“สิงห์-ช้าง-คาราบาว” เมื่อ 3 ยักษ์ใหญ่ต้องลงสังเวียนธุรกิจ “เบียร์” อันดุเดือด


“เบียร์” ถือเป็นอีกเครื่องดื่มยอดนิยมของผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะคนไทยที่มีการบริโภคที่ไม่เป็นสองรองใครเช่นกัน อ้างอิงจากการวิจัย World Beer Index 2021 พบว่าคนไทยดื่มเบียร์คนละ 142 ขวดใน 1 ปี คิดเป็นเงินที่ต้องใช้จ่ายส่วนนี้ประมาณ 21,093 บาทต่อปี ซึ่งมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

หากมองในมุมธุรกิจแล้วนี่เป็นตลาดที่ใหญ่มาก และมีโอกาสรออยู่มากมายที่จะสร้างรายได้ไปเรื่อย ๆ แบบไม่มีวันสิ้นสุดตราบใดยังมีผู้บริโภคที่เป็นคอนักดื่มอย่างเหนียวแน่นแบบนี้ หรือมองอีกอย่างหนึ่งหากยังมีคนซื้อ สินค้าก็ยังคงขายได้

แม้ตลาดเบียร์จะมีมูลค่าสูงถึง 2.6 แสนล้านบาท แต่ธุรกิจนี้ต้องใช้เงินลงทุนอยู่พอสมควร และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของภาครัฐฯ ตามที่กำหนด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากเราจะเห็นแบรนด์ผู้ผลิตเบียร์ในประเทศไทยเพียงไม่กี่รายเท่านั้น

เรามาย้อนถึงผู้เล่นหน้าเก่าที่อยู่ในตลาดเบียร์มาก่อน และทั้งคู่ก็แข่งขันในธุรกิจดุเดือดเรื่อยมา นั่นคือ “เบียร์ช้าง” ภายใต้เครือของไทยเบฟ โดยมีจุดเริ่มต้นขึ้นจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่มองเห็นโอกาสขยายตลาดเบียร์รสชาติคนไทยให้มีคุณภาพด้วยความเชื่อมั่นในฝีมือคนไทยว่าสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ ซึ่งเบียร์ช้างขวดแรกผลิตเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 4 เม.ย.2537 และวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มี.ค.2538

ขณะคู่แข่งอีกฟากหนึ่งอย่าง “เบียร์สิงห์” ภายใต้การบริหารของกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ ที่จุดเริ่มต้นต้องย้อนกลับไปช่วงพ.ศ.2476 ซึ่งเป็นเวลาที่การดื่มเบียร์ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ แต่เบียร์ส่วนใหญ่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ จึงทำให้พระยาภิรมย์ภักดีสร้างโรงงานผลิตเบียร์สัญชาติไทยขึ้นมาแทน

แม้ว่า “เบียร์สิงห์” จะก่อตั้งทำธุรกิจมาก่อน “เบียร์ช้าง” แต่เมื่อลงสนามจริงแล้วไม่มีใครยอมใครแน่นอน ใครจะมาก่อน-มาหลังไม่สำคัญ แต่อยู่ที่ว่าแบรนด์จะมีกลยุทธ์อย่างไรที่จะเอาชนะใจผู้บริโภคได้ต่างหาก โดยวิธีการของ “เบียร์ช้าง” ที่เด่นชัดในการทำการตลาดคือ การซื้อเหล้าพ่วงเบียร์ ซึ่งเรื่องนี้ต้องมาทำความเข้าใจกันว่า ก่อนที่ “ไทยเบฟ” จะมาผลิตเบียร์ช้าง พวกเขาผลิตเหล้ามาก่อน แบรนด์ที่รู้จักกันดี เช่น แม่โขง, แสงโสม, Blend 285 เมื่อมาทำธุรกิจเบียร์จึงดึงสิ่งที่มีอยู่เข้ามาประยุกต์ใช้ร่วมกัน เพราะยังไงก็ต้องส่งเครื่องดื่มทั้งคู่ไปอยู่แล้ว แถมยังให้ราคาที่ถูกกว่าด้วย นั่นทำให้เมื่อร้านค้าเห็นข้อเสนอนี้จึงไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะเหล้า และเบียร์เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลำดับต้น ๆ ที่คอนักดื่มชื่นชอบอยู่แล้ว นี่จึงเป็นวิธีทำให้ “เบียร์ช้าง” ตีตลาดชิงส่วนแบ่งจาก “เบียร์สิงห์” กระจาย แม้จะเป็นผู้มาทีหลังก็ตาม

