ครบเครื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาฉบับล่าสุด


อาจารย์พรรณี วรวุฒิจงสถิต กรรมการภาษีอากร สภาหอการค้าไทย กล่าวว่า เงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษตามที่กฎหมายกำหนด และมีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี ซึ่งผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการตนเองตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนดภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป สำหรับผู้มีเงินได้บางกรณีกฎหมายยังกำหนดให้ยื่นแบบฯ เสียภาษีตอนครึ่งปี สำหรับรายได้ ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีที่ต้องชำระและเงินได้บางกรณี กฎหมายกำหนดให้ ผู้จ่ายทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้ที่จ่ายบางส่วน เพื่อให้มีการทยอยชำระภาษีขณะที่มีเงินได้เกิดขึ้นอีกด้วย

โดยล่าสุดการประชุมของคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีภาษี 2560 เป็นต้นไป โดยมีการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ คือ ปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายของเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร จากเดิมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ 40% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เป็น 50% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร จากเดิมให้หักได้เฉพาะค่าแห่งลิขสิทธิ์โดยให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ 40% ของค่าแห่งลิขสิทธิ์แต่ไม่เกิน 60,000 บาท ขยายเพิ่มให้ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ 50% ของเงินได้ดังกล่าวแต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้ นอกจากนี้ คือ ปรับปรุงการหักค่าลดหย่อน สำหรับผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสของผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท ค่าลดหย่อนบุตรจากเดิมคนละ 15,000 บาท และจำกัดจำนวนไม่เกิน 3 คน เป็นคนละ 30,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร และยกเลิกค่าลดหย่อนการศึกษาบุตร จากเดิมที่ให้หักลดหย่อนคนละ 2,000 บาท กรณีที่คู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 120,000 บาท กองมรดกเดิมให้หักลดหย่อนได้ 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เดิมให้หักลดหย่อนแก่หุ้นส่วนคนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท เป็นคนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท

อย่างไรก็ตามผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีหรือโดยเฉพาะผู้ประกอบการควรตระหนักไว้ว่าเงินภาษีที่จ่ายออกไปนั้นจะมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศชาติให้เจริญมั่นคงมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดผลดีก็จะมาตกอยู่กับตัวผู้ประกอบการนั่นเอง ดังนั้นการจ่ายภาษีจึงเป็นหน้าที่ที่พลเมืองเต็มขั้นพึงกระทำ อย่าได้คิดพยายามบ่ายเบี่ยง หรือหาช่องว่างทางกฎหมายที่จะหลบเลี่ยงไม่จ่าย