรณรงค์ “การสร้างค่านิยมการท่องเที่ยวในประเทศ ใช้สินค้าไทย กินอาหารที่ผลิตในเมืองไทย” เพื่อให้เงินหมุนเวียนอยู่ภายในประเทศ เชื่อว่าประเทศอื่น ๆ ก็กำลังทำในลักษณะนี้เช่นกัน
“สำหรับการท่องเที่ยวช่วงนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้ นอกจากจะรับเฉพาะบางกลุ่มซึ่งยังต้องมีการกักตัวใน State Quarantine หรือ Alternative State Quarantine (ASQ) เราจึงควรเน้นตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศ แหล่งท่องเที่ยวในประเทศและในภูมิภาคจึงต้องมีความพร้อม ดังนั้น นอกจากเมืองท่องเที่ยวหลัก รัฐควรเร่งพัฒนาเมืองรอง โดยต้องมีแผนพัฒนาระดับจังหวัดอย่างชัดเจน ว่าจะพัฒนาในทิศทางใด การเข้าถึงสะดวกไหม เครือข่ายการเชื่อมโยงของการคมนาคมในท้องถิ่นมีปัญหาไหม โดยมีการออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ทำป้ายบอกทางที่ชัดเจน เพิ่มกิจกรรมการท่องเที่ยว ณ แหล่งท่องเที่ยว พัฒนาอาหารท้องถิ่น และออกแบบแพ็คเกจของที่ระลึกที่ทันสมัย พร้อมกับประชาสัมพันธ์เทศกาล ประเพณี ต่างๆให้เป็นที่รู้จักด้วย” ผศ.ดร.มณฑกานติ กล่าว
ผศ.ดร.มณฑกานติ กล่าวด้วยว่า ในอดีตโรงแรมที่มีตลาดต่างประเทศเป็นหลัก อาจไม่ได้ทำการตลาดในภูมิภาคและภายในจังหวัดมากนัก แต่ตอนนี้คงต้องหันมาให้ความสำคัญกับตลาดดังกล่าวมากขึ้น ตลาดในภูมิภาคก็เป็นฐานลูกค้าแหล่งที่สำคัญ เนื่องจากนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาเยือนได้โดยรถยนต์ ในระยะทางไม่ไกลมาก ซึ่งจะช่วยโรงแรมในด้านการขายห้องพัก การขายอาหาร การจัดประชุม จัด event ต่างๆ นอกจากนี้โรงแรมต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น เพื่อลดรายจ่าย ลดต้นทุน โดยอาจปรับตัวเป็นผู้ผลิต (producer) นอกจากเป็นผู้ซื้อ (buyer) เช่น การปลูกผักออแกนิค ปลูกต้นไม้ ผลไม้ ดอกไม้ไว้ใช้เอง และนำสิ่งที่ปลูกมาปรุงอาหาร หรือเปลี่ยนเป็นวัสดุในการตกแต่งอาหาร ตกแต่งสถานที่ และควรอุดหนุนผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นตัวเอง เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้
อย่างไรก็ดี ในส่วนของตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศนั้น นอกเหนือจากตลาดนักท่องเที่ยวที่ใช้วีซ่า Long stay (1 ปี) คาดว่าจากเดือนตุลาคมเป็นต้นไปจะมีนักท่องเที่ยวทั่วไปที่อยากจะหนีหนาวมาเที่ยวเมืองไทยและยอมกักตัว 14 วัน แต่ปัญหาคือ เราจะรองรับได้ไหม และมี ASQ เพียงพอในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ หรือไม่ และกลุ่มนี้ไม่ได้ใช้วีซ่าระยะยาว ดังนั้นภาครัฐควรทบทวนระยะเวลาการออกวีซ่าของนักท่องเที่ยวทั่วไป เนื่องจากหากนักท่องเที่ยวต้องถูกกักตัว 14 วันเมื่อมาถึง การออกวีซ่าเพียง 3 เดือนแบบที่ทำอยู่เดิม อาจไม่น่าสนใจ ควรจะปรับเป็น 4-5 เดือน อย่างน้อยก็ภายในระยะ 1-2 ปีนี้
ในส่วนของตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ผศ.ดร.มณฑกานติ เสนอว่า มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนไม่น้อยที่ต้องการมารักษาตัวในประเทศไทย นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้หลังจากการรักษาในโรงพยาบาล อาจต้องการอยู่เมืองไทยเพื่อพักฟื้นเป็นเวลานาน หรือเพื่อท่องเที่ยวต่อ ดังนั้นการเพิ่มระยะเวลาของวีซ่าดังกล่าว จะเป็นประโยชน์แก่กลุ่มนี้ด้วย และมีผลดีต่อธุรกิจโรงแรมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ขณะที่ตลาดด้านการศึกษานั้น ปัจจุบันมีนักศึกษาต่างชาติในระดับต่างๆที่ยังกลับมาเรียนต่อไม่ได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการกักตัว ณ โรงแรมที่เป็น Alternative State Quarantine ( ASQ) มีราคาสูง แต่หากมีโรงแรมระดับกลางหรือล่าง เข้าร่วมเป็น ASQ อาจทำให้ตลาดนี้กลับมาได้เร็วขึ้น และกลุ่มนี้น่าสนใจเนื่องจากจะอยู่ในประเทศไทยระยะยาว 1-4 ปี ซึ่งจะสามารถช่วยเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้ดี และกลุ่มนี้ยังมีญาติและเพื่อนมาเยี่ยม เป็นการเพิ่มรายได้การท่องเที่ยว