ด้าน “เบียร์สิงห์” ก็ไม่ยอมเช่นกัน ด้วยความเป็นแบรนด์เก่าแก่อยู่มานานทำให้ต้องมีการปรับภาพลักษณ์ของสินค้าให้มีความทันสมัยมากขึ้น ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป กรณีศึกษาที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ “เบียร์ลีโอ” ที่เป็นสินค้าภายใต้ บุญรอดบริวเวอรี่ที่ปรับลุค ปรับรสชาติ รวมถึงการโฆษณาที่ดึงคนรุ่นใหม่มาเป็นพรีเซนเตอร์เจาะกลุ่มคนอายุน้อย-วัยทำงาน

หากพูดถึงเรื่องการแข่งขันแล้ว ทั้งคู่ขับเคี่ยวกันมาโดยตลอด มีขึ้น มีลง แย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดไปมา เมื่อมาดูรายได้ของทั้งสองแบรนด์ พบว่า ธุรกิจเบียร์ช้างมีรายได้อยู่ที่ 122,489 ล้านบาท (ณ ต.ค.64-ก.ย.65) ส่วนธุรกิจเบียร์สิงห์มีรายได้อยู่ที่ 78,634 ล้านบาท

 

คาราบาวผู้เล่นหน้าใหม่ที่ขอท้าชิง

ปัจจุบันมีผู้เล่นหน้าใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งราย นั่นคือ เบียร์คาราบาว ภายใต้การบริหาร “คาราบาวกรุ๊ป” ที่ทุ่มเงิน 4,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตเบียร์ และได้ฤกษ์เปิดตัวเบียร์ของตัวเองเป็นที่เรียบร้อย โดยแบ่งเป็น 2 แบรนด์ คือ 1.แบรนด์คาราบาว 2 รสชาติ ได้แก่ Lager Beer กับ Dunkel Beer 2.แบรนด์ตะวันแดง 3 รสชาติ ได้แก่ Weizen Beer, Rose Beer และ IPA Beer

“คาราบาว” ตั้งเป้าเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่อันดับ 3 ของไทย พร้อมครองตลาดภายในประเทศให้ได้ 10% ในปี 2024 และเพิ่มเป็น 20% ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ผ่านกลยุทธ์ที่เบียร์ต้องมีรสชาติดี มีคุณภาพระดับโลก ราคาเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย รวมถึงลงแข่งในทุกตลาดของเบียร์แบบไม่กลัวใคร เพราะมั่นใจในศักยภาพที่มี

นอกจากนี้ ด้วยความเป็นแบรนด์ใหม่ในธุรกิจเบียร์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรที่จะทำให้สินค้าเป็นที่รู้จัก ซึ่ง “เบียร์คาราบาว” เตรียมจัดกิจกรรมทางการตลาด โดยที่ผ่านมาก็คือการใช้แคมเปญ Sport Marketing ต่อสัญญาฟุตบอลถ้วยคาราบาวคัพของอังกฤษออกไป

สุดท้ายช่องทางจำหน่ายสินค้าเป็นเรื่องสำคัญ แต่เรื่องนี้ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะกลุ่มคาราบาวกรุ๊ป มีร้านสะดวกซื้ออยู่ในมืออยู่แล้วทั้ง CJ Express กับร้านถูกดีมีมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยเข้ามาเติมเต็มเรื่องของช่องทางการขายได้เป็นอย่างดี

เมื่อพูดถึงการแข่งขันในเชิงธุรกิจที่ดี คือการมีตัวเลือกในตลาดนั้นที่มีความหลากหลาย เพราะเมื่อมีก็ย่อมแข่งขันกันด้วยคุณภาพ สร้างจุดเด่น มีเอกลักษณ์ของแต่ละแบรนด์ ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย หรือลูกค้า สุดท้ายไม่ใช่เราที่ปวดหัว แต่กลับเป็นประโยชน์เสียอีกที่มีตัวเลือกมากขึ้น หากจะปวดหัวคงปวดหัวว่าจะเลือกดื่มแบรนด์ไหนดีมากกว่า

ที่มา: thaibevsinghacorporationforbesthailand

เรื่องที่เกี่ยวข้อง