พ่อค้ายอดนักสู้ ปลุกตำนานตลาดนัดรถไฟ


จุดเริ่มต้นมาจากความชอบของเก่า ซื้อสะสมเป็นทุนเดิมมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น 17-18 พอเข้าสู่วัยทำงาน เหมือนชีวิตเล่นตลก ตกงานไม่มีงานทำอยู่หลายเดือน หันซ้ายหันขวาไม่เจอใคร เจอแต่ของเก่า ก็เลยจำเป็นต้องเอาของเก่ามาขาย แต่ก่อนที่จะได้มาเป็นพ่อค้าขายของเก่าเต็มตัว ก่อนหน้านั้นมีพี่ที่รู้จักทำอาชีพพร๊อพแมน (หาของประกอบฉากหนังละครอีเว้นท์)

ชวนไปเดินดูของเก่าที่ตลาดคลองถม ครั้งแรกที่ก้าวเท้าเข้าไปในตลาด ตาลุกวาว อึ้ง ตะลึงกับความใหญ่โตของตลาดคลองถม “โอโห เฮ้ย !! มันมีตลาดแบบนี้ด้วยหรอเนี่ย” นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ คุณไพโรจน์เห็นแล้วว่าจะทำเงินกับของสะสมที่อยู่ที่บ้านได้อย่างไร

เปิดซิงพ่อค้าขายของเก่า

ประเดิมขายตลาดของถมวันแรก เจอเจ้าถิ่นเล่นงาน เพราะเห็นว่าขายดี โดนไล่ที่ พอไล่ก็เขยิบที ไล่ที เขยิบที จนในที่สุดไม่มีแผงว่างแล้ว ก็เลยทนไม่ไหวโวยวายไม่ยอม อ้างค้าขายมานานยืนกระต่ายขาเดียวจะขายแผงตรงนี้ ในที่สุดก็ชนะมีแผงขายประจำสมใจ แต่ตลาดคลองถมอย่างที่รู้กันตอนนั้น มีแค่ตลาดนัดวันเสาร์ ส่วนวันอื่นที่ไม่ได้ขายคุณไพโรจน์ ก็เอาเวลาไปเดินหาของเก่า

โชคดีตรงที่รู้ว่าจะไปหามาจากไหน ของอะไรขายได้ ขายไม่ได้ และมีที่ปล่อยของเรียบร้อย ทุกอย่างจึงไปได้สวย ช่วงนั้นขายทุกเสาร์ ขายดีเหมือนแจกฟรี รายได้หมื่นกว่าบาทต่อวัน ตกเดือนละ 50,000-60,000 จากวันนั้นคุณไพโรจน์ได้คำตอบสำหรับชีวิตที่ตกงานคือ นี่แหละอาชีพใหม่ของเรา

ตกเบ็ดในบ่อที่มีปลา

ต่อมาคุณไพโรจน์สังเกตเห็นว่า ลูกค้าขาประจำที่มาซื้อของเก่า ส่วนใหญ่เปิดร้านอยู่ที่ตลาดนัดจตุจักร ก็เลยคิดว่าจะย้ายไปขายแถวจตุจักร จะได้ใกล้แหล่งค้าขายมากขึ้น ลงไปสำรวจตลาดนัดจตุจักรกลับพบว่า คนที่จะเปิดร้านจตุจักรได้ ต้องจ่ายค่าเซ้ง

ซึ่งก็รู้กันอยู่ว่า คนที่เข้าไปขายของที่จตุจักรสินค้าควรมีจุดขาย มีฐานลูกค้าบ้างแล้ว มีเงินทุนหนาพอสมควร เพราะค่าเซ้งก็หลายแสน ดังนั้นจึงปรึกษากับเพื่อนที่เปิดร้านขายของเก่า อยู่ฝั่งตรงข้ามจตุจักรว่าทำยังไงดีอยากย้ายมาเปิดร้านแถวนี้ เพื่อนแนะนำให้มาเปิดร้านได้เลยมีห้องว่างพอดี ไม่ต้องมีค่าเซ้ง แถมค่าเช่าถูกอีกด้วย คุณไพโรจน์จึงตัดสินใจย้ายร้านจากตลาดคลองถม มาขายที่จตุจักร

ของเก่าก๊อปเกรด A !

