เช็กชีพจร “ธุรกิจร้านหนังสือ” เมื่อโลกดิสรัปต์ วันนี้คุณยังเข้าร้านหนังสืออยู่ไหม ?


ทุกวันนี้ เพื่อน ๆ ยังเข้าร้านหนังสือกันอยู่ไหม ?

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ธุรกิจร้านขายและให้เช่าหนังสือ จากอดีตย้อนไปร่วมกว่า 10-20 ปี ที่แล้วเคยเฟื่องฟูมาก ๆ

ร้านหนังสือแบรนด์ดัง ๆ มีคนเข้าไปยืนอ่าน เลือกซื้อกันแน่นร้าน ไม่ว่าจะเป็น นายอินทร์ , ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ , บีทูเอส , เอเซียบุ๊คส, คิโนะคุนิยะ, ดอกหญ้า ฯลฯ

แตกต่างกับปัจจุบันนี้ที่เป็นยุค Digital Disruption เข้ามากวาดเหี้ยน ! หลาย ๆ ธุรกิจยุค ‘อนาล็อก’ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หรือไม่มากก็น้อย..

 

เช่นเดียวกับ ธุรกิจจำหน่ายและให้เช่าหนังสือ ที่ค่อย ๆ ล้มหายตายจาก ที่ยังเหลืออยู่ก็มีเปิดจำนวนไม่มาก ยอดขายไม่ดีดังเดิม ซึ่งจากเดิมที่เป็นธุรกิจ Mass Market กลายเป็นธุรกิจ Unique ซะอย่างงั้น..

อย่างไรก็ดี มีเพื่อน ๆ หลายคนที่เสียงแตก มีความเห็นต่าง.. บ้างก็ว่า ธุรกิจร้านหนังสือได้ตายลงไปตั้งนานแล้ว แต่ก็ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่มองว่า ร้านหนังสือ ไม่มีวันตายหรอก..?

ดูจากตัวอย่าง “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” ที่จัดขึ้นทุกปีสิ ! ก็ยังเห็นมีคนเดินเข้าชมงาน แห่กันซื้อหนังสือ วรรณกรรม นวนิยาย พ็อกเก็ตบุ๊ค ฯลฯ หิ้วกลับบ้านกันเยอะแยะ แต่แค่ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและวางกลยุทธ์ใหม่ ๆ ให้ดึงดูดลูกค้าเข้าร้านหนังสือก็เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งประเภทธุรกิจที่น่าสนใจ ที่ Smart SME จะขอพาทุกคนไป อัปเดต เช็กชีพจร “ธุรกิจร้านหนังสือ”กันสักหน่อยว่า.. เมื่อโลกดิสรัปต์ แล้วธุรกิจร้านหนังสือในปัจจุบัน เป็นอย่างไรกันบ้าง และมีกลยุทธ์อย่างไรบ้าง เพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ท่ามกลางเทรนด์และพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเช่นนี้

 

ก่อนอื่น มาอัปเดตภาพรวม ธุรกิจสิ่งพิมพ์ หรือ ตลาดหนังสือในประเทศไทยที่ผ่านมานั้น กันก่อน โดยในปี พ.ศ.2565 มูลค่าภาพรวมตลาดอุตสาหกรรมหนังสือลดลง เหลืออยู่ราว ๆ 12,500 ล้านบาท จากที่เคยมีมูลค่าสูงสุดแตะเกือบ 30,000 ล้านบาท เมื่อเทียบย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2557

โดยข้อมูลจาก สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เผยมูลค่าอุตสาหกรรมหนังสือ ในอดีตที่ผ่านมา ดังนี้

