10 เทรนด์ความท้าทายการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล


ในรอบปีที่ผ่านมา (มีนาคม 2559 – มีนาคม 2560) ถือเป็นปีที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงของการดำเนินงาน e-Government ในประเทศไทย ในรอบปีที่แล้วการ Transformation หรือการแปลงร่างไปสู่ รัฐบาลดิจิทัลถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้น ทั้งการปรับโครงสร้างพื้นฐานให้ทั้งภาครัฐและประชาชนมั่นใจ ด้วยการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของภาครัฐด้วยกันเอง การเข้ามาวางโครงสร้างการยกระดับบุคลากรภาครัฐ เริ่มต้นเป็นโครงการนำร่องโดยอาศัยความสมัครใจ ขณะที่หน่วยงานที่มีความพร้อมทางด้านดิจิทัลอยู่แล้วก็ยังคงเดินหน้าต่อ ในขณะที่บางหน่วยงานเพิ่งเริ่มต้นก็ยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะโครงสร้างพื้นฐานก็เพิ่งเริ่มดำเนินการ

ในปีนี้จึงเป็นปีที่การ Transformation ได้เริ่มเกิดดอกออกผลให้เก็บเกี่ยว ไม่ต้องมาบอกกล่าวว่า EGA
มีบริการพื้นฐานอย่าง G-Cloud, GIN, GovChannel และอื่น ๆ กันอีกแล้ว หน่วยงานรัฐไม่มาตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัย การดูแล และอื่น ๆ ต่างหันมามุ่งมั่นที่จะพัฒนาบริการใหม่ ๆ ของตนเองให้มากขึ้น จึงถือว่ารอบปีที่ผ่านมา EGA ได้ก้าวผ่านความท้าทายขึ้นไปอีกระดับของการ Transformation บริการภาครัฐเต็มรูปแบบ และนี่คือ 10 เทรนด์ ความท้าทายที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านการเป็นรัฐบาลดิจิทัล ที่สำคัญในรอบปี 2559

1. Citizen eID is playing an important role in assessing government service online
หนุนใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว รับบริการสมาร์ตเซอร์วิสภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว

เป็นปีที่ต้องเดินหน้าเชิงรุกด้านดิจิทัล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้สะดวกสบายขึ้นในการเข้ารับบริการจากภาครัฐ ด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียวสามารถยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการที่ทำธุรกรรมต่าง ๆ กับภาครัฐได้โดยไม่ต้องขอสำเนา ซึ่งจะมีการปรับบริการต่าง ๆ ของภาครัฐให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น พร้อมกับออกแบบมาตรการความปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนบุคคลตั้งแต่การวางระบบเครือข่ายที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลต่าง ๆ เป็นระบบปิด การเข้าใช้ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นและต้องเสียบบัตรประชาชนของตนเองที่เครื่องอ่านบัตรตลอดเวลาการใช้งานเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้

ทั้งนี้ รอบปีที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้จัดสรรงบประมาณในการซื้อเครื่องอ่านบัตรประชาชนประมาณ 2 แสนเครื่อง เพื่อติดตั้งในหน่วยงานราชการให้สามารถรองรับการบริการประชาชนได้ทั่วประเทศ เมื่อดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จภายในปีนี้ บัตรประชาชน หรือ บัตรสมาร์ตคาร์ดก็จะสามารถเข้าถึงโครงการสมาร์ตเซอร์วิสต่าง ๆ ที่ EGA มีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมประชาชนสู่ Smart Citizen

2. Big Data Analytics for citizen personal data But with proper privacy protection
การบูรณาการข้อมูลประชาชนเพื่อมุ่งสู่การให้บริการเชิงรุก

การจัดการข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาล ด้วยระบบเชื่อมโยงข้อมูลกลางเพื่อบูรณาการข้อมูลรวม (Citizen Data Integration) ทั้งมีมาตรการในการควบคุมความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของข้อมูล โดย EGA เริ่มนำร่องโครงการความร่วมมือไปแล้วประมาณ 2-3 โครงการ โดยจะเริ่มที่การจัดทำระบบฐานข้อมูลสุขภาพประชาชน เพื่อให้การดำเนินงานด้านสาธารณสุขมีความรวดเร็วและตอบสนองความต้องการของประชาชนมากขึ้น