เปิดร้านแถวจตุจักร ก็ขายดีขึ้นๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ ขยายห้องเช่าเพิ่มขึ้น เลยหาช่างมาทำเฟอร์นิเจอร์เลียนแบบของเก่า แล้วเอามาตั้งขาย ก็ขายได้อีก เพราะของเก่าที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ บางอย่างมีชิ้นเดียวแล้วหายากมาก หาไม่ได้ แต่ลูกค้าอยากได้ จึงทำของเลียนแบบ เลียนแบบเหมือนมากจนลูกค้าซื้อของเก่า ยังดูไม่ออกว่า อันไหนของแท้ อันไหนของก๊อปเกรด A เรียกว่าเหมือนไอโฟนงาน Mirror 1:1

ตลาดเต็ม ต้องขยาย ให้ดัง

ทำไปทำมาโดนไล่ที่  ด้วยหัวใจนักสู้ไม่ยอมแพ้ หาที่ใหม่ ไปได้ที่ตรงโกดังเก่าของการรถไฟ ซึ่งไม่มีใครเข้าไปทำ เพราะมันเก่ามาก ฝุ่นหนาเป็นนิ้ว เจรจาอยู่นาน จนในที่สุดก็ได้เช่าสมใจ เดิมพันด้วยชีวิต ถ้าจะเจ๊งก็ให้มันเจ๊งไป คุณไพโรจน์ได้เข้าไปบุกเบิกทำเป็นโกดังขายของเก่าเป็นคนแรก การย้ายร้านมาเปิดที่ใหม่ ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

เนื่องจากมีฐานลูกค้าเก่าอยู่แล้ว ต่อมามีพ่อค้าแม่ค้า ย้ายตามมาขอเปิดร้านในโกดังด้วย เลยแบ่งที่ให้เช่า ก็ได้ค่าน้ำค่าไฟ ได้ค่าเช่าที่ โดยไม่ต้องดิ้นรน เมื่อคนย้ายมาขอเช่าเยอะขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พ่อค้าแม่ค้า ที่ขายสินค้าประเภทเดียวก็เริ่มขายของไม่ได้ จากจุดนั้นเองทำให้ คุณไพโรจน์คิดหาหนทาง ขยายตลาดนัดให้สินค้ามีความหลากหลาย เพื่อดึงคนมาเดินซื้อของเยอะขึ้น

จึงถือโอกาสเจรจากับการรถไฟขอเช่าที่เพิ่ม ขยายออกไปทั้งด้านหน้าและด้านข้าง กลายเป็นตลาดนัดขายสินค้ามือสอง คนมาเดินเที่ยวก็ถ่ายรูปลงเฟสบุ๊ก อินสตาแกรม บอกปากต่อปากในกลุ่มคนหาของเก่า หลังจากนั้นประมาณ 3-4 เดือน มีรายการทีวีมาถ่ายทำ คนก็เริ่มมาเดินเยอะขึ้นๆเรื่อยๆ จากจุดนั้นเองทำให้ตลาดนัดรถไฟโด่งดัง กลายเป็นที่รู้จัก จนมาถึงปัจจุบัน

กำเนิดใหม่ ใหญ่กว่าเดิม

พูดแล้วเหมือนสวรรค์กลั่นแกล้ง โดนไล่ที่รอบสอง พ่อค้าแม่ค้าก็ร้องกันระงม ให้คุณไพโรจน์ช่วย ด้วยความที่เป็นเจ้าของตลาดนัด ดูแลเหมือนญาติพี่น้องก็เลยทิ้งกันไม่ได้ ทำอย่างไร จนในที่สุดไปเจอที่ดินตรงศรีนครินทร์ เจ้าของที่ดินเป็นคนรู้จักกันมาก่อนเพราะเคยทำตลาดนัดแต่ไม่ประสบความสำเร็จ สบโอกาสคุณไพโรจน์เจรจาขอเช่าที่ทำตลาดนัดทันที เจ้าของที่เลยยกที่ดินทั้งหมดให้บริหาร

ตัวแปรที่ทำให้ก่อนหน้านี้เจ้าของที่ดินทำตลาดนัดแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็คือ เปิดตลาดนัด เวลาเดียวกับห้างสรรพสินค้าแถวนั้น จึงทำให้คนมาเดินน้อย คุณไพโรจน์เห็นแล้วจึงวางแผนว่า ตลาดนัดต้องเปิดกลางคืน เพราะคนเลิกงานมาเดินพักผ่อนซื้อของ คุณไพโรจน์ได้นำเอาประสบการณ์จากการปั้นตลาดนัดจนประสบความสำเร็จมาแล้วสองครั้ง ครั้งที่สามจึงทำให้โด่งดังประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ได้ในที่สุด และขยายพื้นที่ไปทำสาขา 2 ตลาดนัดรัชดาก็ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน