สัมมนาประจำปี ทีดีอาร์ไอ ก้าวทันยุค 4.0 ระดมทีมนักวิจัยพร้อมเครือข่าย แก้โจทย์ยากของประเทศ ทั้งเศรษฐกิจโตช้า สังคมไม่เป็นธรรม เหลื่อมล้ำสูง และคุณภาพชีวิตตกต่ำ เสนอนโยบาย ‘ปฏิรูปรัฐ ปฏิวัติข้อมูล’ ปลดล็อคอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ แนะแนวทางจัดเก็บ เปิด ใช้ และเชื่อมโยงข้อมูลอย่างมีประสิ
ทธิภาพ ด้วยรูปแบบการจัดงานวิชาการที่
สื่อสารเข้าใจง่าย สนุก อีกทั้งเปิดให้ผู้ร่วมงานได้มี
ส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ตลอดการจัดงาน
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2560 “ฟื้นเศรษฐกิจ ปฏิรูปรัฐ ด้วยปฏิวัติข้อมูล” (Boosting the Thai Economy and Reforming the Government by Data Revolution) ณ เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลการศึกษา ให้ข้อเสนอแนะภาครัฐกำหนดนโยบายสาธารณะบนฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ทันสถานการณ์ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำและคอร์รัปชัน ได้อย่างถูกต้องตรงจุด ภายใต้กรอบกฎหมายและการมีนโยบายเพื่อสร้างข้อมูลที่ดี
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ เปิดเวทีสัมมนา ร่วมกับ ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ เสนอประเด็นปฏิวัติข้อมูลเพื่อสร้างเศรษฐกิจสารสนเทศ โดยระบุปัญหาว่า ไทยยังมีประสิทธิภาพการผลิตต่ำเพียงร้อยละ 70 ของประเทศระดับแนวหน้า ส่วนหนึ่งเพราะยังไม่มีการใช้ข้อมูลอย่างที่ควรจะเป็น เช่น SMEs จำนวนมากยังไม่ทำบัญชีอย่างเป็นระบบ จึงเกิดความสูญเปล่า แม้การที่รัฐบาลส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นสิ่งที่ดี แต่การยกระดับเศรษฐกิจที่สามารถทำได้ง่ายและได้ผลเร็วกว่าคือ การใช้ข้อมูลสร้างมูลค่าเพิ่มของทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ ทั้งนี้ หากสามารถรณรงค์ให้ภาคการผลิตใช้ข้อมูลจนทำให้ผลิตภาพของภาคเกษตร อุตสาหกรรมและบริการเพิ่มขึ้นเพียง 1 ใน 5 ของตัวอย่างในกรณีศึกษา จะทำให้ GDP ขยายตัวขึ้น 0.82% หรือเพิ่มขึ้นกว่า 8 หมื่นล้านบาท
ด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะ เห็นว่า ภาครัฐควรเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เห็นสภาพปัญหาตามความจริงครบรอบด้าน และมีนโยบายป้องกันแก้ไขได้ถูกต้อง เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลด้านสาธารณสุขโดยทีดีอาร์ไอ ทำให้เห็นว่า อัตราการตายของมารดาที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์และคลอดบุตรของไทยสูงกว่าที่เคยเข้าใจกัน และมีความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ต่างๆ มาก ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข
อีกทั้งปัญหาการสูญเสียชีวิตบนท้องถนน สามารถลดลงได้หากติดตามรถสาธารณะด้วย GPS ที่จะช่วยให้ทราบว่าปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดขึ้น เกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับหรือจากปัญหาของถนนเอง ซึ่งจะทำให้ภาครัฐกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมได้
คุณภาพชีวิตของประชาชนจะดีหรือไม่ยังขึ้นกับการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และตรงกับความต้องการของนายจ้าง ดังนั้นควรนำข้อมูลประกาศหางานออนไลน์มาวิเคราะห์ เพื่อช่วยให้รัฐและสถาบันการศึกษาทราบทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการได้อย่างละเอียด รวดเร็วและแม่นยำกว่าการสำรวจ แต่การจะปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผล จะต้องมีการเปิดเผยผลการวัดคุณภาพของสถานศึกษาให้ประชาชนทราบ
