“ธาอีส” สตาร์ทอัพคนไทย ชุบชีวิตเศษหนังไร้ค่า สู่เครื่องหนังรักษ์โลก


“ESG” กลายเป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์ที่ผู้ประกอบการธุรกิจทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญ และเริ่มนำมาปรับใช้อย่างจริงจังมากขึ้นในหลาย ๆ แบรนด์และองค์กร ภายใต้กรอบแนวคิดดังกล่าวของการทำธุรกิจ ประกอบด้วย..

 

• เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environment : E)
• มีส่วนช่วยสังคม และสังคมได้ประโยชน์ (Social : S)
• การกำกับดูแลกิจการให้มีธรรมาภิบาล (Governance : G)

 

ซึ่งการนำกรอบแนวคิด ESG มาพิจารณาในการดำเนินธุรกิจ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร ในฐานะองค์กรที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และยังช่วยเสริมความน่าเชื่อถือในสายตาของคู่ค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลูกค้า หรือนักลงทุน

เนื่องจากในการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานแนวคิด ESG จะมีกระบวนการตรวจสอบและกำกับดูแล โดยหน่วยงานมาตรฐานกลางหรือหน่วยงานภายนอก จึงเป็นการยืนยันความโปร่งใสอีกชั้นหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ การดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบ ESG ยังช่วยยกระดับผลิตภาพ (Productivity) ความสามารถในการแข่งขัน ผลประกอบการ และผลกำไรได้ด้วย

ปัจจุบัน มีธุรกิจSME ที่ตระหนัก ให้ความสำคัญ และดำเนินกิจการภายใต้กรอบดังกล่าว ซึ่งที่น่าสนใจมีอยู่จำนวนไม่น้อย

 

หนึ่งในนั้น คือ “THAIS” (ธาอีส) ผลิตภัณฑ์กระเป๋า/สัมภาระ ที่ผลิตจากวัสดุหนังเหลือใช้ ซึ่งถือเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพไทย ที่น่าจับตามองมาก ๆ ในชั่วโมงนี้

ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรม “ปลุกชีพเศษหนัง” ให้กลับมาใช้ประโยชน์ ได้เบ็ดเสร็จเป็นรายแรกของโลก ก่อประโยชน์ทั้งด้านเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

 

ข้อมูลธุรกิจ Thais Ecoleathers (ธาอีส)

บริษัท ธาอีส อิโคเลทเธอร์ จำกัด

วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง : 25 ก.ย. 2561

ทุนจดทะเบียน : 1 ล้านบาท

บริหารโดย : คุณพัณณ์ชิตา ธราดลศิริฐิติกุล และ คุณธันยวัฒน์ ทั่งตระกูล

 

ผลประกอบการ

ปี 2563
รายได้รวม : 1.3 ล้านบาท
กำไร : 40,033 บาท

ปี 2564
รายได้รวม : 5.8 ล้านบาท
กำไร : 9 แสนบาท

ปี 2565
รายได้รวม : 6.7 ล้านบาท
กำไร : 498,000 บาท

 

THAIS หรือ “ธาอีส” ก่อกำเนิดขึ้นจาก Pain point ที่ผู้บริหารทั้งสอง คือ “คุณพัณณ์ชิตา ธราดลศิริฐิติกุล” และ “คุณธันยวัฒน์ ทั่งตระกูล” มองหาคุณค่าของ ‘เศษหนัง’ ซึ่งเดิมทีเป็นของดีมีมูลค่าสูง แต่กลายเป็นขยะไร้ค่า ถูกทิ้งไว้เกลื่อนกลาดใน Cycle ของอุตสาหกรรมเครื่องหนัง

คุณธันยวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและพัฒนาแบรนด์ “ธาอีส อีโคเลทเธอร์” บอกว่า เริ่มต้นธุรกิจแปลงเศษวัสดุเครื่องหนังมาประมาณ 4 ปีแล้ว เพราะความหลงใหลในความคลาสสิคของเครื่องหนัง บวกกับการไม่อยากทนเห็นขยะเศษเครื่องหนังในโรงงานอุตสาหกรรมรองเท้าและอื่น ๆ ที่กองมหาศาลถูกโละทิ้งโดยแบบไร้ค่า มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท ต่อปี

โดยพบว่า ประเทศในแต่ละปี จะมีเศษหนังเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมสูงกว่า 10,000 ตันต่อปี ซึ่งหากกำจัดด้วยวิธีการเผา จะทำให้เกิดสารคาร์ซิโนเจน (Carcinogen) และสารไดออกซิน (Dioxins) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง หรือเมื่อนำไปฝังกลบก็จะกอให้เกิดก็วซคาร์บอนไดออกไซด์

 

ด้วยเหตุนี้ จึงต่อยอด R&D ในการหากระบวนการเพื่อรีไซเคิล ‘เศษหนัง’ ให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ซึ่ง “ธาอีส” ทำการทดลองจนสำเร็จเป็น Regenesis Process หรือ “นวัตกรรมรีไซเคิลเศษหนังที่จดสิทธิบัตรในเวลาต่อมา” ด้วยเพราะเป็นนวัตกรรมแรกที่ไม่ซ้ำแบบใคร

ซึ่ง “ธาอีส” คว้ารางวัลระดับโลกจาก UNIDO หรือองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งจะมอบรางวัลทุก ๆ 4 ปี จาก 12 ปีที่ผ่านมามีบริษัท 3 แห่งในโลกที่ได้รางวัลนี้ และ “ธาอีส” เป็นบริษัทไทยแห่งเดียวที่เป็นผู้ชนะ

นวัตกรรมของ THAIS สามารถรีไซเคิลเศษหนังให้นำกลับใช้ใหม่ได้ 100% ในกระบวนการรีไซเคิลใช้สารเคมี 0% ลดการใช้ไฟฟ้า 50% โดยนำไปแปรรูปเป็นสินค้าได้หลากหลาย เช่น กระเป๋า แผ่นหนังบุเฟอร์นิเจอร์ แผ่นรองจาน เคสใส่แก็ดเจ็ทหรือแม้กระทั่ง งานคราฟท์ งานแฟชั่น หรือเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านก็ผลิตได้ เพราะหนังนวัตกรรมนี้ มีลวดลายและสีสันแปลกตา ฯลฯ

ด้านการตลาด “ธาอีส” วางแผนทำตลาดแบบ B2B (Business-to-Business) โดยส่งออกแผ่นหนังรีไซเคิลให้ผู้ผลิตสินค้าเครื่องหนัง ในกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญต่อเทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อม อาศัยเปิดตลาดผ่านการออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ซึ่งได้ผลตอบรับอย่างดีมาก มีออเดอร์จากหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มตะวันออกกลาง โดยจำหน่ายได้มูลค่าสูงถึงแผ่นละ 700-1,400 บาท (ขนาด 50×55 ซม.)

 

จุดเปลี่ยนการทำธุรกิจ มาเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อโลกเจอกับวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบ ทำให้ “ธาอีส” ต้องหันมาให้ความสำคัญกับตลาด B2C (Business-to-Customer)

เริ่มต้นโดยนำแผ่นหนังรีไซเคิลมาทำสินค้าต่าง ๆ เพื่อขายลูกค้าในประเทศ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ แบ่งเป็นกลุ่มสินค้า เครื่องใช้ในบ้าน เช่น วอลอาร์ต แผ่นรองจาน รองแก้ว ฯลฯ กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น กระเป๋า สมุดโน้ต แก็ดเจ็ต ฯลฯ และกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ เช่น โซฟา เป็นต้น โดยเมีทีมออกแบบของตัวเอง และสินค้าแต่ละชิ้น มีจุดเด่นลวดลายและผิวสัมผัสที่มีเอกลักษณ์

สำหรับช่องทางตลาดในปัจจุบัน “ธาอีส” มีทั้งรับผลิตสินค้า ODM และ OEM ให้แก่ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์เนม และสินค้าพรีเมียมต่าง ๆ ควบคู่กับผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ “THAIS” ของตัวเอง

โดยช่องทางขาย ได้แก่ ร้านอีโคโทเปีย สยามดิสคัฟเวอรี่ และ ออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ www.thais-ecoleathers.com และแฟนเพจ : thais.ecoleathers เป็นต้น โดยเฉลี่ยมียอดรับซื้อเศษหนังประมาณ 1 ตันต่อเดือน และมีกำลังผลิตแปรรูปเป็นแหนังรีไซเคิลประมาณ 4 พันแผ่นต่อเดือน

 

 

สำหรับแผนธุรกิจในอนาคตทั้ง Short Term และ Long Term นั้น โดยผู้บริหารทั้งสอง คือ “คุณพัณณ์ชิตา ธราดลศิริฐิติกุล” และ “คุณธันยวัฒน์ ทั่งตระกูล” มองว่า ในระยะสั้น ต้องการขยายกำลังผลิต เพื่อรองรับตลาด B2B ที่เชื่อว่า ยังมีความต้องการอีกมาก

รวมถึง กำลังพัฒนารีไซเคิลเศษขยะจากวัสดุอื่น ๆ ไม่เฉพาะแค่เศษหนังเท่านั้น เพื่อให้ “ธาอีส อีโคเลทเธอร์” เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมรีไซเคิล รวมถึงเชื่อมโยงชุมชนเป็นแรงงานผลิต ช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เกิดประโยชน์ครบวงจร

 

ส่วนแผนระยะยาว ก็มีความต้องการที่จะขายลิขสิทธิ์นวัตกรรมรีไซเคิลให้แก่ประเทศที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมสูง ซึ่งด้วยแนวคิดดังกล่าว ย่อมสร้างประโยชน์ ทั้งเชิงเศรษฐกิจ ควบคู่กับแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม นับเป็นนวัตกรรมจากเอสเอ็มอีไทย ที่พร้อมจะก้าวไกลสร้างประโยชน์ระดับโลก

 

 

นับว่าเป็นอีกหนึ่งแบรนด์เอสเอ็มอีน้ำดี ที่คนไทยควรชื่นชนและภาคภูมิใจไปด้วยกัน เพราะ “ธาอีส อีโคเลทเธอร์” ได้ปูทางและวางรากฐานอย่างมั่นคงและชัดเจน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ในการมุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ, เศรษฐกิจหมุนเวียน และ เศรษฐกิจสีเขียว) การพัฒนาธุรกิจที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนจากฐานรากความเข้มแข็งของประเทศ และยังสอดคล้องกับแนวคิดล่าสุดของโลก ESG ด้วยเช่นกัน