ธุรกิจร้านขายยาค้าส่ง-ค้าปลีกสดใส โตปีละกว่า 8-10% ตลาดหัวเมืองใหญ่ยังมีศักยภาพสูง
ธุรกิจร้านขายยาทั้งค้าส่ง-ค้าปลีกมีโอกาสที่สดใส คาดสิ้นปีมูลค่าตลาดกว่า 41,600 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 8-10% ขณะที่การแข่งขันกระจุกตัวอยู่เฉพาะกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ทั้ง ๆ ที่ตลาดในหัวเมืองใหญ่ยังมีศักยภาพสูง
.
.
จากข้อมูลของศูนย์วิจัยธนาคารออมสินประเมินว่ามูลค่าตลาดยาในประเทศปี 2563 โดยประมาณ 195,161 ล้านบาท ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงระบาดของโควิดอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณ 6.5% ต่อปี และคาดว่าสิ้นปี 2564 มูลค่าตลาดเกินกว่า 208,000 ล้านบาท โดยกระจายในโรงพยาบาลภาครัฐ 60% โรงพยาบาลเอกชน 20% และตามร้านขายยาทั่วไป 20% มีขนาดตลาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซีย จากข้อมูลดังกล่าวคาดว่ามูลค่ายาที่ขายผ่านร้านขายยาภายในสิ้นปีนี้จะแตะอยู่ที่มากกว่า 41,600 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ย 8-10% ซึ่งถ้ายังเติบโตได้ขนาดนี้ ในอนาคตปี 2570 ธุรกิจร้านขายยาในไทยอาจมีมูลค่าสูงถึง 90,000 ล้านบาท!!
จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่าเมื่อปี 2561 มีร้านขายยาทั่วประเทศประมาณ 8,165 ร้านกระจายตามภูมิภาคต่าง ๆ ประกอบด้วย ภาคเหนือ 604 ร้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 702 ร้าน ภาคกลาง 1,815 ร้าน กรุงเทพฯ 4,598 ร้าน และภาคใต้ 446 ร้าน โดยร้านขายยาและเครื่องมือแพทย์ที่เป็นนิติบุคคลขนาดเล็กทุนจดทะเบียนน้อยกว่า 5 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 93% ขนาดกลางทุนจดทะเบียนไม่เกิน 100 บาทคิดเป็นสัดส่วน 6% และขนาดใหญ่ทุนจดทะเบียนมากกว่า 100 ล้านบาทประมาณ 1%
นพ.บุญ วนาสิน ประธานบริหารกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี ในฐานะประธานบริษัท ทันตสยาม จำกัด เจ้าของร้านขายยาเอเพ็กซ์ เฮลท์แคร์ กล่าวว่า ช่วงหลัง ๆ มานี้ บริษัทยาได้หันมาให้ความสำคัญกับช่องทาง ร้านขายยามากขึ้น และร้านขายยาที่เปิดใหม่ ส่วนใหญ่เป็นเชนสโตร์ ส่วนร้านขายยาเดี่ยว มีแนวโน้มที่จะปิดตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตามร้านขายยาเดี่ยวยังมีจำนวนมากกว่าร้านขายยาเครือข่าย หรือเชนสโตร์ โดยมีสัดส่วน 80 : 20
ร้านเชนสโตร์ที่มีสาขาจำนวนมากจะมีประโยชน์จาก economy of scale ทำให้ร้านขายยาเดี่ยวลำบาก เพราะต้นทุนสูง แข่งขันยาก และมีแนวโน้มปิดตัว เพราะไม่คุ้มค่าเช่าที่ ค่าแรง จากการสำรวจพบว่าความสำเร็จของร้านขายยาขึ้นอยู่กับเภสัชกรที่มีอัธยาศัยดี แนะนำดี ทำให้กลับมาซื้อซ้ำ
.
.