ผศ.ดร.มณฑกานติ กล่าวอีกว่า ด้านการตลาดสำหรับธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวหลัก เช่น ภูเก็ต กระบี่ สมุย และกรุงเทพฯ ที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ดังนั้น หากต้องการให้มีตลาดคนไทยเข้าไปพักเป็นการทดแทน โรงแรม ต้องเร่งวางแผนการตลาดใหม่ ต้องพึ่งพาตลาดภายในประเทศ ภายในภูมิภาค และตลาดท้องถิ่นมากขึ้น โดยศึกษาพฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทย ซึ่งมีหลายกลุ่ม หลายวัย และมีความต้องการท่องเที่ยวแตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ทำการตลาดต้องวิเคราะห์ พฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวไทยแต่ละกลุ่มก่อนทำการตลาด
อาทิ พฤติกรรมนักท่องเที่ยวประเภท คนโสด วัยที่ทำงาน หรือครอบครัวที่มีลูก สามารถเดินทางได้เฉพาะในช่วงวันหยุดยาวและปิดเทอม โรงแรมอาจทำแพ็คเกจสำหรับวันหยุดยาว ให้กับกลุ่มคนวัยทำงาน หรือครอบครัว ในช่วงปิดเทอมราวกลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไปการท่องเที่ยวน่าจะดีขึ้น เพราะโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเริ่มปิดเทอม โรงแรมอาจทำราคาสำหรับ นักเรียน นักศึกษา ที่ไปท่องเที่ยวเป็นกลุ่มช่วงปิดเทอม ที่ผ่านมานักเรียน นักศึกษาอาจได้ราคาพิเศษในการขึ้นรถโดยสาร เช่น BTS รถไฟ รถประจำทาง แต่สำหรับโรงแรมที่ยังไม่เคยคิดถึงประเด็นนี้ อาจถึงเวลาแล้ว เพราะนักเรียนและนักศึกษาปัจจุบัน สามารถท่องเที่ยวได้ด้วยตัวเองได้ และอาจเดินทางในวันธรรมดาหากอยู่ในช่วงปิดเทอม
สำหรับ วัยเกษียณ สามารถเดินทางกับกลุ่มเพื่อนในวันธรรมดาได้ ที่ผ่านมาคนไทยระดับกลางไม่สามารถไปพักโรงแรม 5 ดาวในแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม เช่น ภูเก็ต กระบี่ สมุย ได้หลายๆวันเนื่องจากห้องพักและอาหารมีราคาสูงแพง ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่จะทำแพ๊คเกจระยะยาวให้กับคนไทยกลุ่มนี้ เช่น 1 สัปดาห์ หรือ 2 สัปดาห์ ผู้สูงอายุที่ไม่มีภาระอาจพักไปถึง 1-2 เดือน ดังนั้น โรงแรมควรมีข้อเสนอการพักระยะกลาง และ ระยะยาวด้วย นอกจากนี้โรงแรมตากอากาศ อาจจะเสนอราคาสำหรับผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพหรือพักฟื้นจากอาการป่วย อาจต้องการพักถึง 3-4 เดือนก็เป็นได้ และโรงแรมควรเป็นพันธมิตรกับโรงพยาบาลต่างๆเนื่องจากอนาคตการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพจะมีความสำคัญอย่างมาก นอกจากนี้โรงแรมอาจปรับบางส่วนเป็นเป็นที่สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ (nursing home) รายเดือน โดยมีทีม แพทย์ พยาบาลประจำ หรือมาเป็นเวลา เป็นต้น
คณบดีคณะการท่องเที่ยวฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ในอนาคตโรงแรมต้องไม่พึ่งพา (over dependent) ตลาดต่างประเทศตลาดใดตลาดหนึ่งมากจนเกินไป เพราะสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นได้อีกเสมอ จากนี้ไปโรงแรมคงต้องพึ่งพาตลาดในประเทศมากขึ้นและต้องคิดวิเคราะห์ตลาดมากขึ้น ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ต้องคิดนอกกรอบและวิเคราะห์ส่วนแบ่งตลาดต่าง ๆ มากขึ้น รวมไปถึงราคา เช่น ระหว่างนักท่องเที่ยวต่างชาติกับนักท่องเที่ยวไทย ราคาห้องพักควรจะเท่ากันหรือไม่ และในเรื่องภาษีของโรงแรม (VAT) นักท่องเที่ยวชาวไทยควรจ่ายเท่ากับนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือไม่ เพราะว่าคนไทยต้องจ่ายภาษีรายได้ต่างๆในประเทศอยู่แล้ว เป็นต้น ธุรกิจการท่องเที่ยวหลังจากนี้คงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และกลวิธีอย่างรวดเร็ว เพราะสิ่งแวดล้อมจากภายนอก เป็นสิ่งที่ท้าทาย และมีความผันผวนมาก โรงแรมจึงต้องมีความพร้อมและสามารถรองรับความเสี่ยงต่าง ๆ ได้.