บทความจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว กระทรวงพาณิชย์
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://goo.gl/3tKhLG
อาหารกระป๋อง อาหารบรรจุขวดและอาหารบรรจุถุงทนความร้อน (Retort) เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน ง่ายต่อการรับประทาน ทำให้อาหารในแพคเกจจิ้งเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อตลาดอาหารโดยรวมของญี่ปุ่นจนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในยามที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ นอกจากนี้คนญี่ปุ่นปัจจุบันยังชอบนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารประจำวัน ทำให้การผลิตสินค้ารูปแบบใหม่ เช่น อาหารกระป๋องพรีเมี่ยม ผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้กับไมโครเวฟได้ ฯลฯ เกิดโอกาสในการเจาะตลาดผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆอีกด้วย
แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของปริมาณการผลิตอาหารเหล่านี้ในญี่ปุ่น ที่ผ่านมาอาหารกระป๋องและอาหารบรรจุถุงทนความร้อน (Retort) มีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างอย่างชัดเจน (อาหารกระป๋องมีแนวโน้มหดตัว ในขณะที่ อาหารบรรจุถุงทนความร้อนแนวโน้มขยายตัว) แต่ปี 2015 อาหารบรรจุถุงทนความร้อนที่ทำลายสถิติยอดการผลิตต่อเนื่องกัน 8 ปีซ้อนกลับต้องหยุดชะงักลง อีกทั้ง จำนวนการผลิตอาหารกระป๋องก็ลดลงเนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบอีกด้วย แต่หากพิจารณาจากปริมาณการผลิตอาหารกระป๋องกลุ่มที่มีราคากลาง-สูง จะเห็นว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นและมีการปรับตัวด้านราคาให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งอาจวิเคราะห์ได้ว่า ตลาดอาหารเหล่านี้กำลังเปลี่ยนจากสินค้าโภคภัณฑ์ (commodities) เข้าสู่การเติบโตที่ยังยืนจากการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและสามารถสร้างความแตกต่าง (differentiation)
อาหารกระป๋อง
อาหารกระป๋องผู้ครองตำแหน่งราชาแห่งอาหารที่เก็บรักษาไว้ได้นาน (Preserved Food) นั้น ปัจจุบัน มีการพัฒนาวัตถุดิบ รสชาติ และเมนู ทำให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น ปริมาณการผลิตอาหารกระป๋องทรงกลมภายในประเทศญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่จะเห็นว่า สินค้าบนชั้นวางตามร้านค้ามีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงจากสินค้าโภคภัณฑ์สู่สินค้าที่มีการสร้างความแตกต่าง โดยเฉพาะอาหารกระป๋องประเภทเมนู (กับข้าว) จะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัด นอกจากนี้ อาหารกระป๋องที่มีฉลากอาหารที่มีการแสดงคุณสมบัติ ของสารอาหาร (Food with Functional Claims) ก็เป็นที่สนใจของตลาด และสินค้า “กลุ่มราคาระดับกลาง” ก็มีความหลากหลายมากขึ้นอีกด้วย การผลิตอาหารกระป๋องภายในประเทศญี่ปุ่นในปี 2015 โดยรวมลดลงร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน หากรวมสินค้านำเข้าด้วยอุปทานภายในประเทศญี่ปุ่นลดลงเล็กน้อย
หอยนางรมกระป๋องพรีเมี่ยม
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของสินค้า “กลุ่มราคาระดับสูง” ที่เป็นที่นิยมของตลาดนั้นชะลอตัวลง จึงมีการกระตุ้นตลาดด้วยนโยบายการจำหน่ายควบคู่กับสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการส่งเสริมการจำหน่ายในโอกาสต่างๆ เช่น “วันพ่อ” ตลาดเริ่มหันมาให้ความสนใจสินค้าที่มีฉลากอาหารที่มีการแสดงคุณสมบัติของสารอาหาร (Food with Functional Claims) ซึ่งเป็นตลาดใหม่สำหรับสินค้าประเภทอาหารกระป๋องแทนสินค้า “กลุ่มราคาระดับสูง” นอกจากนี้ สินค้า “กลุ่มราคาระดับกลาง” ประเภทอาหารทะเลราคาจำหน่ายปลีกตามร้านค้าที่ระดับ 200 เยน (ประมาณ 70 บาท) นั้น ยังมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาการแข่งขันด้านราคาของตลาดของอาหารกระป๋องอีกด้วย อีกด้านหนึ่ง ผู้ผลิตอาหารกระป๋องต้องประสบกับปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการจัดหาวัตถุดิบ เมื่อปี 2015 ที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ “ปลาซาบะกระป๋อง” หายไปจากชั้นวางของร้านค้า ภาครัฐจำเป็นต้องคิดแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง รวมถึงมาตรการต่อต่างประเทศ เพื่อสามารถจัดหาวัตถุดิบได้อย่างมีเสถียรภาพ
อาหารกระป๋องพรีเมี่ยมประเภทกับแกล้ม
ราคา 500 เยนต่อกระป๋อง (150 บาท)
อาหารบรรจุขวด
“แยม” ที่เป็นสินค้าหลักของอาหารบรรจุขวดมีมูลค่าตลาดลดลงแต่อาหารบรรจุขวดประเภทสาหร่ายปรุงรสมีการขยายตัว อีกทั้ง อาหารบรรจุขวดประเภทอื่นๆเริ่มฟื้นตัว ทำให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา และเนื่องจากค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลงทำให้ “แยม” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าจึงมีต้นทุนสูงขึ้น สินค้า “แยม” ที่เพิ่มมูลค่าเพิ่มด้วยผลิตภัณฑ์น้ำตาลต่ำและผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศนั้น มีออกมาจำหน่ายหลากหลายชนิด อีกทั้ง ผู้ผลิตได้นำเสนอการรับประทานพร้อมกับโยเกิร์ตและธัญพืช (Granola) เป็นอาหารเช้า เพื่อส่งเสริมการจำหน่ายแยมอีกด้วย ส่วนอาหารบรรจุขวดประเภทสาหร่ายปรุงรสนั้น มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน ผู้ผลิตสินค้ากำลังเผชิญกับปัญหากลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อสินค้ามีอายุมากขึ้น จึงจำเป็นต้องพยายามเจาะกลุ่มผู้บริโภควัยหนุ่มสาวด้วยการปรับรสชาติ เพิ่มสารอาหารที่เป็นประโยชน์และชูคุณสมบัติด้านการเก็บรักษาได้นานเพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ ผู้ผลิตบางรายมีการพัฒนาขวดบรรจุภัณฑ์ให้ง่ายต่อการตักอีกด้วย
แยมผลไม้จากจังหวัด Wakayama
อาหารบรรจุถุงทนความร้อน (Retort)
จากการรายงานของ Japan Canners Association พบว่าปริมาณการผลิตอาหาร Retort ในปี 2015 มีปริมาณ 362,560 ตัน (ปริมาณสุทธิ) ลดลงร้อยละ 1.4 จากปีก่อน แต่ปริมาณการผลิตอาหารประเภทนี้ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2006 อาหาร Retort ที่มีปริมาณการผลิต (ปริมาณสุทธิ) เพิ่มขึ้น ได้แก่ สตูว์, ซอสปรุงรสเต้าหู้เสฉวน, ต้มผักและเนื้อสัตว์, เครื่องปรุงรสข้าวอบ โดยสตูว์มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 จากปีก่อน ปริมาณการผลิตเท่ากับ 2,500 ตัน และซอสปรุงรสเต้าหู้เสฉวนที่ระยะหลังมีแนวโน้มปริมาณการผลิตลดลงก็กลับมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ปริมาณการผลิตเท่ากับ 6,835 ตัน สำหรับอาหาร Retort ประเภทแกงกะหรี่ญี่ปุ่นและซอสพาสต้ามีแนวโน้มลดลง โดยแกงกะหรี่ลดลงร้อยละ 1.2 (ปริมาณการผลิตสุทธิ 145,483 ตัน) แต่ตลาดแกงกะหรี่โดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวจึงคาดว่าปริมาณการผลิตจะเพิ่มขึ้นในปีต่อไป ส่วนปริมาณการผลิตซอสพาสต้ายนั้น ลดลงร้อยละ 14.1 (ปริมาณการผลิตสุทธิ 33,265 ตัน) เนื่องจากตลาดเข้าสู่สภาวะอิ่มตัว
NISHIKI FOODS CO.,LTD.
การขยายตัวของตลาดอาหาร Retort มีความแตกต่างขึ้นอยู่กับประเภทผลิตภัณฑ์ แต่โดยภาพรวมแล้วคาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการเก็บสต็อกอาหารของผู้บริโภค (เช่น เก็บสต็อกอาหารเพื่อใช้ในยามเกิดเหตุภัยพิบัติ เป็นต้น)
อ่านเรื่อง : โอกาสรวย “ธุรกิจอาหารแบรนด์ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น”