Caviar แอปฯ ส่งอาหารเดลิเวอรี่หมื่นล้านจากการรวมตัวของเพื่อนสนิท


ถ้าไม่ใช่พี่น้อง ตอนนี้ Shawn Tsao น่าจะเป็นสถาปนิกไปแล้ว แต่เขาเลือกที่จะก่อตั้งบริษัทจัดส่งอาหารที่มีมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 14,000 ล้านบาท)

Tsao เปิดตัวบริษัทชื่อว่า Caviar ร่วมกับเพื่อนสนิท 4 คน จากมหาวิทยาลัย California, Berkeley ในปี 2012 โดยพวกเขาโน้มน้าวให้ร้านอาหารในซานฟรานซิสโกยอมรับกับการให้บริการแบบจัดส่งออนไลน์ และขยายไปสู่เมืองใหญ่ ๆ อีก 7 แห่งในสหรัฐฯ ก่อนที่จะขาย Caviar ให้กับ Square แพลตฟอร์มชำระเงินของ Jack Dorsey ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ Block

 

 

อีก 5 ปี ต่อมา Square ขาย Caviar ให้กับคู่แข่งอย่าง DoorDash คิดเป็นมูลค่า 410 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กรณีของ Caviar ถือว่าน่าสนใจอยู่ไม่ใช่น้อยกับการสร้างธุรกิจจนมีมูลค่าหลายหมื่นล้าน โดยเส้นทางจุดเริ่มต้นของพวกเขาแทบไม่มีอะไรเลยนอกจากความตรงไปตรงมา ซึ่งไอเดียแรกเกิดจากแรงบันดาลใจที่ได้รับจากแอปฯ Groupon ที่เป็นแอปฯ ที่ใช้สังคมออนไลน์เข้ามาช่วยให้เกิดการรวมตัวของคนที่สนใจสินค้า และบริการลักษณะเดียวกัน ผ่านความชอบเกี่ยวกับอาหาร

ไอเดียนี้ของ Tsao และกลุ่มเพื่อน พังทลายลงแบบไม่เป็นท่า และนั่งคิดหนักกันอยู่นานว่าจะเอาอย่างไรต่อดี จะพอกันแค่นี้ดีหรือไม่ สุดท้าย หลังกระดกเบียร์ไป 2 ขวด ก็ได้ตัดสินใจว่าจะเดินหน้ากันต่อในรูปแบบของสตาร์ทอัพ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ

 

 

แม้ว่า Tsao จะเรียนจบด้านสถาปัตยกรรม และการออกแบบที่ยั่งยืน แต่อีกมุมหนึ่งเจ้าตัวอยากทำงานร่วมกับเพื่อนทั้ง 4 คน ได้แก่ Abel Lin, Andy Zhang, Richard Din และ Jason Wang อย่างที่กล่าวไปว่าการเริ่มต้นทำธุรกิจในช่วงแรกภายใต้ชื่อว่า “Munch on Me” ที่มีลักษณะคล้ายกับ Groupon ต้องพบกลับอุปสรรคมากมาย พร้อมมีสัญญาณว่าบริษัทของพวกเขากำลังไปไม่รอด ไม่ใช่แค่นั้น ยังมีเงินในธนาคารแค่ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น

หลังจากขายข้อมูลของ “Munch on Me” ให้กับสตาร์ทอัพรายอื่น พวกเขาแทบไม่ได้อะไรเลย และต้องให้เวลากับตัวเอง 6 เดือนในการหาทิศทางใหม่ โดยขณะเขียนไอเดียบนกระดานไวท์บอร์ด Tsao ก็เกิดอาการหิวขึ้นมา ซึ่งหวังว่าจะได้รับแซนด์วิชสุดโปรดจากร้าน Ike’s Place ที่อยู่ที่อีกฟากของเมืองโดยไม่ต้องออกจากบ้าน
“ผมโอเค และเราสามารถทำได้ การสร้าง Groupon เพื่อเป็นอาหารไม่ได้ผล ดังนั้น เรามาเป็น Uber เพื่อส่งอาหารกันเถอะ” Tsao กล่าว

บอกให้รู้ก่อนว่า ขณะนั้น แอปฯ ส่งอาหารที่เราคุ้นชินชื่อยังไม่เกิดขึ้น โดยโมเดลธุรกิจของ Caviar จะโฟกัสไปที่การดูแลจัดการรายการที่ยอดเยี่ยม, ดูร้านอาหารที่น่าพึงพอใจแต่ยังไม่มีการจัดส่งแบบเดลิเวอรี ซึ่ง Caviar จะจัดหากลุ่มพนักงานส่งอาหารเพื่อรับออเดอร์ไปส่งกับลูกค้า

“เราตระหนักได้ว่า ถ้าเซ็นกับร้านเบอร์เกอร์ที่ดีที่สุด หรือทาโก้ที่ดีที่สุดในละแวกนั้น ก็จะทำให้ผู้คนพูดถึงเราทางอ้อม และพวกเขาจะพูดว่า พิซซ่า Little Star มีบริการส่งแล้ว และคนจะเข้าไปที่เว็บไซต์ที่ลิงก์ย้อนกลับมาหาเรา” Tsao กล่าว

อีกหนึ่งประโยชน์ที่มากที่สุดเรื่องหนึ่ง คือการทำการตลาดแบบไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะงานด้านการตลาดทั้งหมดทำโดยร้านอาหารเอง ต่อมาธุรกิจได้รับเงินสนับสนุนมากขึ้น และมีคนสนใจที่จะขอซื้อธุรกิจนี้ต่อ ซึ่งสุดท้ายเป็น Square ได้ไป

Tsao บอกว่า Square มีความสามารถที่จะนำ Caviar ไปสู่จุดสูงสุดกว่าที่เป็นอยู่นี้ได้เร็วกว่าที่พวกเขากำลังทำอยู่ โดยหนึ่งคำมั่นสัญญา คือจะนำวิศวกรที่เก่งที่สุด 20 คนมาที่ทีม Caviar ข้อเสนอนี้ยากที่จะปฏิเสธ เพราะเรารู้ว่านั่นจะเป็นทิศทางที่ดีที่สุดสำหรับบริษัท

ในปี 2021 Caviar เพิ่มปริมาณการสั่งซื้อเป็น 3 เท่า และเพิ่มจำนวนพนักงานเป็น 2 เท่า พร้อมทั้งเปิดตัวบริการในอีกหลายเมือง

แน่นอนว่าเรื่องราวของ Caviar ถือว่าเป็นกรณีศึกษาของคนทำธุรกิจได้เป็นอย่างดี จากจุดเริ่มต้นที่ล้มเหลวจนมาค้นพบกับโอกาสที่อยู่ใกล้ตัวจนกลายเป็นบริการจัดส่งอาหารแบบเดลิเวอรีรายแรก ๆ เมื่อธุรกิจตอบโจทย์พฤติกรรมของลูกค้า มูลค่าก็เพิ่มขึ้นตาม สุดท้ายก็มีบริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาซื้อกิจการ คนที่คิดไอเดียนี้ได้รับเงินจากการขาย สามารถนำไปลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ ที่น่าสนใจ หรือเปิดธุรกิจที่อยากทำได้อีก ตลอดจนทำตามความฝันของตัวเอง

เส้นทางของ Caviar น่าจะเป็นเรื่องราวในฝันของผู้ประกอบการที่อยากจะให้เป็น

ที่มา: trycaviarcnbcpymnts