EXIM BANK หนุน SMEs ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต ผลักดันตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตของไทยคึกคัก


ประเทศไทยได้ให้การรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติในปี 2558 เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาระดับประเทศและประชาคมโลกให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยได้ให้สัตยาบันต่อความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปีต่อมา และลงนามในสัตยาบันต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 40 ภายในปี 2573 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608

 

 

การไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจสู่ชั้นบรรยากาศโลกเพื่อบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยและของโลก ทำให้หลายประเทศออกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ทำให้สินค้านำเข้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าที่ผลิตภายในสหภาพยุโรป (EU) ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ต้องรายงานข้อมูลการปล่อยคาร์บอนตามที่กำหนด โดยจะบังคับใช้เต็มรูปแบบในเดือนมกราคม 2569 ซึ่งสินค้านำเข้าจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมตามปริมาณส่วนต่างคาร์บอนที่ปล่อย

 

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK มุ่งสู่การเป็น Green Development Bank จึงได้พยายามสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance : ESG) เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวรับมาตรการเข้มงวดทางด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สนับสนุนการปรับกระบวนการทำงานทั้งด้านการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การตลาดและการจัดจำหน่ายให้เป็นไปตามกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและที่ไม่ใช่การเงิน ได้แก่ การให้ความรู้และผลักดันให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต และการสนับสนุนให้เกิดกระดานซื้อขาย เพื่อนำไปหักกลบ (Offset) กับก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อย ทำให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน ควบคู่กับการสานพลังกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชนเพื่อนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรและประเทศไทยได้ตามเป้าหมาย

EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับอนุมัติโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) แบบแผนงาน (Programme of Activities : PoA) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) (อบก.) รองรับการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หลายโครงการ จำนวน 60,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือประมาณ 80 เมกะวัตต์ ระยะเวลาโครงการทั้งสิ้น 14 ปี ซึ่ง EXIM BANK ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs หรือโครงการขนาดเล็กที่ไม่มีความคุ้มค่าในการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต สามารถขอขึ้นทะเบียนเพื่อรับผลประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตเพิ่มเติม โดย EXIM BANK เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียน และแบ่งปันคาร์บอนเครดิตระหว่างกัน ซึ่งส่วนแบ่งคาร์บอนเครดิตที่ EXIM BANK ได้รับจากโครงการนี้จะนำไปชดเชยกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของ EXIM BANK เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

ดร.รักษ์ กล่าวต่อไปว่า EXIM BANK มีความเป็นห่วงผู้ประกอบการ SMEs ที่อาจปรับตัวได้ไม่ทันเนื่องจากขาดความพร้อมทั้งบุคลากรและเงินทุน ปัญหาของคนตัวเล็กในขณะนี้ คือ ก่อนจะปรับตัวจะต้องรู้ก่อนว่าธุรกิจของตัวเองมี Carbon Footprint คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมทั้งหมดเท่าไหร่ คนที่จะมาประเมินต้องใช้หน่วยงานกลางซึ่งยังมีจำนวนไม่มาก และมีค่าใช้จ่ายสูง

“เรามีแผนจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดโครงการให้ความรู้และคำแนะนำในการประเมินการปล่อย Carbon Footprint ให้แก่คนตัวเล็กโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นพันธกิจของ EXIM BANK ในบทบาทของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย และประกาศเจตนารมณ์สู่การเป็น Green Development Bank มีเป้าหมายชัดเจนที่จะผลักดันให้เกิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ESG ทำให้ธุรกิจของผู้ประกอบการไทยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” ดร.รักษ์ กล่าว

ดังนั้น EXIM BANK จึงออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สนับสนุนการลงทุนติดตั้ง Solar Rooftop พร้อมขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตยกระดับมาตรฐานธุรกิจไทยด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มี Supply Chain และได้สนับสนุนผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs ขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ T-VER PoA เพื่อผลักดันตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย โดยได้นำร่องลงนามในสัญญากับบริษัท คอทโก้เมททอลเวอร์คส จำกัด (มหาชน) เป็นรายแรก เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566

 

 

 