ปี 2557 มูลค่าอยู่ที่ 29,300 ล้านบาท
ปี 2558 มูลค่าอยู่ที่ 27,900 ล้านบาท
ปี 2559 มูลค่าอยู่ที่ 27,100 ล้านบาท
ปี 2560 มูลค่าอยู่ที่ 23,900 ล้านบาท
ปี 2561 มูลค่าอยู่ที่ 18,000 ล้านบาท
ปี 2562 มูลค่าอยู่ที่ 15,900 ล้านบาท *ช่วงสถานการณ์โควิดฯ
ปี 2563 มูลค่าอยู่ที่ 12,500 ล้านบาท *ช่วงสถานการณ์โควิดฯ
ปี 2564 มูลค่าอยู่ที่ 13,000 ล้านบาท *ช่วงสถานการณ์โควิดฯ
ปี 2565 มูลค่าอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท *ประเทศค่อย ๆ ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและโควิดฯ

 

ทิศทาง “คนอ่านหนังสือ” ในยุค New Normal

ในส่วน งานหนังสือระดับชาติที่เป็นอีเว้นท์ใหญ่ของคนรักหนังสือ อย่างเช่น “งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 (Book Expo Thailand 2022)” ที่จัดระหว่างวันที่ 12 – 23 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา ณ สถานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อีกครั้ง หลังปิดปรับปรุงไปตั้งแต่ปี 2562 ภาพรวม ต้องบอกว่า ได้รับกระแสตอบรับจากบรรดานักอ่านแบบไม่ขี้เหร่เลย

โดยจากข้อมูลมีระบุว่า มียอดผู้เข้าร่วมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 (ปี 2565) ประมาณ 1.5 ล้านคน สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท เทียบเคียบสถิติงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 26 (ปี 2564) สร้างยอดขายรวมมากกว่า 200 ล้าน

ซึ่งอย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า สื่อสิ่งพิมพ์ที่ถูกดิสรัปชั่นในยุคดิจิทัล กับสถานการณ์หลังโควิด-19 ส่งผลกระทบให้ร้านหนังสือจำนวนไม่น้อยที่ทยอยปิดตัว ขณะที่สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ปรับตัวขายออนไลน์มากขึ้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า รายได้ของคนทำหนังสือลดลง และโอกาสในการอยู่รอดยากจริง ๆ !!

 

• ถอยหลังไปประมาณ 15 ปีที่แล้ว คือปี พ.ศ.2551 ประเทศไทยมีร้านหนังสือทั่วประเทศไทยมากถึง 2,483 ร้าน

• แต่ในอีก 10 ปีต่อมา คือประมาณ ปี พ.ศ.2561 (ก่อนเกิดโควิดฯ) ร้านหนังสือลดลงอย่างน่าใจหาย เหลือเพียง 566 ร้าน

• แต่.. ในปี 2565 ร้านหนังสือกลับเพิ่มจำนวนขึ้นมาเล็กน้อยเป็น 800 ร้าน เรียกว่า สถานการณ์ดีขึ้นมาบ้าง

 

 

BIG 3 ! อัปเดตแบรนด์ร้านหนังสือดังในปัจจุบัน

ร้านหนังสือ BIG 3 !! รายใหญ่ที่หลายคนรู้จักดี ได้แก่ ร้านนายอินทร์ , ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ , บีทูเอส ก็มีรายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน อันเนื่องมาจาก ยุค Digital Disruption และผลกระทบจาก COVID-19

• ร้าน SE-ED (ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์) ก่อตั้งปี พ.ศ.2517 (ปี 1974) ปัจจุบันจำนวนสาขาลดเหลือ 324 สาขา (จากที่ 10 ก่อน มีจำนวนกว่า 450 สาขาทั่วประเทศ)

 

• ร้านนายอินทร์ ของเครือ AMARIN ก่อตั้งปี พ.ศ.2536 ปัจจุบันจำนวนสาขาลดเหลือ 145 สาขา (จากที่ยุคหนึ่งเคยมีมากกว่า 200 สาขา)

 

• ร้าน B2S (บีทูเอส) ในเครือเซ็นทรัลฯ ก่อตั้งปี พ.ศ.2538 ซึ่งค่อนข้างสวนทางกับร้านหนังสือค่ายอื่น ๆ เพราะปัจจุบันมีจำนวนสาขาเพิ่มเป็น 114 สาขา จากที่เคยมีราว 80 สาขา เหตุเพราะ อาจเพราะหนังสือเป็นเพียงหนึ่งในสินค้า ร่วมกับผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนและของใช้ในสำนักงานด้วย ตลอดจน เป็นร้านหนังสือ-เครื่องเขียน ในเครือเซ็นทรัลฯ อยู่แล้ว จึงมีงบทำการตลาดและบริหารจัดการธุรกิจได้แข็งแรง

