5 วิธีรับมือเมื่อลูกน้องคนสำคัญมีทีท่าจะลาออก


ไม่มีปัญหาการทำงานไหนจะหนักใจไปมากกว่าเรื่องของ ‘พนักงาน’ เพราะหนึ่งบริษัทอาจจะต้องดูแลคนนับร้อยนับพันคน ปัญหาพนักงานจึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาแบบแก้กันไม่ตก

และปัญหาที่หนักใจผู้บริหารมากที่สุดและอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทในภาพรวมก็คือ เมื่อลูกน้องมือดีมีทีท่าว่าจะลาออกนั่นเอง เพราะถ้าขาดคนนำ หรือคนมีฝีมือ ก็เท่ากับว่าบริษัทเราอาจจะต้องหยุดชะงัก หรือทำงานได้ไม่รวดเร็ว และไม่มีประสิทธิภาพเท่าเดิม เพราะฉะนั้นไม่ว่าเขามีความคิดจะลาออกเพราะเหตุผลอะไร อย่ารอให้เขาแสดงเจตจำนงให้คุณได้รู้ แต่ให้ใช้ 5 วิธีนี้จัดการซื้อใจเขาไว้เสียก่อน

1. นัดคุยกันตรงๆ
การได้เปิดใจคุยกันเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ลูกน้องคนเก่งเปลี่ยนใจ เพราะมันจะทำให้เราได้รู้ว่าเหตุผลที่เขาต้องการจะลาออกแท้จริงแล้วมันมาจากอะไรกันแน่ บางทีอาจเป็นแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการเลื่อนขั้น ตำแหน่ง หน้าที่ เงินเดือน รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ซึ่งเราสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขให้เขาได้ ดีกว่าต้องปลุกปั้นคนใหม่ๆ ให้เข้ามาแทนที่เขา ซึ่งต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายแพงกว่ากันมหาศาล

2. มอบสิ่งที่เขาต้องการ
เป็นเทคนิคสุดคลาสสิกที่สามารถใช้งานได้ดีจนถึงทุกวันนี้ พนักงานคนเก่งบางทีก็ไม่ได้อยากจะขอขึ้นเงินเดือนกับเราตรงๆ เพราะความที่ทำงานด้วยกันมานาน และสนิทกันมากจนรู้สึกเกรงใจ การจากไปของเขาเพื่อเงินเดือนที่มากกว่าดูจะเป็นตัวเลือกที่ทำให้เขาสบายใจกว่าเช่นกัน เพราะฉะนั้นทางที่ดีลองเสนอเงินเดือนค่าตอบแทนที่สูงขึ้นกับเขาดูก่อน แล้วคุณอาจจะพบว่าปัญหาน่าปวดหัวนี้ไม่มีอะไรให้ต้องเครียดอีกต่อไป

3. เสนอตำแหน่งที่สูงขึ้นกว่าเดิม
นอกจากเรื่องของเงินเดือนแล้ว การปรับตำแหน่งให้สูงขึ้นก็เป็นอีกสิ่งรองลงมาที่พนักงานทุกคนอยากจะได้ เพราะตำแหน่งที่สูงขึ้น ก็เท่ากับการทำงานที่ลดน้อยลง พร้อมรับเงินเดือนที่มากกว่าเดิมอีกนิดหน่อย ไม่มีเหตุผลอะไรที่ลูกน้องคนเก่งจะต้องปฏิเสธ เพราะเขาไม่ต้องไปเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรที่ไหนใหม่ อยู่กับบริษัทคุณก็ดูทุกอย่างจะดีอยู่แล้ว

4. พูดย้ำถึงข้อดีที่เขาจะได้รับเมื่อยังทำงานกับคุณ
เรื่องของการกลัวความเปลี่ยนแปลง เป็นเหมือนสัญชาตญาณที่ฝังอยู่ในจิตใจมนุษย์ทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ลูกน้องคนเก่งของคุณเองก็ตาม เพราะการต้องย้ายงานใหม่ พบเจอสภาพแวดล้อมทุกอย่างใหม่หมด มันเป็นเรื่องใหญ่มาก บางคนทำงานกับคุณมานานหลายปี การเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งก็เหมือนกับการโยนเหรียญ ผลงานในที่ใหม่ของเขาอาจไม่โดดเด่นเท่าตอนที่ทำอยู่กับคน ดังนั้นให้พูดย้ำให้เขาเห็นถึงความน่ากลัวของการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งพูดถึงข้อดีของการได้ร่วมงานกันต่อไปว่ามันจะส่งผลดีกับชีวิตพนักงานคนนั้นยังไงบ้าง เพื่อเป็นการเกลี้ยกล่อมให้เขาเก็บใบลาออกใส่กระเป๋า

5. มอบส่วนแบ่งเป็นหุ้นสำหรับพนักงาน
จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นสิ่งที่คนต่างประเทศใช้กันมาตลอด แต่จะไม่ค่อยเห็นที่ไทยสักเท่าไหร่ จะมีแค่ในธุรกิจสตาร์ทอัพเท่านั้น เป็นวิธีการจูงใจให้พนักงานคนเก่งอยู่กับคุณไปตลอด ซึ่งหุ้นสำหรับพนักงานนั้นมีไว้เพื่อให้เขาได้มีส่วนร่วมกับการเป็นเจ้าของบริษัทอย่างแท้จริง จนกว่าบริษัทจะเข้าตลาดหุ้นได้สำเร็จ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งผลตอบแทนและสิ่งต่างๆ ที่เขาจะได้รับมันจะเพิ่มมากขึ้นจากเดิมอย่างมาก แต่ในทางกลับกันคุณเองก็ต้องมั่นใจด้วยว่าทักษะ ฝีมือ และการทำงานของเขาเป็นของจริงแบบที่คุณต้องการ และจะไม่นึกเสียใจในภายหลังอย่างแน่นอน