ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ธุรกิจ Healthcare หรือการรักษาพยาบาลหรือบริการด้านสุขภาพ ในโรงพยาบาลเอกชน ค่อนข้างดีกว่าพร้อมกว่า โรงพยาบาลรัฐแทบจะทุก ๆ ด้าน โดยที่เห็นเด่นชัดหลัก ๆ คงเป็นเรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึง ‘ความรวดเร็วและความสะดวกสบายในการให้บริการ’ ซึ่ง รพ.เอกชน ตอบโจทย์ผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องการเข้ารับการรักษาได้มากกว่า
ทั้งนี้ ก็เป็นเหมือนดาบสองคม กล่าวคือ ประชาชนที่เข้ารับการรักษาและเข้ารับบริการจาก รพ.เอกชน ย่อมต้อง ‘จ่ายแพง’ สำหรับค่ารักษา และค่าบริการต่าง ๆ สูงกว่า รพ.รัฐ หลายเท่าตัวด้วยเช่นกัน
ความแตกต่างของโรงพยาบาลรัฐบาลและโรงพยาบาลเอกชน
• โรงพยาบาลเอกชนดำเนินการภายใต้บุคคลหรือหลายบุคคลร่วมกันจัดตั้งโรงพยาบาล ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐ ดำเนินการภายใต้กระทรวงสาธารณสุขโดยทุนและเงินของรัฐบาล
• ค่าบริการที่แตกต่างกัน โดยโรงพยาบาลเอกชนจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า
• เนื่องจากโรงพยาบาลรัฐส่วนใหญ่ให้บริการฟรี คิวสำหรับการผ่าตัดในผู้ป่วยบางรายหากไม่ได้เป็นเคสเร่งด่วน อาจรอนานหลายเดือน ในขณะที่ โรงพยาบาลเอกชน ไม่จำเป็นต้องรอนานเป็นเดือน สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้เร็วกว่า
• โรงพยาบาลเอกชน มักจะมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยที่ใช้งานได้นานกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่า โรงพยาบาลรัฐจะมีอุปกรณ์ที่ไม่ทันสมัย แต่เนื่องจาก จำนวนผู้เข้ามารับการรักษาในแต่ละวันมีจำนวนมาก ทำให้อุปกรณ์เหล่านั้นมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่า
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า อุตสาหกรรมหรือ ธุรกิจ “โรงพยาบาลเอกชน” ดูเหมือนจะเติบโตและขยายตัวทุกปี โดยสามารถกอบโกยรายได้จากค่ารักษาพยาบาลและบริการด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่ทาง รพ.เอกชน นำเสนอให้กับกลุ่มลูกค้าหรือประชาชนที่ประสงค์เข้ารับการรักษาอย่างเข้าถึงได้เป็นอย่างดี
จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ในประเทศไทยปัจจุบัน มีจำนวน รพ.เอกชน มากกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลขนาดกลาง ซึ่งช่วงวิกฤตโควิด-19 ราว ๆ ปี พ.ศ. 2563 (ปี 2020) รายได้ของ รพ.เอกชน แต่ละแห่งอาจจะสะดุดลงลงไปบ้าง เนื่องจากการปิดประเทศทั่วโลก ทำให้ยอดคนไข้หรือผู้ป่วยชาวต่างชาติหายไปจำนวนไม่น้อย แต่หลังจากสถานการณ์ค่อย ๆ ดีขึ้น ก็ดูเหมือนว่า รพ.เอกชน ก็จะฟื้นตัวและกลับมามีรายได้จากการรักษาและบริการทางด้านสุขภาพสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน
จากข้อมูลของ ttb analytics ระบุว่า ปี พ.ศ.2565 รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทย เติบโต 15% จากปี พ.ศ.2564 โดยมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 3.2 แสนล้านบาท โดยได้รับผลดีจากความต้องการทั้งตลาดคนไทย และชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักในประเทศไทย
รวมทั้ง ผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ สามารถดำเนินธุรกิจได้และแรงงานสามารถออกมาทำงานนอกบ้านได้ ทำให้เศรษฐกิจในประเทศทยอยฟื้นตัว ประชาชนที่เจ็บป่วยสามารถออกมาใช้บริการทางการแพทย์ได้ตามปกติ นอกจากนี้ ในตลาดคนไทย โรงพยาบาลเอกชนยังมีรายได้เพิ่มเติมจากการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่จนถึงขณะนี้อีกด้วย
ปัจจัยทำให้ รพ.เอกชน เติบโตและมีรายได้สูงขึ้น
• ชีวิตคนเปลี่ยนไป โรคระบาดรุนแรงขึ้น ผู้คนตระหนักและตื่นตัวเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้น หลังจากทั่วโลกเผชิญกับโควิดฯ ทำให้เจ็บป่วยเล็กน้อย ก็จะเข้ารักษาใน รพ.ทันที
• สิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ที่เข้าถึง รพ.เอกชน ได้มากขึ้น โดยเฉพาะ ประกันกลุ่ม, ประกันสุขภาพ ฯลฯ เมื่อประชาชนมีทางเลือกที่ดีกว่า ย่อมเข้ารับการรักษาใน รพ.เอกชน เป็นตัวเลือกแรก
• ตลาดคนไข้ขยายตัวมากขึ้น ทั้งกลุ่มมีสิทธิประกันสังคม และกลุ่มคนไข้ทั่วไปที่ใช้สิทธิรักษาผ่านนโยบายของรัฐบาล
• ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว ทำให้การรักษาผู้ป่วยสูงอายุซึ่งมีโรคภัยไข้เจ็บที่เยอะขึ้น ทำให้มีปริมาณการรักษามากขึ้น
• เมื่อประเทศเปิด กลับสู่ภาวะปกติ นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาท่องเที่ยวและพำนักในประเทศ จึงมีอัตราการรักษาพยาบาลในกลุ่มคนไข้และผู้ป่วยต่างชาติเพิ่มขึ้นด้วย
• การแข่งขันใน รพ.เอกชน ที่สูงขึ้น เช่น การขยายและสร้างโรงพยาบาล สาขาต่าง ๆ ในต่างจังหวัดที่ประชากรมีศักยภาพในการเข้ารักษา รพ.เอกชน ได้ เป็นต้น
• ต้นทุนค่ายา/วัคซีน/เวชภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศโดยส่วนใหญ่ รวมถึงค่าครองชีพ (ค่าบริการ, ค่าแรงหมอ/แพทย์/พยาบาล) ที่สูงขึ้น จึงทำให้คอร์สค่าใช้จ่ายในการรักษาต่อคนไข้แต่ละรายสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
• ธุรกิจ Healthcare หรือ การรักษาและตรวจสุขภาพ เข้าไปอยู่ในทุก ๆ ห่วงโซ่ธุรกิจ เช่น พนักงานบริษัทต้องมีการตรวจสุขภาพประจำปี / ฉีดวัคซีนไข้หวัดประจำปี จึงเป็นสิ่งที่บริษัท หรือหน่วยงานต้องจ่ายเพื่อดูแลพนักงาน ในมุมกลับกัน เป็นอีกรายได้ income เข้า รพ.เอกชน หรือสถานพยาบาลแต่ละสังกัด
• การพัฒนา แอปพลิเคชัน หรือ ระบบ Healthcare Platform Service หรือบริการตรวจสุขภาพออนไลน์ รูปแบบดิจิทัล โดยอยู่ที่บ้านก็พบแพทย์ได้ เป็นอีกหนึ่งบริการที่ รพ.เอกชน นำเสนอให้กับลูกค้า สะดวก รวดเร็ว เจ็บป่วยเล็กน้อย ไม่ต้องมา รพ.ก็ได้รับการรักษาตัวที่บ้านได้ง่าย ๆ
จากข้อมูลสรุปได้ถึงภาพรวมรายได้ของโรงพยาบาลเอกชน ในปี พ.ศ.2565 ปีที่ผ่านมา โดยธุรกิจ รพ.เอกชน ในไทยขยายตัว 42.5% YoY (Year on Year) โดยกลุ่มลูกค้าหลักที่มาใช้บริการยังเป็นกลุ่มคนไข้ชาวไทย และคาดการณ์ว่า เมื่อครบปี พ.ศ.2566 ธุรกิจ รพ.เอกชน จะขยายตัวต่อเนื่อง 19.8% จากปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการฟื้นตัวที่เด่นชัดขึ้นของ Medical Tourism
โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนไข้ชาวต่างชาติ จากอาเซียน จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง จะยังคงกลับมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนในไทย เนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพการรักษา ค่ารักษาพยาบาลและค่าครองชีพไม่สูงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน อีกทั้งมีมาตรฐานและบริการที่ดี
ทีนี้ เราลองมาดู 10 อันดับ รพ.เอกชน ชั้นนำในไทยในปี พ.ศ.2565 ที่ถูกเลือกว่า มีประชาชนเข้ารับการรักษามากที่สุด โดยใช้เกณฑ์ในการพิจารณา ตัวอย่างเช่น
• ความเชื่อมั่นทางการรักษา และความชำนาญการของแพทย์/บุคลากร
• ประสบการณ์และความพึงพอใจของผู้ป่วยในการรักษา
• ตัวชี้วัดประสิทธิภาพทางการแพทย์ของ รพ. เช่น คุณภาพการดูแลรักษาเฉพาะทาง, มาตรการด้านสุขอนามัย, ความปลอดภัยของผู้ป่วย และจำนวนผู้ป่วยต่อแพทย์และพยาบาล เป็นต้น
10 อันดับ รพ.เอกชน ที่คนไทยเชื่อมั่นและเข้าใช้บริการมากที่สุด (จัดอันดับปี พ.ศ.2565)
อันดับ 1. รพ.บำรุงราษฏร์ อินเตอร์ฯ (กรุงเทพฯ)
ครองอันดับที่ 1 ด้วยคะแนนประเมิน 94.7% เป็นโรงพยาบาลเอกชนอันดับ 1 ของประเทศไทย
– ที่ให้การดูแลรักษาด้วยความเอื้ออาทร ความสะดวกสบาย และการทำงานร่วมกันเป็นทีม
– สามารถให้บริการตรวจวินิจฉัย ส่งต่อแพทย์เฉพาะทาง และให้การรักษาภายในไม่กี่วัน
