การค้าขายในตลาดออนไลน์ ยังคงเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่น่าจับตา ด้วยแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เอสเอ็มอีหลายรายที่หันมาจับธุรกิจออนไลน์พอได้ลืมตาอ้าปากกันได้บ้าง ซึ่งหากผู้ที่เกี่ยวข้องมีการส่งเสริม สนับสนุนและสร้างโอกาสในการต่อยอด เชื่อว่าท่ามกลางการแข่งขันที่สูงลิบ จะมีที่ยืนให้เอสเอ็มอีไทย ได้สร้างโอกาสจากการทำธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า เปิดเผยว่า ในปี 2562 กสอ. มีนโยบาย ในการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปี 2562 ด้วยแนวคิด “การตลาดนำการผลิต” ซึ่งนโยบายดังกล่าว มุ่งให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ทันกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมในเรื่อง “การทำตลาดออนไลน์” หรือดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการช่วยขับเคลื่อนการแข่งขันทางธุรกิจ โดยเฉพาะการลดต้นทุนการก้าวนำคู่แข่ง การเชื่อมโยงผู้บริโภคจากทั่วโลก รวมทั้งความได้เปรียบทางด้านข้อมูลที่ยุคนี้จะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว
สำหรับเทรนด์การทำการตลาดผ่านช่องทางดิจิทัลในปี 2562 คาดว่าจะมีการแข่งขันกันในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวและติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะใน 5 เรื่องที่สำคัญต่อไปนี้
การสร้างเรื่องราวของแบรนด์ หรือ Content Marketing
ซึ่งจะต้องมีความแตกต่าง จากการนำเสนอเนื้อหาของแบรนด์ด้วยประสบการณ์จริงที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจ มีความรวดเร็ว สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆที่เป็นปัจจุบัน และต้องสร้างความรู้สึกให้ผู้พบเห็นหรือผู้บริโภครู้สึกอยากติดตามจากความสม่ำเสมอในการนำเสนอเนื้อหาที่ต้องไม่มากหรือน้อยจนเกินไป
การเลือกใช้ช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการจำหน่าย
เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ล้วนเข้าถึงสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆแทบทั้งสิ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องรู้จักการนำสินค้าให้เข้าไปอยู่บนช่องทางที่สอดคล้องกับผู้บริโภคในแต่ละช่วงอายุ เช่น ตลาดผู้สูงอายุต้องใช้ช่องทางที่ไม่ซับซ้อนและเข้าถึงง่าย กลุ่มวัยรุ่นต้องเน้นภาพ เนื้อหา และการโต้ตอบ กลุ่มคนวัยทำงานเน้นช่องทางที่สามารถชำระค่าบริการได้อย่างเบ็ดเสร็จ เป็นต้น
การให้ความสำคัญกับข้อมูล (Big Data)
จากพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญ อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถศึกษาได้จากผู้ให้บริการช่องทางการค้าออนไลน์ ทั้งการให้ความสนใจกับสินค้าแต่ละประเภท การตัดสินใจเลือกซื้อ รวมถึงการติดตามผ่านการสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งจะทำให้ทราบถึงแนวทางการปรับปรุงคุณภาพสินค้าและการบริการ ต่อเนื่องถึงการสร้างความภักดีต่อแบรนด์ในระยะยาว
ให้ความสำคัญกับความรวดเร็ว
ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับการรับมือจากการเข้ามา ของระบบเทคโนโลยี 5 G ซึ่งอาจมีผลที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคมีความรวดเร็วในการตัดสินใจ ความเร่งรีบในการเลือกชมสินค้า ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องปรับกลยุทธ์การนำเสนอเนื้อหาที่ต้องสามารถเห็นแล้วเข้าใจทันที มีระบบการสั่งซื้อ จ่ายเงิน และการขนส่งที่รวดเร็ว การตอบข้อสงสัยด้วยระบบอัตโนมัติเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้ตลอดเวลา
เตรียมกำลังคนให้พร้อมกับทักษะด้านดิจิทัล
ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งในแต่ละองค์กร ดังนั้นทั้งผู้ประกอบการและบุคลากรในแต่ละธุรกิจจึงต้องมีทักษะในเรื่องดังกล่าว เช่น การรับ-ส่งข้อมูล การวิเคราะห์สถิติต่างๆ การอัพเดทเทคโนโลยีใหม่ๆที่สามารถเป็นเครื่องมือและเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจ
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และอาลีบาบา บิสิเนส สคูล จัดสัมมนา Alibaba Global Course ภายใต้แนวคิด “New Technology, New Opportunity Thailand 2018” เพื่อให้เอสเอ็มอีไทย ชิงความได้เปรียบบนช่องทางการตลาดออนไลน์ โดยมีองค์ความรู้ที่สำคัญต่างๆ เช่น การเจาะลึกปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (Human Computer Interactive) เส้นทางในการก้าวสู่การเป็นดิจิทัลของเมืองเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการไทยในด้านความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นต้น