แฟรนไชส์คลังยาร้านขายยา “DB” Chain Store เปิดใหม่
เว็บไซต์ Smart SME ได้สัมภาษณ์คุณจักราช สระทองแหง็ด กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีบี เฮลท์ สโตร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เจ้าของแบรนด์แฟรนไชส์คลังยาและร้านขายยา “ดีบี” ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาเมื่อปีที่ผ่านมา โดยกล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง DB Health store เพื่อแก้ปัญหาให้กับนักลงทุนที่ต้องการเปิดร้านขายยาเป็นของตนเองประกอบด้วย 5 ข้อที่สำคัญคือ
1. แก้ปัญหายาและสินค้าสุขภาพราคาแพง ถ้าทางบริษัทมีเครือข่ายสายสัมพันธ์กับโรงงานและผู้นำเข้าโดยตรง หากซื้อในปริมาณที่มาก ๆ ก็สามารถขายต่อไปยังแฟรนไชส์ซีในราคาที่ถูกลง
2. แก้ปัญหาให้คนที่อยากทำร้านขายยาหรือคลังยา สามารถเปิดร้านได้ง่ายขึ้น และ ร้านขายยาไม่ต้องถูกปิดเพราะไม่ผ่านมาตรฐาน GPP
3. แก้ปัญหาด้านการจัดการให้แก่ผู้ประกอบการไม่ต้องลงมาทำเอง ไม่ต้องเข้าร้านทุกวัน แฟรนไชส์ซอร์มีระบบและทีมงานจัดการให้
4. แก้ปัญหาเรื่องสต๊อก ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงสินค้าขายไม่ได้ สินค้าหมดอายุ ส่งผลให้ทุกการขายมีกำไร ไม่ต้องนำกำไรส่วนหนึ่งไปสำรองความสูญเสียที่เกิดจากการสต๊อกสินค้าในปริมาณที่มาก
5. ช่วยเหลือให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการในการทำธุรกิจคลังยาและร้านขายยา จากเภสัชกรชำนาญการและผู้มีประสบการณ์จริงในการบริหารธุรกิจร้านขายยา
ธุรกิจคลังยาและร้านขายยา “ดีบี” ดำเนินธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ Chain Store ที่เป็นทั้งคลังยาและร้านขายยา สร้างระบบการปฏิบัติการที่บริหารจากส่วนกลางทั้งงานหน้าร้านและหลังร้านในระบบ Modern trade ดูแลเรื่องสต๊อกสินค้า การจัดส่ง การบริหารบัญชีรายรับรายจ่าย ระบบ POS พร้อมกันนี้ยังดูแลเรื่องการบริหารบุคลากรภายในร้านทั้งเภสัชกรและผู้ช่วยเภสัชกรให้กับแฟรนไชส์ซีอย่างครบวงจร โดยที่แฟรนไชส์ซีทำหน้าที่เพียงบริหารร่วมกับแฟรนไชส์ซอร์ โดยไม่ต้องลงมาทำเอง
คุณสมบัติของแฟรนไชส์ซีที่ควรมีคือจะต้องมีทุนทรัพย์ 1 ใน 3 ของเงินลงทุน และมีความเข้าใจในธุรกิจ Chain Store ที่มีการบริหารจัดการจากส่วนกลาง พร้อมที่จะรับมาตราฐานระดับสูงขององค์กรเดินหน้าไปด้วยกันเติบโตไปด้วยกัน
คุณจักราช กล่าวว่า การทำแฟรนไชส์ร้านขายยาแตกต่างจากการทำแฟรนไชสชนิดอื่นตรงที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคือเภสัชกร เป็นผู้มีอำนาจประจำร้านขายยา และเป็นกุญแจสำคัญในการดำเนินธุรกิจว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ พร้อมกันนี้คนที่ลงทุนในธุรกิจร้านขายยาส่วนใหญ่ คนในชุมชนมักมองว่าเป็นธุรกิจที่มีเกียรติในสังคม ดังนั้นหลายคนจึงสนใจอยากเข้าสู่การลงทุนของธุรกิจประเภทนี้ จากการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อหาแฟรนไชส์ซีมาร่วมทุน ปรากฏว่ามีคนสนใจเข้ามามาก แต่ใช่ว่าทุกคนจะผ่านคุณสมบัติ ทางบริษัทต้องวิเคราะห์ปัจจัยหลายอย่างประกอบ สำหรับรูปแบบการลงทุนแฟรนไชส์ของดีบีประกอบไปด้วย 2 ประเภทคือ