โดย EGA จะเข้ามาผลักดันการดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Big Data ภาครัฐเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มโครงการบูรณาการสวัสดิการสังคมและการจ่ายเงินภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ (Integrated Social Benefits) โครงการระบบชำระเงินแบบ Any ID โครงการขยายการใช้บัตร (Universal Benefits Card) และอื่น ๆ ที่เมื่อดำเนินการต้องเริ่มต้นจากการใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีการบูรณาการข้ามหน่วยงานมากขึ้น ดังนั้น EGA ต้องเตรียมทั้งเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ระบบเครือข่าย รวมถึงบุคลากรรองรับให้ได้ทั้งหมดอย่างเร่งด่วนต่อไป

3. ePayments for Government go mainstream
ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐต่อยอดสู่สังคมไร้เงินสด

การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการผลักดันให้ประชาชนลดการใช้เงินสด และมีความสะดวกรวดเร็วในการใช้จ่ายเงินมากยิ่งขึ้น ดังเช่นระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ถือเป็นการผลักดันตามยุทธศาสตร์ของภาครัฐซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของประเทศไทยในการก้าวสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society)

ดังนั้นการเดินหน้านโยบายการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์เช่นนี้ จะทำให้ในรอบปีนี้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกมากมาย สำหรับ EGA ก็ได้เร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีความปลอดภัยสูงเพื่อให้สามารถรองรับการขยายตัวในอนาคตแบบไม่มีขีดจำกัด และเพื่อรองรับการต่อยอดมหาศาลที่กำลังจะเกิดขึ้น

4. Blockchain for Healthcare Data Management
ดูแลระบบสุขภาพคนไทยด้วยบล็อกเชน

บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีความปลอดภัยของข้อมูลสูง ซึ่งได้รับการกล่าวถึงอยู่ทั่วโลกขณะนี้ ทางภาครัฐเองโดยเฉพาะ EGA ให้ความสนใจเทคโนโลยีนี้เป็นพิเศษเพราะสามารถตอบโจทย์ด้านการบริหารจัดการข้อมูลที่มีความเป็นส่วนตัวสูง ๆ ได้ และมีความปลอดภัยด้วย  ซึ่งจากการศึกษาแล้วพบว่าโอกาสที่จะนำมาใช้มากที่สุดคือ การใช้บล็อกเชนกับการบริหารจัดการข้อมูลด้านสาธารณสุข เนื่องจากข้อมูลนี้มีความเสี่ยงในแง่ของ Privacy และ Security สูงมาก อย่างไรก็ตาม บล็อกเชนยังเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ จึงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์และดำเนินการอีกมาก คาดว่าจะต้องใช้เวลาเหมือนเช่นเทคโนโลยีตัวอื่น ๆ ก่อนหน้านั้น เช่น Big Data, Cloud Computing แต่เพื่อไม่ให้ภาครัฐไทยล่าช้า ทันทีที่เห็นถึงความเป็นไปได้ EGA ก็จะนำร่องเทคโนโลยีนี้ในประเทศไทยทันที

5. Government Data Center need modernization and preferably go Cloud
ปีแห่งจุดเริ่มต้น Data Center ภาครัฐ 

หลังจากทำการศึกษาความจำเป็นในการรวมศูนย์ทำ Data Center ภาครัฐมาระยะหนึ่ง ทาง EGA เล็งเห็นถึงความจำเป็น และพยายามผลักดันในระดับนโยบายมาโดยตลอด ในรอบปีที่่ผ่านมาอยู่ในขั้นตอนการเห็นชอบและอนุมัติ แต่หลังจากเดือนเมษายนปีนี้โครงการ Data Center ภาครัฐก็น่าจะผ่านขั้นตอนด้านเอกสาร เข้าสู่กระบวนการ Implement ได้อย่างจริงจัง

การดำเนินการจัดสร้างครั้งนี้ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการจริงได้ภายใน
ปีหน้า หลังจากนั้นคงมีหน่วยงานราชการจำนวนหนึ่งเข้ามาทดลองใช้ และค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นบริการหลักต่อไป