– ใช้นโยบายราคาเดียว (one-price-policy) กับผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยชาวไทยหรือผู้ป่วยชาวต่างชาติ มีระบบเทคโนโลยีและอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยอยู่เสมอ
– รพ.บำรุงราษฎร์ มีศักยภาพสูงและดีพอจะรอรับการบริการในกลุ่มผู้ใช้บริการจากนานาชาติ
– บุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรเกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรม มีความรู้ความเชี่ยวชาญในระดับสูง จึงไม่แปลกใจว่าทำไม รพ.บำรุงราษฎร์ ถึงได้ถูกยอมรับในระดับสากล
อันดับ 2. รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
ได้คะแนนประเมิน 90.24% (กรุงเทพฯ)
– โดยเป็นโรงพยาบาลที่มุ่งให้บริการทางการแพทย์เป็นเลิศ เพื่อนำประโยชน์คืนกลับสู่ศิริราชและสังคม
– มีความยอดเยี่ยมด้านการแพทย์ เทคโนโลยีและความรู้อย่างไรที่ติ
– มีปรัชญาการเป็นผู้รับและผู้ให้ โดยการนำรายได้ไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในโรงพยาบาลและกิจการอื่น ๆ รพ.ศิริราชจึงก้าวขึ้นมาเป็นโรงพยาบาลชั้นนำระดับแนวหน้าของเมืองไทย
อันดับ 3. รพ.กรุงเทพ
ได้คะแนนประเมิน 88.42% (กรุงเทพฯ)
– เป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในกลุ่มเครือข่ายโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
– ได้รับความไว้วางใจทั้งจากคนไทย และชาวต่างชาติเลือกใช้บริการตรวจวินิจฉัย รักษา และฟื้นฟูสุขภาพด้วยดีตลอดมา
– ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสถาบัน Joint Commission International (JCI) องค์กรกำกับมาตรฐานด้านการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก
อันดับ 4. รพ.รามาธิบดี
ได้คะแนนประเมิน 82.83% (กรุงเทพฯ)
– รพ.รามาธิบดี เป็นโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ที่อยู่ภายใต้การกำกับของมหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นเสาหลักของการสาธารณสุขในประเทศไทยที่ผลิตบุคลากรทางการแพทย์และความรู้ด้านการแพทย์มากมายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
อันดับ 5. รพ.สมิติเวช สุขุมวิท
ได้คะแนนประเมิน 82.82% (กรุงเทพฯ)
– โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเครือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ มีประวัติโดดเด่นด้านงานบริการและเทคโนโลยีในการรักษาที่ทันสมัย
– ได้รับรางวัลมากมายเกี่ยวกับการรับรองมาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาล มีเตียงรองรับผู้ป่วย 275 ราย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทุกๆ สาขากว่า 400 ท่าน
– มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและบุคคลากรผู้มากด้วยประสบการณ์ มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ และชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
– ภายในโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ยังมี Japanese Medical Center แยกเป็นสัดส่วน แบบ One – Stop –Service ในการดูแลคนญี่ปุ่น
อันดับ 6. รพ.ธนบุรี ได้คะแนนประเมิน 82.64% (กรุงเทพฯ)
อันดับ 7. รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้คะแนนประเมิน 82.64% (กรุงเทพฯ)
อันดับ 8. รพ.พระรามเก้า ได้คะแนนประเมิน 76.23% (กรุงเทพฯ)
อันดับ 9. รพ.บางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ได้คะแนนประเมิน 75.74% (กรุงเทพฯ)
อันดับ 10. รพ.เมดพาร์ค ได้คะแนนประเมิน 75.17% (กรุงเทพฯ)
แม้ขึ้นชื่อในเรื่องความสะดวกสบาย ความรวดเร็วในการให้บริการรักษาพยาบาล รวมถึงเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยก็ตาม แต่อย่างที่บอกว่า ต้องแลกมาด้วย ค่ารักษาพยาบาลที่สูงลิบ !
