“ร้านอาหาร” หนึ่งธุรกิจสำคัญที่รัฐบาลต้องการปั้นให้แข็งแกร่ง เพราะธุรกิจนี้จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต ทั้งธุรกิจร้านอาหารยังเป็นธุรกิจที่คนไทยนิยมทำมากที่สุดในประเทศ โดยมีการคาดการณ์ว่า มีผู้ประกอบการร้านอาหารทั้งสิ้นกว่า 100,000 ราย ซึ่งในจำนวนทั้งหมดได้มีการจดทะเบียนนิติบุคคลเพียง 12,130 รายเท่านั้น และในตัวเลขนี้คิดเป็นมูลค่าทุนจดทะเบียนสูงถึง 74,825 ล้านบาท สำคัญที่สุดคือร้านอาหารเกือบทั้งหมด 99.64% ล้วนเป็น SMEs นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ใครๆก็อยากมีส่วนเอี่ยวกับธุรกิจนี้
สร้าง Sub-Segmentation ให้โดนใจผู้บริโภครุ่นใหม่
จากการตื่นตัวในธุรกิจร้านอาหารที่เกิดขึ้น ทำให้ SMEs ไทยต่างมุ่งเน้นไปที่การสร้างสรรค์เมนูเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม อย่างเมนูที่มาแรงในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นชา กาแฟ เบเกอรรี่ รวมถึงประเภทอาหารอย่างบุฟเฟต์ ชาบู ปิ้งย่างและอาหารแนวเพื่อสุขภาพบวกับการ Eating Out กลายเป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ทำให้ SMEs ต้องคิดค้นการทำร้านอาหารที่สามารถหาส่วนแบ่งของตลาด ด้วยการแยกผู้บริโภคออกเป็นกลุ่มย่อยๆ เช่น ร้านที่ออกแบบมาเพื่อเอาใจลูกค้าปิ้งย่างอาหารทะเลโดยเฉพาะ หรือร้านประเภทน้ำต้มจิ้มจุ่มทะเลที่ออกแบบมาเพื่อลูกค้าที่ชอบการกินสไตล์นี้ แต่เพราะปัจจุบัน SMEs บ้านเรายังไม่สามารถจับกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนมากนัก ทำให้ SMEs ไทยต้องตีโจทย์ให้แตก
มองหาเทรนด์ที่ผู้บริโภคต้องการอย่างแท้จริง
ผู้บริโภคยุคนี้ให้ความสำคัญกับการเลือกซื้ออาหารอย่างมาก ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยทั้งความวิตกกังวลต่อวิกฤติขาดแคลนอาหารไปจนถึงความต้องการในรูปแบบเฉพาะต่างๆ สามารถแยกออกเป็น 4 เทรนด์ความต้องการหลักๆดังนี้
- เน้นอาหารที่เฉพาะเจาะจง
กลุ่มผู้บริโภคจะเลือกกินอาหารจากพืชลดการกินเนื้อสัตว์ และอาหารต่างๆต้องผ่านกรรมวิธีการแปรรูปน้อยที่สุด เน้นความเรียบง่าย สดสะอาด และ ให้ความสำคัญในการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอาหาร
- มองถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม
ผู้บริโภคจะให้คุณค่าของอาหารมากขึ้น พวกเขาจะศึกษาถึงความปลอดภัยจากแหล่งที่มา พร้อมสนับสนุนร้านที่นำอาหารเหลือทิ้งไปสร้างประโยชน์ต่อ เช่น นำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์หรือทำปุ๋ย ฯลฯ
- ให้ความสำคัญกับแพคเกจจิ้ง
จะไม่เน้นปริมาณฟู่ฟ่า แต่จะให้ความสำคัญกับความพอดีต่อการกินของ 1 คนใน 1 มื้อรวมถึงมองหาคุณค่าของแบรนด์และรูปลักษณ์ความงามของแพ็กเกจจิ้ง
- ตัดสินใจซื้อจากข้อมูลทางออนไลน์