1.แฟรนไชส์คลังยา เป็นไดร์ฟทรู DB Pharmacy Drive thru รายแรกของไทย โดยก่อสร้างบนพื้นที่ว่าง หรือเป็นอาคารอยู่เดิมแล้วและปรับปรุงสถานที่ให้สามารถ วนรถเข้ามาขอรับบริการได้ โดยงบประมาณการลงทุนจะอยู่ที่ 15 ล้านบาทขึ้นไป (รวมค่าระบบปฏิบัติการออรไลน์เพื่อบริหารจัดการแบบครบวงจร) โดยวางเงินมัดจำเริ่มต้น 1 ใน 3 เพื่อนำไปเป็นค่าสร้างคลังยา มีพื้นที่อย่างต่ำประมาณ 4 คูหาห้องแถว หรือประมาณ 240 ตารางเมตร ลักษณะการก่อสร้างเป็นแฟรนไชส์รูปแบบใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค พร้อมกันนี้ยังเป็น Magnet ดึงดูดให้ประชาชนอยากลองเข้าใช้บริการ โดยตัวอาคารจะตกแต่งสวย ทันสมัยได้แรงบันดาลใจมาจาก McDonald’s ที่ทำร้านสวยเด่น ยกระดับสถานที่หรือเมืองนั้น ๆ ได้เลย
ด้านระบบการจัดการ ที่ผนวกการจัดการทั้งหน้าร้านและหลังร้านเข้าสู่ App online ทำให้สามารถสั่งการหรือดูข้อมูลแบบเรียลไทม์บนมือถือได้ทันที ระบบนี้จะช่วยให้แฟรนไชส์ที่เป็นคลังยาไม่จำเป็นต้องสต๊อกยาเป็นจำนวนมาก และทางแฟรนไชส์ซอร์จะเป็นผู้บริหารสต๊อกนี้ หากหมวดของสินค้าตัวใดขายช้า หรือเดินไม่ดีในทำเลนั้นก็จะดึงออก เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับผลิตภัณฑ์ที่ขายดี พร้อมกันนี้ยังช่วยแก้ปัญหาไม่มียาหมดอายุอยู่ในคลัง ลดปัญหาเงินจมในระบบได้ถึง 50% ซึ่งหมวดหมู่ของสินค้าเข้าสู่คลังยาประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ยา อาหารเสริม นม เวชภัณฑ์ อุปกรณ์สุขภาพ เครื่องออกกำลังกาย ประมาณกว่า 2,000 รายการ ทำสัญญา 10 ปี โดยจ่ายค่า Franchise Fee ทุกปี ๆ ละ 10,000 บาท
.
.
ทางด้านการตั้งราคา แฟรนไชส์ซีสามารถนำมาเพิ่มกำไรต่อหน่วย (Margin) 10-20% ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจด้านการบริหารของทางเจ้าของร้านคลังยา ในระยะตั้งไข่จะมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 5 แสน-1 ล้านบาท และเมื่อเติบโตเต็มที่จะมีรายได้ประมาณเดือนละ 10 ล้านบาท (หลังจากเติบโตเต็มที่แล้วหลังจากนั้นมูลค่าการขายในแต่ละเดือนไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะรัศมีของทำเลเป็นตัวกำหนดขีดความสามารถในการขายไปแล้ว) มีจุดคุ้มทุนอยู่ที่ 5-6 ปี ขึ้นอยู่กับทำเล และถ้าหากการดำเนินธุรกิจประสบภาวะขาดทุน แฟรนไชส์ซีสามารถขอเลิกสัญญาได้ทันที แต่ต้องแบกรับความเสี่ยงเงินลงทุน 12.5-15 ล้านบาท ใน 1 ปีแรกของการเปิดกิจการทางแฟรนไชส์ซอร์จะสนับสนุนค่าจ้างเภสัชกร และผู้ช่วยเภสัชกร ซึ่งกำลังคนสำหรับแฟรนไชส์แบบคลังสินค้าควรมีเภสัชกร 1 คน ผู้ช่วยเภสัชกร 2 คน สำหรับการเปิดหน้าร้าน 10 ชั่วโมงต่อวันในระยะแรก ๆ ที่หลายอย่างไม่ลงตัว แต่เมื่อลงตัวแล้วควรเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง และกำลังของพนักงานประจำร้านก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
หน้าที่ของแฟรนไชส์ซีคือทำการตลาด หาโปรโมชั่นให้คนท้องที่มาซื้อสินค้ามากอย่างต่อเนื่อง ส่วนทางแฟรนไชส์ซอร์จะเป็นคนดูแลเรื่องการเคลื่อนไหวของสินค้า การเติม การปรับยอดสินค้าในคลัง โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเข้าไปโครงสร้างรายการสินค้าให้เหมาะกับแฟรนไชส์ซีในแต่ละพื้นที่ทุก 3 เดือน กำหนดการจัดกิจกรรมการตลาดและโปรโมชั่นของส่วนกลางที่ใช้กับทุกสาขาเป็นประจำ ส่วนค่าใช้จ่ายที่แฟรนไชส์ซอร์ช่วยแบกรับไว้คือ ค่าขนส่งสินค้าไปยังคลังยา ค่าโลจิสติกส์จากคลังยาไปสู่ลูกค้า นอกจากนี้แฟรนไชส์ซียังช่วยเหลือเรื่องระบบการขายแบบ E-commerce ซึ่งสามารถซื้อยาผ่าน เว็ปไซต์ และ Application ของทางร้านได้เลย มีโปรโมชั่นการเพิ่มรายได้ให้ร้าน ทุกเดือน
