มูลค่าธุรกรรมผ่าน “Agent Banking” พุ่งหลายหมื่นล้าน กสิกรไทย-ไทยพาณิชย์ เตรียมเปิดศึกครั้งใหม่


จากการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่มองทิศทางของการเปลี่ยนผ่านในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ว่าถึงเวลาที่ต้องมีการจัดการต้นทุนที่ดีควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพราะในระยะใกล้จะเห็นภาพสินเชื่อเติบโตต่ำ เมื่อผนวกกับภาวะดอกเบี้ยต่ำจะกดดันความสามารถในการทำกำไรทันที

ดังนั้นแม้จะบริหารจัดการต้นทุนที่ดีแต่รายได้มีแนวโน้มลดลงแปลว่าอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ (Cost to income ratio) ย่อมสูงขึ้น โดยคาดว่าอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ของธนาคารพาณิชย์ปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 46-51% เพิ่มขึ้นจาก 44.3% ในปี 2562

เมื่อ“ต้นทุน”กำลังกดดันธุรกิจธนาคารพาณิชย์

สำหรับต้นทุนสำคัญของธนาคารพาณิชย์ที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ คือ “สาขา” ซึ่งเมื่อมีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาและมีการนำมาใช้อำนวยความสะดวกกับการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้นและยังมีตัวแทนธนาคารหรือ Agent Banking ในรูปแบบนิติบุคคลเข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่เข้าไม่ถึงดิจิทัลหรือกลุ่มที่ต้องการใช้-จ่ายด้วยเงินสดแต่ไม่สะดวกไปสาขา ซึ่งตัวแทนเหล่านั้นมีความพร้อมสูงทั้งเทคโนโลยี เครือข่ายที่กระจายทุกพื้นที่และลงลึกในพื้นที่ทุกระดับ โดยที่ธนาคารพาณิชย์สามารถให้บริการได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนชัดว่าบทบาทของสาขาย่อมลดลง

รวมถึงตู้อัตโนม้ติ (ATM) ก็มีปริมาณการใช้บริการที่ลดลงเนื่องจากถูกแทนที่ด้วย โมบายแบงก์กิ้ง ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าการลดจำนวนตู้ ATM ทำให้สถาบันการเงินทั้งหมดลดต้นทุนรวมกัน 5,220–5,880 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นที่ผ่านมาหลายธนาคารจึงลดจำนวนตู้ ATM ลง แล้วพุ่งเป้าไปที่การเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการผ่านเครือข่ายดิจิทัลพร้อม ๆ กับเพิ่มอัตราเร่งไปที่ช่องทางตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) ซึ่งเป็นช่องใหม่ที่มีโอกาสในการต่อยอดบริการทางการเงินได้อีกมหาศาลภายใต้ต้นทุนที่ต่ำลงมาก แน่นอนว่าการต่อสู้ครั้งใหม่ของกสิกรไทยและไทยพาณิชย์กำลังจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง

K bank ตั้งเป้าเพิ่มทางตัวแทน 1 แสนจุด

สำหรับธนาคารกสิกรไทยวางยุทธศาสตร์ด้านช่องทางการให้บริการแบบผสมผสาน (Multi-Channels)ด้วยช่องทางและแพลตฟอร์มที่หลากหลาย ซึ่งในปี 2561 ได้นำรูปแบบตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) ผ่านบริการชื่อ K service เข้ามาขับเคลื่อนโดยมีบริษัท ไปรษณีไทย จำกัดเป็นพันธมิตรรายแรกจากนั้นขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่องและขณะนี้มีตัวแทนประมาณ 19 ราย มีจุดให้บริการราว 22,000 จุดเพิ่มจากปีก่อน 7,000 จุดกระจายในธุรกิจไลฟ์สไตล์ด้านต่าง ๆ

เช่น ร้านกาแฟ, ร้านสะดวกซื้อ, ขนส่งพัสดุ, ศูนย์บริการรถยนต์ ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์หลักเช่น เซเว่นอีเลฟเว่น, แฟมิลี่มาร์ท, บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์,มินิบิ๊กซี,ซี เจ ซูเปอร์มาร์เก็ต ,แม็กซ์ แวลลู ,ร้านถูกดี, จิฟฟี่, ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, เจมาร์ท, ไปรษณีย์ไทย, เคอร์รี่ เอ็กซ์เพรส, คาเฟ่ อเมซอน, อินทนิล, บริดสโตน, เลกาซี, ศรีสวัสดิ์, ตู้บุญเติมและตู้เติมสบาย, AirPay

