บทบาทผู้นำที่ดีในยุค 4.0 (Skill Set สำหรับผู้นำทุกระดับ) SMEs ห้ามพลาด!


การเป็นผู้นำในยุค 4.0 เปรียบเสมือนการเป็นผู้นำที่ยืนบนจุดที่สูงสุดแล้วกลับสู่สามัญ เนื่องจากผู้นำในอดีตเริ่มต้นการเป็นผู้นำที่คอยบังคับบัญชา เป็นยุคของการชี้นิ้วสั่งการ โดยใช้ทักษะของผู้นำที่คล้ายกับทหารและบทบาทของผู้นำจะมีลักษณะเป็นผู้บริหารจัดการคล้ายกับมุมของ MBA ที่มีการวางแผน การบริหาร การนำเสนอผลงาน การคิดเชิงวิเคราะห์ และการจะชี้วัดถึงความเป็นผู้นำที่ดีมีความสามารถในอดีต ก็ต้องไปดูที่ผู้ตามว่าคิดเหมือนผู้นำหรือไม่ ซึ่งนิยามที่ว่านี้มีมานานพอสมควร

บทบาทของผู้นำที่ดีในยุค 4.0 เนื่องจากเป็นยุคของการบริหารจัดการคนให้ดูแลคน เป็นเรื่องของความเชื่อในความเป็นมนุษย์ และคุณค่าที่มีอยู่ในตัวทุกคน (Human Being) นั่นเพราะ 4.0 คือยุคของนวัตกรรมและโลกที่ทันสมัยในการประยุกต์ Digital Life ผนวกกับนวัตกรรมอันทรงคุณค่า ที่แต่ละองค์กรต้องสร้างมาเพื่อให้มีลักษณะเฉพาะและแตกต่างอย่างยั่งยืน

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คุณสมบัติของผู้นำเปลี่ยนไป เพราะเป็นเรื่องที่กลับมาใกล้ตัวมาก บทบาทของผู้นำยุค 4.0 นิยามให้ “ผู้นำต้องเปลี่ยนเป็นผู้อำนวย หมายถึง ผู้อำนวยการเรียนรู้หรือคอยอำนวยการในทุกๆเรื่อง เพื่อให้คนทำงานสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง”  ยุค 4.0 ผู้นำจะต้องคอยส่งเสริมและอำนวยให้เกิดองค์กรจัดการตัวเอง (Self Organization) ซึ่งเชื่อมโยงไปกับวิถีของคนยุค 4.0 อย่างชัดเจน ส่วนในแง่ของ HR 4.0 ก็จะมองไปที่การเชื่อในคุณค่าของคน (Personal Value) ศรัทธาในคุณค่าที่มีอยู่ในตัวทุกคน เชื่อว่าทุกคนสามารถดูแลและจัดการตัวเองได้ ก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ๆได้ด้วยตัวเองเช่นเดียวกัน

สิ่งที่น่าสนใจคือ บทบาทของผู้นำที่ดีในยุค 4.0 จะไม่ใช่ผู้ที่คอยสั่งการอีกต่อไป แต่จะเป็นผู้ที่คอยส่งเสริมสนับสนุน ให้ลูกน้องแต่ละคนสามารถทำงานที่ตัวเองรับผิดชอบให้สำเร็จ รวมถึงการคิดสิ่งใหม่ๆ การนำเอาคุณค่าที่มีในตัวพนักงานมาสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรม ซึ่งก็คือผู้อำนวยการและพัฒนากร (OD : Organization Development) โดยมีทักษะที่จำเป็นดังนี้

  1. ต้องเข้าใจในความต่างของคนและศรัทธาในคุณค่าความแตกต่างของแต่ละคน (Personal Values Trust)

ผู้นำต้องเชื่อว่าพนักงานทุกคนมีคุณค่าและข้อดีในตัวเอง สิ่งนี้คือ Mindset แรกของผู้นำยุค 4.0 ซึ่งผู้นำต้องมองเห็นความถนัดของลูกน้อง แล้วจึงจะสามารถพูดคุยกับเขาในการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ชวนเขาคิดหาวิธีการทำงานส่วนนั้นให้สำเร็จ

  1. ต้องฟังเก่งและฟังด้วยหัวใจ (Deep listening)

เมื่อผู้นำได้เห็นคุณค่าของลูกน้องแล้ว สิ่งต่อมาคือต้องรับฟังให้มากด้วย เพราะการฟังสามารถทำให้พนักงานมีตัวตนอยู่จริง หลายองค์กรผู้นำส่วนใหญ่มักชอบพูดเยอะแต่ฟังน้อย จนลูกน้องไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ซึ่งไม่ต่างจากการปิดกั้นโอกาสและเวทีโชว์ศักยภาพในทางอ้อม แต่ถ้าผู้นำเปิดโอกาสให้พวกเขามีเวทีแสดงความคิดเห็น ก็ยิ่งทำให้พวกมีพลังคิดมากขึ้นและยังแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีตัวตนอยู่จริงในองค์กร

  1. ต้องฝึกฝนคนเป็นและโค้ชคนได้ (Coaching)