2. แฟรนไชส์ร้านขายยา โมเดลการให้บริการค่อนข้างคล้ายคลังยา เพียงแต่ย่อส่วนลงมาเพื่อบริการขายให้ผู้บริโภคโดยตรง เงินลงทุนเริ่มต้น 2.65 ล้านบาท ทำสัญญา 10 ปี จ่ายค่า Franchise Fee ทุกปี ๆ ละ 10,000 บาท จุดคุ้มทุน 3 ปี หากการดำเนินกิจการขาดทุนทางแฟรนไชส์ซีสามารถเลิกกิจการได้ทันที แต่ทางแฟรนไชส์ซอร์จะไม่คืนเงินที่ลงทุนมาก่อนหน้านี้ ลักษณะของที่ตั้งร้านควรอยู่ในทำเลที่เป็นชุมชน ขนาดของการให้บริการตึกแถว 2 คูหา ระบบการให้บริการเหมือนกับร้านสะดวกซื้อทั่วไป แต่ให้บริการสินค้าที่เกี่ยวกับยา อาหารเสริม นม เวชภัณฑ์ อุปกรณ์สุขภาพ เครื่องออกกำลังกาย รายการจำนวนสินค้าประมาณ 1,000 รายการ โดยทางร้านขายยาจะได้ส่วนแบ่งรายได้ต่อหน่วย (Margin) 10-15% ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า ในระยะตั้งไข่จะมีรายได้ระหว่าง 5,000-10,000 บาทต่อเดือน และเมื่อกิจการแข็งแรงแล้วสามารถสร้างรายได้ให้กับกิจการสาขาละ 1 ล้านบาทต่อเดือน ระยะการคืนทุนประมาณ 3 ปี ขึ้นอยู่กับยอดขายและทำเล เวลาเปิด-ปิดร้าน แรก ๆ เปิดขาย 8-10 ชั่วโมง เมื่อระบบทุกอย่างเข้าที่แล้วควรเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ยกเว้นในบางพื้นที่ของต่างจังหวัดที่สภาพทำเลไม่เอื้อให้เปิดบริการ 24 ชั่วโมง
สำหรับหน้าที่ของแฟรนไชส์ซี การสนับสนุนของแฟรนไชส์ซอร์ก็ไม่แตกต่างไปจากแฟรนไชส์คลังสินค้า ส่วนจำนวนพนักงานที่จะขับเคลื่อนธุรกิจไปได้สำหรับแฟรนไชส์ร้านขายยามีเภสัชกร 1 คน ผู้ช่วยเภสัชกร 1 คน ครอบคลุมการทำงาน 8 ชั่วโมง แต่ถ้าให้บริการ 24 ชั่วโมงก็ต้องเพิ่มกำลังคนในส่วนของผู้ช่วยเภสัชกร นอกจากนี้แฟรนไชส์ซียังช่วยเหลือเรื่องระบบการขายแบบ E-commerce ซึ่งสามารถซื้อยาผ่าน เว็ปไซต์ และ Application ของทางร้านได้เลย มีโปรโมชั่นการเพิ่มรายได้ให้ร้าน ทุกเดือน
.
.
ทางด้านเป้าหมายการขยายแฟรนไชส์คลังยา ดีบี นั้น ตั้งเป้าหมายว่าภายในสิ้นปี 2564 ต้องการขยายแฟรนไชส์ซีอีก 10 สาขา ทั่วประเทศโดยเน้นที่เป็นจังหวัดหัวเมืองก่อน โดยขณะนี้มีแฟรนไชส์ประเภทคลังยาแล้ว 4 สาขา นักลงทุนที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ http://www.db-pharmacy.com/ โทร 097 298 8898 อีเมลล์ : [email protected].
โดยสรุปแล้วภาพรวมของธุรกิจร้านขายยาในประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก จากพฤติกรรมของผู้บริโภคคนไทยที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่มีอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นและสามารถหาซื้อยามารับประทานเอง เนื่องจากมีความสะดวก หาซื้อง่าย และไม่ต้องใช้เวลาในการเดินทางหรือรอพบแพทย์นาน อย่างไรก็ดีปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ (เภสัชกร) ก็ยังคงเป็นข้อจำกัดในการขยายสาขาร้านขายยาของผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่ให้สามารถทำได้อย่างรวดเร็วนัก
.