6. Government to go one-stop-service in all channels
ยุคแห่งการรวมศูนย์แบบครบวงจร GovChannel 

ปีนี้รัฐบาลได้รวบรวมช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและบริการสำหรับประชาชนเพื่อให้ประชาชนสะดวกสบายขึ้นด้วย GovChannel ศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชนโดยให้ความสำคัญอย่างมาก ภายใต้เว็บไซต์ www.GovChannel.go.th ในด้านการให้บริการต่าง ๆ มีการปรับเปลี่ยนให้ตรงกับความต้องการผู้ใช้งานมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นระบบ G-News ที่จะเริ่มมีบทบาทเป็นข่าวออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือก็เป็นที่ยืนยันข่าวจากภาครัฐได้ดีที่สุดในปัจจุบัน, มีเว็บไซต์ info.go.th ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการที่เป็นแหล่งค้นหาข้อมูลบริการภาครัฐที่ดีที่สุด ทั้งในรูปแบบของเว็บไซต์และแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ

ในส่วนของ Government Application Center หรือ GAC ศูนย์กลางแอปพลิเคชันภาครัฐที่ให้บริการผ่านเว็บไซต์ apps.go.th และ แอปพลิเคชัน GAC ซึ่งเติบโตมากขึ้นอย่างน่าสนใจปัจจุบันมีกว่า 300 แอปฯ รวมถึงระบบภาษีไปไหน? ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งเป็นการค้นหาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในทุกแง่มุม ผ่านเว็บไซต์ govspending.data.go.th ที่มีการนำเสนอในรูปแบบกราฟ และมีการจัดอันดับสรุปรวมให้สามารถดูเข้าใจง่าย

อีกช่องทางหนึ่งที่กำลังขยายเติบโตก็คือ ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ (Government Smart Kiosk) ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลและทราบสิทธิส่วนบุคคลต่าง ๆ ได้โดยง่าย โดยมีการติดตั้งในจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปีนี้โอกาสที่จะมีตู้คีออสก์ในห้างสรรพสินค้าและโรงพยาบาลของรัฐจะมีมากถึง 100 กว่าตู้เลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐใช้ระบบสื่อสารระหว่างกันผ่านระบบ G-Chat ซึ่งเป็นระบบ Chat ที่ทันสมัยและมีความปลอดภัยสูง ได้รับการยอมรับจากผู้บริหารภาครัฐและมีการใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ

ในปีที่ผ่านมาโครงการทั้งหมดใน GovChannel มีการพัฒนาบริการให้ทันสมัย ตรงใจประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นว่า ในปีนี้ทุกท่านจะได้เห็นระบบต่าง ๆ มีความสมบูรณ์ มีการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลและบริการระหว่างภาครัฐด้วยกันอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อมุ่งสู่การยกระดับคุณภาพการให้บริการเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

7. Digital transformation programs begin for certain government services
การปรับปรุงบริการภาครัฐต้องคิดใหม่ทำใหม่

ในรอบปีที่ผ่านมาถือเป็นเรื่องที่ EGA ให้ความสำคัญอย่างมากในการทำความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่จะคิดค้นบริการออนไลน์ใหม่ ๆ มารองรับความต้องการของประชาชนมากขึ้นแบบ Interactive หรือให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้พัฒนากับผู้ใช้ ไม่ใช่การสื่อสารทางเดียวเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ต้องมีความทันสมัย เข้าถึงง่าย และใช้งานสะดวก เหมือนกับที่ประสบความสำเร็จจาก Startup นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แนวทางการพัฒนาโมบายแอปพลิเคชันภาครัฐปัจจุบันยังพบข้อจำกัดค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องเปิดกว้างให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาให้เกิดความสร้างสรรค์นำไปสู่ไอเดียที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และประเทศได้ โดยทาง EGA จะใช้เวทีประกวดทั้ง Hackathon และ MEGA เป็นช่องทางการสร้างพันธมิตรระหว่างนักพัฒนาซอฟต์แวร์และหน่วยงานรัฐได้แลกเปลี่ยนและเจรจาทางธุรกิจเชิงสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกันต่อไป