ผู้บริโภคจะหาข้อมูลต่างๆก่อนใช้บริการร้านอาหารผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้กลยุทธ์การตลาดออนไลน์ที่มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจ
ใช้กลยุทธ์สุดทันสมัยและเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย
สุพรรณี วาทยะกร อาจารย์สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เปิดเผยว่า ธุรกิจร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้านกำลังได้รับความนิยม และเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งการเติบโตนี้ถือเป็นความท้าทายต่อการสร้างความแตกต่าง การควบคุมคุณภาพรวมถึงการผลิต จากการวิจัยพบว่ามี 58% บอกว่ารูปภาพอาหารคือสิ่งดึงดูดใจพวกเขามากที่สุด โดยสามารถสรุปเป็นกลยุทธ์ 7 ข้อเพื่อลดความเสี่ยงและสร้างโอกาสใหม่ๆในคอนเซ็ปต์ “SECRETS” ดังนี้
S – Search: ทำ SEO เพื่อสนองการค้นหาบนอินเทอร์เน็ต พร้อมสร้างความน่าเชื่อถือ เป็นที่รู้จัก
E – Emotional Value: เพิ่มจุดเด่นของสินค้าด้วยการเพิ่มมูลค่าทางอารมณ์ความรู้สึกเข้าไป
C – Communication: บอกเล่าข้อมูลและรูปภาพให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการและตอบโจทย์ความต้องการ
R – Raw Material: นำวัตถุดิบคุณภาพ มานำเสนอให้ผู้บริโภคสัมผัสได้ถึงความเหนือชั้น คุ้มค่ากับราคา
E – Essential Tools: นำเทคโนโลยีสมัยใหม่และเครื่องมือดิจิทัลต่างๆเข้ามาช่วยให้งานง่ายขึ้น เร็วขึ้น
T – Team: สร้างทีมที่แข็งแกร่ง มีประสิทธิภาพ ให้เกิดระบบงานบริการอย่างมืออาชีพ
S – Service: ออกแบบงานบริการสุดประทับใจ
ใช้เทคโนโลยีจาก Startup เข้ามาช่วยให้ธุรกิจง่ายขึ้น
นั่นเพราะเทคโนโลยีจากสตาร์ทอัพเจ๋งๆช่วยให้ผู้ประกอบการจัดการระบบต่างๆในร้านอาหารได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น Food Solution ที่ได้นำเทคโนโลยี 4 ส่วนเข้ามาใช้ทำงานร่วมกัน คือ
- Food Story ที่ทำงานบนไอแพด ในการคอยดูแลเรื่องการรับ-ส่งออร์เดอร์ไปที่ระบบหลังร้านเพื่อปรุงอาหาร ขณะเดียวกันระบบก็จะตัดยอดวัตถุดิบในสต๊อก
- Flow Account ช่วยดูแลเรื่องระบบบัญชีออนไลน์ โดยจะมีการอัพเดตยอดขายและต้นทุนของร้านเข้าระบบบัญชีออนไลน์ทันที ทำให้ SMEs ไม่เสียเวลาลงบัญชีในแต่ละวัน
- ธนาคารกสิกรไทย ที่จะมาให้บริการรับชำระเงินด้วย mPOS รองรับทั้งบัตรเครดิตหรือเดบิตผ่านอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับไอแพด
- เครือข่ายอินเตอร์เน็ตจาก AIS ทำให้การเชื่อมต่อระบบการทำงานทั้งหมดเข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ เกิดประสิทธิภาพและถูกต้องแม่นยำ
นอกจากนั้นยังมี Startup อื่นๆอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ SMEs ด้านร้านอาหารควรเร่งศึกษาปรับตัว พร้อมนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจให้เกิดโอกาส และประสบการณ์ใหม่ๆที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคอย่างสร้างสรรค์