บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ (Ajinomoto Com., Inc.) ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของญี่ปุ่นเริ่มทยอยเปลี่ยนวิธีแสดงวันหมดอายุอาหารที่มีอายุมากกว่า 1 ปี ขึ้นไป เป็น “เดือนและปี” แทนวิธีเดิมที่แสดง “วัน เดือน และปี” (ตัดการระบุวันที่ออกไป) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไป และจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 โดยคาดว่าผู้ผลิตอาหารรายอื่นของญี่ปุ่น เช่น บริษัทคิวพี (Kewpie Corporation) จะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้ลดการกำจัดอาหารภายในประเทศได้ร้อยละ 2 และประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ด้วย
บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ เปิดเผยว่า การแสดงวันหมดอายุแบบ “เดือนและปี” จะส่งผลให้สามารถจัดการสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดส่ง เก็บรักษา และการจัดวางสินค้าสามารถดำเนินการเป็นล็อตใหญ่ได้ ซึ่งจะลดช่วยภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการด้วย นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ของญี่ปุ่นให้ความเห็นว่า หากวิธีการแสดงวันหมดอายุสินค้าแบบ “เดือนและปี” เป็นที่แพร่หลายในอุตสาหกรรมอาหารปรุงแต่ง ก็จะช่วยผลักดันการทบทวนเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าของวงการโลจิสติกส์ญี่ปุ่น ซึ่งเข้มงวดเกินไปและจะส่งให้สามารถลดปริมาณการกำจัดอาหารที่ไม่สามารถจัดส่งได้ตามธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าวเป็นจำนวนมากกว่า 40,000 ตัน
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ในปี 2559 ไทยมีการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งรวมถึงสินค้าอาหารปรุงแต่งไปต่างประเทศกว่า 17,088 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 2.76 โดยมีญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับสาม (รองจากอาเซียนและสหรัฐอเมริกา) มีการส่งออกไปญี่ปุ่นรวมทั้งหมดมูลค่า 1,843 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 4.25 สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และเนื้อสัตว์และของปรุงแต่งที่ทำจากเนื้อสัตว์ ในขณะที่สินค้าที่มีการขยายตัวมากที่สุดได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ซุปและอาหารปรุงแต่ง และหมากฝรั่งและขนมที่ไม่มีโกโก้ผสม อัตราการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 305 ร้อยละ 33 และร้อยละ 23 ตามลำดับ ดังนั้น การส่งออกอาหารปรุงแต่งของไทยมายังตลาดญี่ปุ่นจึงยังมีโอกาสขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น หากมีการปรับเปลี่ยนธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับการกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าของญี่ปุ่นให้มีความยืดหยุ่น และเหมาะสมกับเทคโนโลยีการผลิตและการขนส่งที่ทันสมัย สามารถเก็บรักษาอาหารได้อย่างมีคุณภาพเป็นระยะเวลายาวนาน
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เห็นว่า ที่ผ่านมาญี่ปุ่นมีความพยายามที่จะผ่อนปรนธรรมเนียมปฏิบัติของตนเกี่ยวกับการส่งมอบสินค้าอาหารปรุงแต่ง เนื่องจากเป็นข้อกำหนดที่มีระยะเวลาสั้นเกินไป ทั้งในเรื่องส่งมอบสินค้าภายในช่วง 1/3 แรกของกำหนดเวลาหมดอายุของสินค้า ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่ตลาดอาหารปรุงแต่งจากต่างประเทศที่ต้องใช้ระยะเวลาในการขนส่ง และเรื่องการนำสินค้าอาหารปรุงแต่งลงจากหิ้งขายสินค้า เมื่อกำหนดเวลาหมดอายุของสินค้าดังกล่าวเหลือน้อยกว่า 1/3 ซึ่งสินค้าบางรายการอาจจะถูกนำไปกำจัด แม้ว่าจะยังมีระยะเวลาที่สามารถรับประทานได้ก็ตาม ทำให้เป็นการสิ้นเปลืองทั้งทรัพยากรและเป็นภาระค่าใช้จ่ายการจัดการด้านโลจิสติกส์ ดังนั้น ความเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนวิธีแสดงวันหมดอายุสินค้าครั้งนี้จะมีส่วนผลักดันให้ญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าวเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการค้าขายสินค้าอาหารปรุงแต่งในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น และจะยังเป็นการสร้างโอกาสให้กับสินค้าปรุงแต่งของไทย ในการเข้าสู่ตลาดของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมากขึ้นเช่นกัน