ขณะที่ปริมาณธุรกรรมผ่านช่องทางตัวแทนของกสิกรไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยในปี 2561 อยู่ที่ 82,790 รายการ มีมูลค่า 594 ล้านบาท ปี 2562 ปริมาณธุรกรรมพุ่งขึ้นเป็น 9 ล้านรายการ คิดมูลค่ากว่า 4.55 หมื่นล้านบาทและคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีธุรกรรมทั้งสิ้น 20 ล้านรายการและมีเป้าหมายเพิ่มจุดบริการทั่วประเทศเป็น 100,000 จุด

ทั้งนี้ นโยบายการเพิ่มตัวแทนของกสิกรไทยให้ความสำคัญกับความสอดคล้องของจำนวนสาขาที่จะปิดลงโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปริมาณธุรกรรมการเงินลดลง แต่ยังมีความต้องการใช้อยู่ซึ่งตัวแทนธนาคารจะเข้ามารับหน้าที่ในพื้นที่นั้น ซึ่งเฉลี่ยในแต่ละปีกสิกรไทยจะปิดสาขาเฉลี่ย 40-50 แห่ง โดยในเดือนพฤศจิกายน มีสาขาคงเหลือ 863 แห่ง

 

 

K service ฝาก-ถอน-เปิดบัญชีและอื่น ๆ

ด้วยภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นประกอบกับผู้บริโภคผ่านขั้นตอนการรับรู้ (Awareness) มาเป็นที่เรียบร้อย การเร่งเพิ่มจุดบริการหรือตัวแทนธนาคารไม่พอ แต่ต้องโฟกัสที่การบริหารโอกาสที่ดีด้วยยกระดับการบริการจากเดิมที่จะเน้นให้บริการรับฝากเงิน –ถอน เงินสดและรูปแบบดิจิทัล

และจากนี้ช่องทางตัวแทนธนาคารจะเป็นที่จับตามากยิ่งขึ้นเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ 6 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรี ธนาคารทหารไทย และธนาคารซีไอเอ็มบี นำร่องระบบยืนยันตัวตนผ่าน Facial Recognition เพื่อเก็บข้อมูลลูกค้าไว้บนระบบดิจิทัลและทุกธนาคารจะใช้ข้อมูลเดียวกัน หมายความว่าจากนี้ขอบเขตการให้บริการและการเข้าถึงบริการทางการเงินของผู้บริโภคผ่านช่องทางตัวแทนธนาคารจะทำได้หลากหลาย ง่ายและสะดวกขึ้น

กสิกรไทยนำระบบการยืนยันตัวตน NDID (National Digital ID) ด้วยใบหน้า(e-KYC) มาเริ่มให้บริการผ่านตู้อัตโนมัติบุญเติมเพื่อขยายฐานการให้บริการ โดยสามารถยืนยันตัวตนผ่านตู้บุญเติมเพื่อสมัครเปิดบัญชีเงินฝาก ขอสินเชื่อ ซื้อประกัน สมัคร e-Wallet รวมถึงบริการขอตรวจสอบประวัติกับเครดิตบูโร ฯลฯ ได้ สำหรับกสิกรไทยมีปริมาณธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางตู้บุญเติมกว่า 8 ล้านรายการ มูลค่าธุรกรรมกว่า 5,000 ล้านบาท

ล่าสุดได้ขยายบริการยืนยันตัวตน (e-KYC) เข้าสู่เซเว่นฯ สำหรับให้บริการเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ (K-e Savings) บนแอป K PLUS สามารถยืนยันตัวตนผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสที่เซเว่นฯได้ทุกสาขา ตลอด 24 ชม.และที่ผ่านมาเซเว่นฯ เป็นช่องทางที่มีปริมาณการทำธุรกรรมทางการเงินและมีมูลค่าสูงเป็นอันดับแรกของกสิกรไทย