ด้านการสร้างสังคมที่เป็นธรรม ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน นายชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายชยธร เติมอริยบุตร นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ระบุว่า การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ สามารถช่วยภาครัฐกำหนดนโยบาย ลดความเหลื่อมล้ำได้ เช่น ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและใช้โทรศัพท์มือถือมาช่วยระบุพื้นที่ยากจนที่ควรให้ความช่วยเหลือ ซึ่งจะแม่นยำกว่า วิธีการแจ้งจดทะเบียนคนจนเพื่อขอรับสวัสดิการต่างๆ ที่ประสบปัญหาข้อมูลไม่ตรงความจริง
ส่วนการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเพื่อขจัดความไม่เป็นธรรม นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ได้นำข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ของภาครัฐมาวิเคราะห์ พบว่า การจัดจ้างโครงการก่อสร้างในปัจจุบันน่าจะยังมีการแข่งขันไม่มากเท่าที่ควร โดยบางหน่วยงานมีผู้รับเหมาก่อสร้าง 5 รายใหญ่ได้งานเกินกว่าร้อยละ 60 หรือแม้กระทั่งร้อยละ 80 ของมูลค่าทั้งหมดในหลายจังหวัด และแม้ว่า ระบบอี-บิดดิ้งจะเพิ่มการแข่งขันได้มากกว่าระบบอี-ออกชั่น และทำให้รัฐได้รับส่วนลดมากขึ้นกว่า 56,000 ล้านบาทต่อปี แต่ระยะเวลาในการวิจารณ์ TOR เพื่อป้องกันการล็อคสเปค และระยะเวลาเตรียมตัวยื่นซองที่กำหนดไว้ในกฎหมายน่าจะสั้นเกินไปมาก ทำให้มีการแข่งขันจำกัด
เพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการปฏิวัติข้อมูลสูงสุด ภาครัฐจำเป็นต้องปฏิรูปบทบาทด้านการบริหารจัดการข้อมูล ตั้งแต่การเปิด การจัดเก็บ และการเชื่อมโยงข้อมูลให้เป็นระบบ ดังที่ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ และ นายฉัตร คำแสง นักวิจัยทีดีอาร์ไอ เสนอ ดังนี้
การปฏิรูปการเปิดเผยข้อมูล – ภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างน้อย 15 ชุดให้ครบตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้ประกอบการนำข้อมูลไปพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ และประชาชนสามารถตรวจสอบบริการของรัฐได้ดีขึ้น ควบคู่กับการประกาศนโยบายข้อมูลแบบเปิด โดยให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน) สนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ
การปฏิรูประบบการจัดเก็บข้อมูล – สำนักงานสถิติแห่งชาติ ควรกำหนดมาตรฐานการเก็บข้อมูลของภาครัฐ โดยให้ผู้ใช้ข้อมูล โดยเฉพาะภาควิชาการมีส่วนร่วมในการกำหนดชุดข้อมูลที่ควรจัดเก็บ และให้มีตัวแทนของภาคส่วนต่างๆ ร่วมกำหนดนโยบายด้านการจัดเก็บข้อมูลของประเทศ อีกทั้งภาครัฐต้องจัดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานรัฐต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้กำหนดนโยบายของประเทศที่อยู่บนฐานข้อมูลแทนการคาดเดา โดยอาจให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลัก
อีกทั้ง รัฐต้องทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งของรัฐและเอกชนที่เป็นประโยชน์ได้ โดยแก้ไขกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ ให้การเปิดเผยข้อมูลเป็นแนวปฏิบัติหลักและการปกปิดเป็นข้อยกเว้นที่มีกรอบชัดเจน เพื่อมิให้หน่วยราชการใช้เป็นข้ออ้าง ตลอดจนเร่งออกกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อกำกับการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลในเชิงพาณิชย์ให้ได้ตามมาตรฐานสากล
การจัดสัมมนาทีดีอาร์ไอ ประจำปีนี้ ยังมีกิจกรรมที่เปิดให้ผู้ร่วมงานเป็นส่วนหนึ่งในการให้ข้อมูลตั้งแต่ช่วงลงทะเบียนร่วมงานจนถึงวันจัดงาน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้ถูกรวบรวมประมวลผลเป็นกิจกรรมให้ผู้ร่วมงานได้ร่วมสนุกพร้อมสอดแทรกข้อเสนอเชิงนโยบายไว้อย่างน่าสนใจตามวัตถุประสงค์การจัดเวทีวิชาการที่สื่อสารเข้าใจง่าย และสนุก ตามทันยุค 4.0
หมายเหตุ : ดูการสัมมนาย้อนหลังและดาวน์โหลดเอกสารประกอบที่ http://tdri.or.th/seminars/annual-conference-2017/