การเป็นโค้ชที่ดี ไม่จำเป็นต้องเก่งแบบตัวนักกีฬาที่ลงแข่ง แต่บทบาทของโค้ชที่ดีต้องเข้าใจและมองเห็นศักยภาพของลูกน้อง ต้องฟังให้เป็น ตั้งคำถามเก่งแล้วถึงจะสะท้อนกลับไปได้ ทำให้บทบาทโค้ชเปรียบเหมือนการช่วยค้นหาเป้าหมาย ค้นหาคุณค่าและแนวทางสู่การทำงานที่บรรลุเป้าหมาย

  1. ต้องมีทักษะของการอำนวยการเรียนรู้ (Facilitation)

การเป็นผู้นำในยุค 4.0 ต้องสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ เพราะจะช่วยให้ทุกกิจกรรมที่บริหารอยู่บรรลุผล จากการที่คนทั้งทีมเข้าใจสิ่งที่ทำอยู่ตรงกันและคุยในเรื่องเดียวกัน ซึ่งข้อนี้ต่างจาก 3 ข้อแรกที่เป็นการบริหารตัวบุคคล นอกจากนี้การอำนวยการเรียนรู้ยังช่วยให้ทุกคนในทีมร่วมกันทำงานในภารกิจต่างๆให้สำเร็จ โดยผู้นำต้องวางเป้าหมายนั้นๆให้เป็นของพวกเขา ใช้แนวคิดของพวกเขา ซึ่งจะทำให้พนักงานเกิดการแชร์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ที่ผ่านมาผู้นำมักทำข้อนี้ไม่เก่ง (อ้างอิงจากหนังสือของ อ.วรภัทร ภู่เจริญ และ อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู ที่ได้เขียนถึงเรื่องผู้นำในบทบาทกระบวนกร หรือ Facilitator เอาไว้) เพราะปกติคนมักมองเรื่องการประชุมในองค์กรเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่เมื่อเปลี่ยนจากการประชุมแบบเดิมมาเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ก็จะทำให้ทุกคนสนุกในการคิดสิ่งใหม่ ซึ่งอาจเกิดจากการเชียร์ให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ “เมื่อเราเอาคุณค่าของคนมาคุยกัน หนึ่งไอเดียคุยกับอีกหนึ่งไอเดีย มันไม่ได้แปลว่าจะเท่ากับสอง แต่มันจะมีพลังจนกลายเป็นอีกสิบ ยี่สิบ เพราะมันเกิดการต่อยอดความสร้างสรรค์ไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าทักษะการเรียนรู้ คือทักษะมหัศจรรย์ที่สำคัญอย่างยิ่ง”

  1. ต้องมีทักษะการเล่าเรื่องเก่ง (Storytelling)

เพราะการเล่าเรื่องมีผลต่อทัศนคติ, ความเชื่อ ทำให้การเล่าเรื่องได้เก่งสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติคนได้ ยกตัวอย่าง : นิทานเรื่องหนูน้อยหมวกแดง ซึ่งมีการเล่าต่อๆกันมากว่า 700 ปีแล้ว ความน่าสนใจคือเวลาพ่อแม่เล่านิทานเรื่องนี้ให้ลูกเราฟัง พอลูกได้ฟังก็จะทำให้เขารู้ว่า ไม่ควรไว้วางใจใครง่ายๆ ต้องระวังตัวเองและไม่ใช้ชีวิตบนความประมาท ซึ่งหากว่าผู้นำยุคนี้สามารถเล่าเรื่องได้เก่ง ก็จะทำให้ลูกน้องได้ทั้งความรู้และต่อยอดความคิดต่อๆไปได้

ทักษะทั้ง 5 นี้คือทักษะที่เน้นความเป็นมนุษย์ (Soft Side) ซึ่งเป็น Soft Skill ต่างจากยุคก่อนที่บทบาทความเป็นผู้นำเน้นหนักไปที่ Hard Skill นั่นเพราะยุค Business 4.0, Organization 4.0 หรือ HR 4.0 จะเน้นเรื่องคนเป็นหลัก โดยทำให้องค์กรสามารถจัดการตัวเองได้ ทุกคนต้องหยิบยกเรื่องนวัตกรรมขึ้นมาได้ด้วยตนเองและสามารถดูแลตัวเองได้ ซึ่งไม่เฉพาะการดูแลตัวเองได้แต่เรื่องงาน แต่ต้องรวมไปถึงเรื่องชีวิตและครอบครัวด้วย

หากเปรียบพนักงานแต่ละคน คือ องค์กรหนึ่งองค์กร เมื่อทุกคนในองค์กรเข้มแข็ง องค์กรที่ทุกคนรวมอยู่ก็จะยิ่งเข้มแข็งเท่าทวีคูณ ก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ ที่เต็มไปด้วยคุณค่า ความยั่งยืนและความสุข

วิเคราะห์โดย นราวิทย์ นาควิเวก

CEO บริษัทเอ็กเซลเลนท์ พีเพิล จำกัด

Strategic Partner & Consultant บริษัท พีเพิลแวลู่ร์ จำกัด

เรียบเรียงโดย Smart SME