SCB รุกด้วย omni-channel

ไทยพาณิชย์ วางกลยุทธ์ด้านช่องทางการให้บริการด้วยกรอบแนวคิด omni-channel ด้วยการเพิ่มจุด Touch point อื่น ๆ ให้สามารถเลือกใช้บริการจากช่องทางการให้บริการที่ต้องการได้ไม่ว่าสาขา, ผ่านช่องทางของพันธมิตรหรือผ่านช่องทางดิจิทัลผ่านบริการชื่อ SCB EASY โดยรวมแล้วก็คือแม้สาขาจะลดลงแต่การเข้าถึงบริการทางการเงินต่าง ๆ จะต้องสามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น

ตัวแทนธนาคาร (Agent Banking) จะเป็นอีกช่องทางที่จะยกระดับให้ตอบโจทย์ความสะดวกให้ได้มากขึ้น เช่น การให้บริการผ่านดิจิทัลด้วย QR Code บนแอป SCB EASY ที่สามารถฝากและถอนเงินสดได้ ขณะที่ตัวแทนธนาคารรายอื่นจะรับเพียงฝากเงินสดซึ่งไทยพาณิชย์เป็นรายแรกที่ให้บริการผ่านรูปแบบดิจิทัลได้

ปัจจุบันไทยพาณิชย์มีตัวแทนธนาคารรวม 7 ราย ได้แก่ เคาน์เตอร์เซอร์วิส, ไปรษณีย์ไทย, บิ๊กซี, เทสโก้ โลตัส, เดอะมอลล์, ตู้บุญเติม และตู้เติมสบาย กว่า 1.5 แสนจุดทั่วประเทศ มีจำนวนธุรกรรมที่ทำรายการฝาก/ถอน ประมาณ 12.5 ล้านรายการ มูลค่าธุรกรรมทั้งหมด 5.3 หมื่นล้านบาท เติบโตเดือนละ 15% ทั้งจำนวนรายการ และมูลค่าธุรกรรม นอกจากนี้ยังมีจำนวนผู้เปิดบัญชีออมทรัพย์ ผ่านระบบยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) กับแบงกิ้งเอเย่นต์ รวม 1.3 แสนบัญชีส่วนช่องทางสาขาพบว่า ธนาคารไทยพาณิชย์มีปรับลดสาขาและจุดให้บริการมากที่สุดถึง 80 แห่ง จากช่วงสิ้นปี 2562 มีจำนวน 1,034 แห่ง ในเดือนพฤษภาคมลดลงเหลือ 954 แห่ง ล่าสุดเดือนพฤศจิกายนเหลือ 903 แห่ง

 

 

เปิดบัญชี SCBใหม่ ไปแค่ 7-11

ไทยพาณิชย์โฟกัสกับโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผ่านช่องทางตัวแทนอย่างเข้มข้น สะท้อนจากเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานำเทคโนโลยี Facial Recognition เข้ามาให้บริการสำหรับเปิดบัญชีใหม่ภายใต้แนวคิด “ฉันเองคนนี้ที่เซเว่นฯ” เมื่อเปิดบัญชี eSaving หรือบัญชีออมทรัพย์แบบไม่มีสมุดเงินฝากผ่านแอปพลิเคชัน SCB Easy ในร้านเซเว่นฯกว่า12,000 สาขาทั่วประเทศโดยไม่ต้องไปยืนยันตัวตนที่สาขาเหมือนที่ผ่านมา จากเดิมที่จะใช้ได้เฉพาะบริการฝากเงินสดดิจิทัล, ถอนเงินสดดิจิทัลและฝากเงินสดแบบ Non-Digital

สำหรับเซเว่นฯ จัดเเป็นตัวแทนธนาคารที่มีปริมาณการทำธุรกรรมทางการเงินสูงสุดของไทยพาณิชย์โดยในปี 2562 มีการฝาก-ถอนเงิน ถึง 31,875 ล้านบาทเป็นการฝาก 31,776 ล้านบาทและถอน 99.46 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณธุรกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ 185.3 ล้านบาทต่อวัน แบ่งเป็นการฝาก 184.8 ล้านบาทต่อวัน และถอน 5 แสนบาทต่อวัน