โดยเราได้รวบรวม อัตราค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชน ในปี 2566 ซึ่งเป็นโรคที่ประชาชนเข้ารับการรักษาบ่อย และเป็นกรณีที่ต้องนอนโรงพยาบาลเอกชน ไว้ให้เพื่อน ๆ ได้พิจารณาดังนี้ (เป็นข้อมูลการสำรวจจากกลุ่ม รพ.เอกชน ค่าใช้จริงอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ตามแต่วิธีการรักษาและจำนวนคืนที่นอนใน รพ.)
• โรคไข้หวัดใหญ่ อัตราค่ารักษา รพ.เอกชน เฉลี่ย 46,000 – 73,000 บาท
• โรคไข้เลือดออก อัตราค่ารักษา รพ.เอกชน เฉลี่ย 24,000 – 84,000 บาท
• โรคความดันโลหิตสูง อัตราค่ารักษา รพ.เอกชน เฉลี่ย 25,000 – 120,000 บาท
• โรคแผลในกระเพาะอาหาร อัตราค่ารักษา รพ.เอกชน เฉลี่ย 50,000 – 150,000 บาท
• ผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ อัตราค่ารักษา รพ.เอกชน เฉลี่ย 102,000 – 159,000 บาท
• ติดเชื้อโควิด-19 อัตราค่ารักษา รพ.เอกชน เฉลี่ย 100,000 – 200,000 บาท
สำหรับตัวเลขการรักษาใน รพ.เอกชน สามารถเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย วิธีการเข้ารับการรักษา และปัจจัยอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม เพื่อน ๆ ทุกคนหากเจ็บป่วยก็ควรรักษาตามที่ตนเองสะดวกที่สุด และตามงบประมาณของแต่ละคน โดย โรงพยาบาลรัฐ ปัจจุบัน ก็ยังคงเป็นที่พึ่งพิงสำหรับคนไทยที่มากที่สุด เพราะด้วยฐานะ และกำลังทรัพย์ในการรักษา จึงต้องใช้สิทธิการรักษาพื้นฐานต่าง ๆ ที่ภาครัฐช่วยหนุน เพื่อเข้ารับการษาตามที่กำลังทรัพย์ที่ตนเองไหว
โรคภัยไข้เจ็บ ไม่เลือกคน.. สามารถเกิดได้กับทุกคน เพราะฉะนั้น การรักษสุขภาพดูแลตัวเองให้แข็งแรงปกติอยู่เสมอ คือ สิ่งที่ดีที่สุด ไม่ต้องเสียเวลาไปพบแพทย์ ไม่ต้องเจ็บตัวเจาะเลือด/ฉีดยา และไม่ต้องเสียเงินเสียทอง หากไม่เจ็บป่วยรุนแรงหรือจำเป็นต้องเข้า รพ.จริง ๆ ขอให้ดูแลสุขภาพให้ดี เท่ากับ เซฟเงินในกระเป๋าคุณ ใช้ชีวิตให้อยู่ดีมีสุข ไม่มีสะดุดได้ต่อไป
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ
https://marketeeronline.co/archives/277802
https://www.bangkokbiznews.com/business/1003440
https://brandinside.asia/covid-19-impact-hospital-income/
https://aiaplanner.com/admit-cost/
https://www.tqm.co.th