 

สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ร้านขายหนังสือ/ร้านเช่าหนังสือ ค่อย ๆ ถูก “ดิสรัปต์” เลือนหายไป

– การมาของ “อินเตอร์เน็ต” ทำให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคน ที่ทั้งเร็ว แรง ฉับไว ทำให้คนเข้าไปอ่านข้อมูลได้ผ่านการรีวิวเนื้อหาต่าง ๆ ได้อย่างทันสมัย ไม่จำเป็นต้องซื้อหรือเช่าหนังสือ

การกำเนิดของ E-Book และแอปพลิเคชันอ่านหนังสืออนไลน์ เช่น OOKBEE , Jamsai e-Book ฯลฯ ที่สามารถดาวน์โหลดให้อ่านฟรีได้ ทำให้คนไม่ซื้อหนังสือ

 

 

ธุรกิจร้านหนังสือ จะกอบกู้วิกฤต กลับมาขายได้หรือไม่ ?

คำตอบอาจจะเป็น ‘นามธรรม’ มากกว่า ‘รูปธรรม’ โดยทางทฤษฎี ก็เป็นไปได้ แต่ต้องอาศัยการปฏิบัติในหลาย ๆ ภาคส่วนอย่างบูรณาการด้วย

กล่าวคือ “หนังสือ” ยังคงเป็น 1 ใน 8 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐเร่งสนับสนุน ได้แก่ 1.ภาพยนตร์ , 2.ศิลปะ , 3.หนังสือ , 4.อาหาร , 5.ดนตรี เฟสติวัล , 6.ท่องเที่ยว , 7.กีฬา และ 8.แฟชั่น

โดย หนังสือสามารถเป็นพลัง Soft Power ได้ กล่าวคือ เรามักจะเห็นหนังสือที่มีเนื้อหาที่มีคุณภาพ มีคนติดตามจำนวนมาก หลาย ๆ เรื่อง หลาย ๆ บทประพันธ์ ถูกนำมาปัดฝุ่น ต่อยอดเป็นละคร ซีรีย์ หรือผลิตเป็นภาพยนตร์ และยังควรค่าแก่การหาซื้อต้นฉบับเพื่อเก็บสะสมอีกด้วย

เปรียบเทียบได้กับ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือเพลง ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยเล็งเห็นมูลค่าดังกล่าว จึงต้องการที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมหนังสืออย่างเต็มที่ เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนให้วงการหนังสือเป็น Soft Power ของไทย

 

ตัวอย่างหนังสือ/นิยายทรงคุณค่า สร้างมูลค่า Soft Power ด้านประวัตศาสตร์-วัฒนธรรม-การท่องเที่ยว สู่จอแก้ว..กลายเป็นละครสุดปัง !

– บุพเพสันนิวาส (นามปากกา : รอมแพง )

– พรหมลิขิต (Love Destiny 2)

– บ่วงบรรจถรณ์ (นามปากกา : กีรตี ชนา )

– สี่หัวใจแห่งขุนเขา

– อย่าลืมฉัน (นามปากกา : ทมยันตี )

 

เสน่ห์ของการเดินเข้าร้านหนังสือ ที่ ‘ออนไลน์’ ให้เราไม่ได้

• ร้านหนังสือเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการนัดพบ และรอเพื่อน เพราะบรรยากาศภายในร้าน มักจะเป็นเพลงบรรเลงสบาย ๆ เพื่อนคนไหนที่มาก่อนเวลา ก็เดินเลือกชมหนังสือ อ่านฆ่าเวลาไปพลาง ๆ ด้วยเสียงเพลงบรรเลงภายในร้าน ทำให้รู้สึกชิลล์ ทำให้เวลาที่ต้องรอคอยเพื่อน ๆ เป็นเวลาที่ไม่เบื่อหน่าย ไม่รู้สึกหงุดหงิดด้วยนะ