8. More open government data is required but only the high value ones
ข้อมูลเปิดภาครัฐไทยเข้าสู่ยุค High-Value Datasets  

ในปีที่ผ่านมา EGA ได้นำข้อมูลที่เปิดเผยจากภาครัฐผ่านศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน หรือ GovChannel ภายใต้โดเมน data.go.th ให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจแข่งขันพัฒนาแอปพลิเคชันต้นแบบ ส่งผลให้มีการนำข้อมูลเปิดภาครัฐมาวิเคราะห์และใช้งานให้เป็นประโยชน์ต่อทุก ๆ ภาคส่วน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่สามารถตรวจสอบข้อมูลของภาครัฐได้ รวมถึงการสร้างประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจและทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เกิดชุดข้อมูลที่สามารถนำไปประมวลผลต่อยอดได้กว่า 900 ชุดข้อมูล จากหน่วยงานทั้งสิ้นกว่า 90 หน่วยงาน

ชุดข้อมูลในปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นการนำร่อง แต่ในปีนี้ EGA จะทุ่มทรัพยากรเพื่อให้เกิดการนำชุดข้อมูลต่าง ๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริง และต้องเป็นชุดข้อมูลที่มีคุณค่า (High-Value Datasets) โดยในปีนี้มีชุดข้อมูลที่ถือว่าเป็นเป้าหมายของ EGA ที่จะต้องเร่งสร้างเข้ามาเพื่อให้ตรงกับแผนรัฐบาลดิจิทัลมี 2 กลุ่ม คือ 1. ความโปร่งใสของภาครัฐ และ 2. การพัฒนาเมืองและการขนส่ง โดยจะดำเนินการในด้านอื่นในปีต่อ ๆ ไป

นอกจากนี้จะมีการเร่งสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อทำให้ทางฝั่งผู้ผลิตชุดข้อมูล และผู้นำข้อมูลไปใช้ ลดทอนเวลา ลดความยุ่งยาก ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มสร้างการให้บริการชุดข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบของ Public API ผ่านเว็บไซต์ api.data.go.th หรือเครื่องมือในการพัฒนา ซึ่ง EGA คาดหวังว่าในการพัฒนาช่วงต่อไปฝั่งผู้ผลิตชุดข้อมูลจะมี Tools ที่แปลงข้อมูลของตนเองเข้าสู่ระบบมาตรฐานได้ทันที นั่นคือเมื่อเปลี่ยนข้อมูลจากฝั่งผู้ผลิต ชุดข้อมูลกลางที่ Share หรือแบ่งปันมาก็จะเปลี่ยนตามแบบทันทีหรือ Real Time เช่นกัน ในฝั่งผู้ใช้งานก็สามารถเลือกชุดคำสั่งให้โปรแกรมเข้ามาเรียกข้อมูลจากฐานกลางไม่จำเป็นต้องบันทึกเก็บไว้เองดังนั้นการประมวลผลก็จะถูกต้องรวดเร็ว รวมถึงการ Minor Change หรือการเปลี่ยนย่อยในส่วนของเว็บไซต์ data.go.th ไม่ว่าจะเป็น User Interface หรือหน้าตาของเว็บไซต์ ระบบเสิร์ชเอ็นจิ้น และอื่น ๆ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น

9. Government digital workforce needs urgent upgrade not just CIOs
ยกระดับขีดความสามารถเชิงดิจิทัลบุคลากรภาครัฐ

ปัญหาด้านบุคลากรภาครัฐที่เชี่ยวชาญในด้านไอทีกลายเป็นปัญหาใหญ่อย่างมากในการ Transformation เป็น Thailand 4.0 ทางรัฐบาลเองก็ตระหนักในเรื่องนี้จึงให้ EGA ตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลภาครัฐ (Thailand Digital Government Academy: TDGA) ขึ้นมา เพื่อรองรับการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลบุคคลากรภาครัฐทุกระดับ EGA จึงได้ร่วมมือกับ สํานักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ด้วยการจัดทำด้วยการจัดทำกรอบและโปรแกรมการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลสำหรับบุคลากรภาครัฐ

ปีที่ผ่านมาสถาบันฯ ยังอยู่ในช่วงก่อตั้ง แต่ปีนี้จะมีการส่งเสริมและดําเนินการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้แก่บุคลากรภาครัฐ และสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่จําเป็นต่าง ๆ เช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการประเมินทักษะของบุคคล แผนการพัฒนารายบุคคล แหล่งการเรียนรู้ดิจิทัล ระบบติดตามการพัฒนาระดับบุคคล ฐานข้อมูลการพัฒนา เพื่อการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร เป็นต้น รวมถึงการวางระบบการติดตามและประเมินผลการพัฒนาและรายงานผลการดําเนินงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ

สิ่งสำคัญคือ ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะต้องยกระดับ Digital Workforce หรือการจัดสรรกำลังคน ให้มีความพร้อมสำหรับตำแหน่งใหม่ ๆ ที่เข้ามาจัดการเรื่องไอทีมากกว่า Chief Information Officer หรือ CIO ภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา เช่น Chief Data Officer หรือ CDO ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารทำหน้าที่ให้บริการเกี่ยวกับข้อมูลทั้งเพื่อการใช้งานภายในและภายนอกองค์กร หรือจะเป็น Chief Technology Officer หรือ CTO ที่ดูแลเรื่องการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปใช้ในองค์กร ดังนั้น TDGA จึงมีส่วนสำคัญในการสร้าง Digital Leadership ให้เกิดขึ้นในโครงสร้างภาครัฐของไทยให้ได้ ไม่เช่นนั้นการไล่ตามเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือ การบริการใหม่ ๆ ที่ Disrupt ของเดิมจะทำให้ทั้งการออกกฎ หรือการวางแนวทางบริหารไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของโลก เช่น การจัดการกับโดรน, การจัดการกับเครื่องพิมพ์สามมิติ, แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) และอื่น ๆ การมี Digital Leadership ไม่จำเป็นต้องรู้เทคนิคในเชิงลึกแต่ต้องรู้ว่าเทคโนโลยีนั้น ๆ จะเข้ามามีผลกระทบอย่างไร และจะรับมืออย่างไรให้ถูกต้องและเป็นประโยชน์แก่องค์กร

10. Government tightens its cyber security and radical approach may be needed
ยิ่งเปิดบริการออนไลน์ภาครัฐยิ่งเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัย

บทเรียนนี้เกิดขึ้นกับรัฐบาลทั่วโลกในรอบปีที่ผ่านมาแล้ว เนื่องจากความต้องการของภาคประชาชนที่อยากให้ภาครัฐออนไลน์ อยากให้เปิดเผยข้อมูล อยากให้มีบริการใหม่ ๆ มากขึ้น ดังนั้นยิ่งเปิดมากเท่าใดความเสี่ยงในด้านความปลอดภัยก็มีมากขึ้นเท่านั้น ที่ผ่านมาภาครัฐหลายประเทศมีการปรับตัวและแก้ไขในเรื่องนี้แตกต่างกันไป เช่น สิงคโปร์นั้นถึงกับตัดเครื่องคอมพิวเตอร์เดสก์ทอปกว่าแสนตัวออกจากระบบการออนไลน์ทั้งหมด เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีเก่าที่มีโอกาสถูกเจาะระบบเข้ามามากที่สุด เป็นต้น

ดังนั้นในปีนี้ EGA จะเร่งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนแบบเร่งด่วนในการหามาตรการที่จะปกป้องระบบโดยรวม ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์เครือข่ายอื่น ๆ รวมถึงการวางระบบป้องกันใหม่ ๆ ให้ได้ตามมาตรฐานสากล ซึ่งน่าจะทำให้เกิดระบบการให้บริการในรูปแบบใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย

บทสรุปของความเคลื่อนไหวทั้ง 10 เทรนด์ ความท้าทายนี้ เป็นเพียงการหยิบยกงานสำคัญ ๆ ที่ส่งผลไปสู่การ Transformation เท่านั้น EGA ยังคงมุ่งมั่นทำงานอย่างจริงจัง ที่จะสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐทุกภาคส่วนมีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทุก ๆ ท่านจะได้รับทราบอย่างใกล้ชิดเพื่อร่วมประกาศเจตนารมย์ตามแผนงานต่าง ๆ ของ EGA ที่วางไว้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวให้ประชาชนได้มั่นใจว่า จะได้เห็นมิติใหม่ของภาครัฐที่มีการบูรณาการร่วมกันเชิงรุก เพื่อนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติต่อไป

ที่มา : EGA Thailand