นายวรพจน์ เพียรอภิธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอทโก้เมททอลเวอร์คส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับ EXIM BANK ถือว่ามีประโยชน์มาก ช่วยลดต้นทุนค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียน น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการสนใจในเรื่องการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตมากขึ้น และ EXIM BANK ได้ช่วยเหลือในเรื่องการให้ความรู้ว่ามีโครงการใหม่ ๆ อะไรบ้าง และมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในเรื่อง Green Economy มานำเสนอผู้ประกอบการสม่ำเสมอ

“บริษัทเป็น Supply Chain ของกลุ่มสหวิริยาสตีลอินดัสตรี ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ ทางสหวิริยาฯ มีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยจัดการและคำนวณคาร์บอนเครดิตว่าในกระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนเท่าไร บริษัทควรปรับกระบวนการทุกขั้นตอนให้ลดคาร์บอน เช่น การเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนอย่าง Solar Rooftop การปลูกป่า ปลูกต้นไม้ และหากปล่อยก๊าซคาร์บอนได้น้อยก็สามารถที่จะขายคาร์บอนเครดิตที่เรามีเหลือหลังจากใช้ Offset ภายในกิจการได้” นายวรพจน์ กล่าว

นายวรพจน์ กล่าวต่อไปว่า บริษัทส่งสินค้าไปขายในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ยังไม่ได้ส่งไปขายใน EU จึงไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการ CBAM แต่การที่อยู่ใน Supply Chain ของผู้ประกอบการรายใหญ่ก็จำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้พร้อมไม่ให้หลุดไปจากห่วงโซ่การผลิต

 

 

อย่างไรก็ดี การคำนวณคาร์บอนเครดิตสำหรับผู้ประกอบการ SMEs เป็นเรื่องที่ยากมาก จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐทั้งหมดช่วยกันบูรณาการความร่วมมือให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยในการคำนวณคาร์บอนเครดิตเพื่อจะได้รู้ว่ากิจการมีการสร้างคาร์บอนมากน้อยแค่ไหน เพื่อปรับตัวและแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และเมื่อ SMEs มีความรู้มากขึ้นแล้วก็จะเข้ามาจดทะเบียนคาร์บอนเครดิตมากขึ้น
สำหรับคาร์บอนเครดิต เป็นสิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการที่บุคคลหรือองค์กรได้ดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิทธิดังกล่าวนี้สามารถวัดปริมาณ ตรวจสอบผล และรับรองคาร์บอนเครดิต โดยสามารถนำไปซื้อขายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ หากจะให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ก๊าซต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก (เทียบเท่าจำนวนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) ที่แต่ละองค์กรสามารถลดได้ สามารถคิดเป็นคาร์บอนเครดิตและสามารถขายเครดิตให้กับองค์กรอื่นได้

 

 

ดร.รักษ์ กล่าวต่อไปว่า EXIM BANK มีหมุดหมายที่ชัดเจนว่า พร้อมที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนแปลง โดยใช้กลยุทธ์เติมความรู้ เติมโอกาส เติมเงินทุน ให้เกิดธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ความยั่งยืน โดยเฉพาะองค์ความรู้ในด้านการจัดการคาร์บอน โดยการสานพลังระหว่าง EXIM BANK กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องให้เกิดระบบนิเวศทางธุรกิจที่สนับสนุนความยั่งยืน อันจะนำพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้เร็วที่สุด
EXIM BANK พร้อมเติมเงินทุนให้ผู้ประกอบการที่มีโครงการหรือทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น สินเชื่อ Biz Transformation สินเชื่อ EXIM Green Start สินเชื่อ EXIM Solar D-Carbon Financing และสินเชื่อ Solar Orchestra เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ได้แก่ Solar Rooftop, Solar Farm และ Solar Floating สำหรับใช้ภายในกิจการ รวมถึงเงินลงทุน สำหรับปรับปรุงหลังคาก่อนการติดตั้ง Solar Rooftop พร้อมได้สิทธิการขึ้นทะเบียนและรับรองคาร์บอนเครดิตซึ่งที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ Solar Orchestra ได้รับรางวัล International Innovation Awards 2022 และ Best Product Innovation for Sustainable Development