• การไปร้านหนังสือ เดินอ่านหนังสือนั่นโน่นนี่ เป็นวิธีที่เราสามารถเติมสาระให้กับชีวิต ที่สร้างความบันเทิงแบบเบา ๆ ได้ดีมาก ๆ แถมยังทำให้ตัวเองดูดี ดูมีคุณค่า

 

จริง ๆ แล้ว.. ความหวังของธุรกิจร้านหนังสือ ดูเหมือนว่า ยังไปต่อได้ แม้อาจไม่หวือหวา แต่คงไม่มีวันตายแน่นอน หากผู้ประกอบการรู้จักปรับตัว ปรับเปลี่ยน เพิ่มช่องทางจำหน่ายและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าหลัก ๆ อย่างรวดเร็ว และตรงใจคนอ่าน

ยกตัวอย่าง บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเติบโตในส่วนของธุรกิจการพิมพ์ สวนกระแส ยุค Digital Disruption โดยผลประกอบการ ในไตรมาส 1/2565 มีรายได้รวม 998,639,000 บาท

ทั้งนี้ รายได้ของ “อมรินทร์” ส่วนใหญ่มาจาก..

• ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ อยู่ที่ 572,047,000 บาท

• ธุรกิจสื่อโทรทัศน์ มีรายได้ 351,104,000 บาท

• ธุรกิจจัดแสดงงานและสื่อออนไลน์ มีรายได้ 204,429,000 บาท

 

บทสรุป สำหรับเชนธุรกิจร้านจำหน่ายหนังสือ คงไม่ถึงกับตายหรือหายไปจากโลกใบนี้อย่างแน่นอน เพราะหนังสือถือเป็นคลังปัญญา เป็น Data อีกรูปแบบหนึ่ง และเป็น Heritage ที่สามารถหยิบขึ้นมาเติมความรู้ได้ตลอดเวลา

หากแต่ ‘คนที่ตาย’ น่าจะหมายถึง ‘ผู้ประกอบการ’ เสียมากกว่า ซึ่งถ้ายังไม่ปรับตัว ผลลัพธ์แน่นอนว่า คุณจะถูกโลกค่อย ๆ หมุนและดูดกลืนจนหายไปเอง

 

เพราะฉะนั้น หากต้องการดำเนินธุรกิจต่อไป คงต้องอาศัยกลยุทธ์หลาย ๆ อย่างเข้าช่วย เพื่อกระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้าเข้ามาซื้อหนังสือในร้านอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นทางรอดของร้านหนังสือในยุคเทคโนโลยีพลิกผัน ด้วยกลยุทธ์คืนชีพ-ต่อลมหายใจร้านหนังสือ ดังต่อไปนี้

 

1. เปลี่ยนภาพลักษณ์ร้านขายหนังสือให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ หรือพื้นที่ทางความคิดและสร้างแรงบันดาลใจ โดยจัดการพื้นที่ให้มีความหลากหลายสอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าและสามารถใช้สอยได้สารพัดประโยชน์ เช่น นั่งอ่านหนังสือ นั่งทำงาน ใช้อินเทอร์เน็ต ชมนิทรรศการ เล่นและเรียนรู้

2. จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการอ่านที่ทำให้เกิดบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาและก่อให้เกิดประสบการณ์ใหม่ ๆ แก่นักอ่าน เช่น จัดงานเปิดตัวหนังสือ พบปะนักเขียน จัดกิจกรรมศิลปะ และเวิร์คช็อปต่าง ๆ

3. นำเทคโนโลยีมาใช้กับการขายและการตลาดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ระบบการค้นหาและสั่งซื้อหนังสือออนไลน์ บริการจัดซื้อหนังสือจากทั่วโลก เพิ่มไลน์สินค้าอีบุ๊ค สื่อสารกับลูกค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย