ถอดสูตรความสำเร็จ กลยุทธ์ร้าน Uniqlo ทำอย่างไรถึงครองใจลูกค้าทั่วทุกมุมโลก


Uniqlo แบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติญี่ปุ่น ที่มีประวัติก่อตั้งมายาวนานมากกว่า 70 ปี โดย Tadashi Yanai ช่างตัดเสื้อสูท ด้วยระยะของการดำเนินธุรกิจจึงมั่นใจในระดับหนึ่งว่าแบรนด์ของพวกเขาไม่เป็นสองรองใครในตลาดแฟชั่น

Uniqlo เริ่มเปิดสาขาแรกในญี่ปุ่น เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1984 โดยใช้ชื่อร้านว่า Unique Clothing Warehouse ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น Uniqlo ภายหลัง ตลอดระยะเวลาเปิดกิจการ Uniqlo ได้รับความนิยมจากลูกค้าชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมากด้วยเอกลักษณ์ที่มีสไตล์

แน่นอนว่ากว่าจะมีวันนี้ได้ Uniqlo ต้องผ่านร้อนผ่าหนาวมาเยอะ ซึ่งแบรนด์มีกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างไรที่ทำให้ครองใจผู้บริโภคมาถึงทุกวันนี้ เรามาหาคำตอบกัน

Customer is King

ธุรกิจยุคเก่ากำลังถูกท้าทายจากเทคโนโลยี และรายได้ของชนชั้นกลางที่ขยายตัว กลายเป็นตัวเร่งความต้องการ และสร้างความคาดหวังที่มีต่อบริการ อาจจะกล่าวได้ว่าโลกของเศรษฐกิจทุกวันนี้ถูกครอบงำโดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ

เช่นเดียวกับ Uniqlo ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Fast Retailing Co ที่ต้องปรับตัว เพราะอุตสาหกรรมค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นมีความผันผวนของพฤติกรรมผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา โดย Uniqlo ชูจุดเด่นเป็นสินค้าราคาไม่แพง, มีคุณภาพสูง แม้จะเจอคู่แข่งสำคัญในตลาดอย่าง Zara และ H&M ก็ตาม

Tadashi Yanai ซีอีโอของ Uniqlo มองถึงความแตกต่างของแบรนด์ และประกาศอย่างมั่นใจว่า Uniqlo ไม่ใช่บริษัทด้านแฟชั่น แต่คือบริษัทเทคโนโลยี เช่นเดียวกับ Takao Kuwahara หัวหน้าผู้บริหาร Uniqlo ใน UK กล่าวกับ Wall Street Journal ว่าคู่แข่งของเราคือ Apple และไม่ได้มองว่าแบรนด์เป็นคู่แข่งในพื้นที่อุตสาหกรรมค้าปลีก-แฟชั่น ผู้บริโภคของ Uniqlo ต้องได้รับบริการ และประสบการณ์ที่สำคัญ เพราะคนเรามีเวลาจำกัด ทำให้ต้องสร้างความประทับใจในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า

พัฒนาสินค้า: ออกแบบ/ผลิต มาเพื่อทุกคน

Uniqlo มีแนวทางดีไซน์ และสร้างสรรค์สินค้า ด้วยสโลกแกน “made for all” โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ นั่นหมายความว่าสินค้าของแบรนด์ Uniqlo จะให้ความสำคัญกับผู้บริโภคตามเทรนด์ของอุตสาหกรรมค้าปลีกแฟชั่นที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ AIRism ที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

เราอาจจะเห็นคู่แข่งในตลาดที่มีสินค้าแบบเดียวกัน แต่ Uniqlo พวกเขาจะใส่ความพิเศษลงไปมากกว่านั้น เช่น เสื้อสเวตเตอร์ขนสัตว์อะคริลิกบาง มีคุณสมบัติพิเศษ HeatTech ที่ให้ความอบอุ่นเป็นพิเศษถึงสองชั้น

เมื่อมีจุดมุ่งหมายอย่างชัดเจนจึงทำให้สินค้าของ Uniqlo ดูจะเหมาะกับกลุ่มคนทุกเพศ ทุกวัย เป็นราคาที่ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้

นี่คือแนวทางการพัฒนาสินค้าของ Uniqlo ขับเคลื่อนโดยพื้นฐานความต้องการของผู้บริโภค แทนความปรารถนาที่ดูไร้จุดหมาย

การทำงานที่ราบรื่น และคล่องตัว

เมื่อพิจารณาการจัดการของ Uniqlo จะพบว่า Yanai มีความสามารถในการบริหารงานอันมีเอกลักษณ์ โดยมุ่งเน้นให้กระบวนการทำงานเป็นอย่างราบรื่น และคล่องตัวให้มากที่สุด ผ่านระบบการผลิต ดังนั้น เราจะเห็น Fast Retailing มีสินค้าที่มีคุณภาพ

แม้ว่าบริษัทจะใช้เวลาอยู่หลายปีกว่าจะปรับจูนระบบให้เข้าที่ ซึ่ง Uniqlo ได้นำบทเรียนมาปรับใช้ เพื่อให้ก้าวมาอยู่ในจุดนี้ในที่สุด

นอกจากนี้ ในส่วนของบุคลากรของ Uniqlo ก็จะมีเกณฑ์ในการคัดเลือกพนักงาน มีการฝึกอบรมอยู่ตลอดเวลา เพื่อสร้างบริการที่มีต่อลูกค้าให้ดีเยี่ยม มาซื้อสินค้าแล้วได้ความประทับใจกลับไป รวมถึงตัวขององค์กรยังให้ความสำคัญกับเทรนด์รักษ์โลก โดยออกสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น กางเกงยีนส์ ที่ผลิตโดยลดการใช้ปริมาณน้ำในการฟอกถึง 99%, การหยุดใช้ถุงพลาสติก พร้อมเปลี่ยนมาเป็นถุงกระดาษ เพื่อลดปริมาณถุงพลาสติกที่นับวันเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก

สำหรับในประเทศไทย Uniqlo เข้ามาเปิดตลาดในปี 2554 โดยเป็นการร่วมทุนกันระหว่าง ยูนิโคล่ ประเทศไทย กับบริษัท Mitsubishi Corporation ปัจจุบันมี 53 สาขา (ข้อมูลเดือนพฤศจิกายน 2563)

เมื่อได้ดูเรื่องราวของ Uniqlo แล้วจะพบว่า แม้พวกเขาจะอยู่ในอุตสาหกรรมค้าปลีก แต่องค์การก็มีการปรับตัวทางธุรกิจตลอดเวลา โดยเน้นการนำเทคโนโลยี, นวัตกรรม สร้างสรรค์สินค้าออกมาโดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เหล่านี้จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้แบรนด์ Uniqlo เข้าไปครองใจผู้บริโภคทั่วทุกมุมโลก

อ้างอิง:
https://medium.com/the-second-draft/how-uniqlo-is-winning-the-fast-fashion-rat-race-a5cb5cf73e84 

https://www.fastretailing.com/eng/ir/direction/tactics.html 

https://www.uniqlo.com/eu/en/company/about_uniqlo.html