ส่องสัญญาณที่บอกว่า ‘ผู้สมัคร’ คนนี้ไม่เหมาะกับองค์กรของคุณ


การสัมภาษณ์งานเพื่อรับใครสักคนเข้ามาในองค์กรนั้นไม่ต่างจากการจับไม้สั้นไม้ยาว เพราะเมื่อไหร่ที่คุณได้คนที่ดี นั่นแปลว่าคุณโชคดีที่ข้อมูลต่างๆ ที่เขาบอกในวันสัมภาษณ์เป็นความจริง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณได้คนที่ไม่ตรงกับความต้องการขององค์กรมาร่วมงาน และรู้สึกว่าเขาไม่สามารถช่วยคุณได้แบบที่คุณต้องการ นั่นแปลว่าวันสัมภาษณ์คุณอาจโดนเขาพูดจาหว่านล้อมเกินจริงเข้าให้แล้ว

และนี่คือ 6 วิธีสังเกตง่ายๆ ในการสัมภาษณ์งานว่าคนสมัครคนไหนที่ไม่ควรรับเข้าไว้ในองค์กร

1. พูดเรื่องแย่ๆ ของบริษัทเก่า
คนที่กล้าที่จะพูดในเรื่องไม่ดีของบริษัทเก่าให้บริษัทใหม่ฟังได้ นั่นแสดงว่าเขาพร้อมที่จะตำหนิคนอื่นอยู่ตลอดเวลา และกล้าที่จะนินทาคนอื่นๆ ให้อีกคนฟังทันที ซึ่งแน่นอนว่าความลับของบริษัทคุณที่เขากำลังจะได้เข้าไปเรียนรู้และสัมผัส ก็พร้อมจะกลายเป็นข้อมูลให้กับคู่แข่งในอนาคตอย่างแน่นอน

2. ไม่ให้ข้อมูลติดต่อหัวหน้าปัจจุบัน
ดูเผินๆ อาจเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่สิ่งนี้ทำให้คุณสามารถรู้ได้ทันทีว่า บริษัทเก่าของเขาอาจเกิดปัญหาบางอย่าง หรือเขาอาจทำผิดกฎร้ายแรงของบริษัท ไม่อย่างนั้นคงกล้าที่จะให้ข้อมูลติดต่อ เพื่อโทรซักถามประวัติของหัวหน้าเก่าอย่างไม่มีอะไรปิดบัง ซึ่งมันจะดีกว่าไหมถ้าคุณสามารถเลือกคนที่มีประวัติขาวสะอาดและตรวจสอบได้ ดีกว่าลุ้นกับสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้

3. มองข้ามความผิดพลาดและข้อเสียของตัวเอง
ทุกคนย่อมมีข้อเสียอยู่ในตัว และคนที่ควรคู่แก่การรับเข้าองค์กรคือคนที่รู้จักตัวเองดีและพร้อมจะพัฒนาให้ดีขึ้น ผิดกับคนที่ไม่รู้จักข้อผิดพลาดของตัวเอง เวลาถามถึงข้อเสียก็ไม่บอก หรือบอกว่าไม่มี นั่นแสดงว่าเขากำลังปิดบังบางอย่างอยู่ ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ร้ายแรงและไม่เหมาะสมที่จะรับเข้าสู่องค์กรก็เป็นได้

4. ปิดบังสาเหตุที่แท้จริงของการเปลี่ยนงาน
คำถามยอดฮิตที่ห้ามพลาดเด็ดขาดในการสัมภาษณ์งานคือ เหตุผลที่เปลี่ยนงาน ซึ่งมันทำให้คุณเห็นถึงทัศนคติและความเป็นไปของผู้สมัครตรงหน้าได้อย่างดี ทำให้วิเคราะห์ได้ว่าเหมาะสมสำหรับองค์กรของคุณหรือไม่ แต่ในทางกลับกันถ้าผู้สมัครเปลี่ยนเรื่อง หรือพยายามบ่ายเบี่ยงไม่ยอมตอบตรงๆ อธิบายเหตุผลคลุมเครือ คุณเองก็อาจจะต้องเผื่อใจไว้ด้วยว่าสาเหตุที่เขาออกจากที่เก่านั้น เป็นเพราะการประพฤติตัวที่ไม่ดีของเขาเอง

5. คนรอบตัวผู้สมัครไม่อยากให้ทำที่นี่
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ ความคิดเห็นของคนรอบตัวผู้สมัคร เช่น พูดคุยกันสักพักถึงเข้าใจว่าพ่อแม่ หรือครอบครัวผู้สมัครไม่สนับสนุนและไม่อยากให้ทำที่องค์กรของคุณ เนื่องจากเดินทางไกล ลำบาก ไกลบ้าน ต้องเช่าหอ เช่าห้องอยู่ ซึ่งตรงนี้อาจเป็นปัญหาตามมาได้มากมาย เช่นทำงานไม่นานก็ลาออก ทนรับแรงกดดันจากที่บ้านไม่ไหว และมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตใจที่ส่งผลเสียต่องานได้อีกมากมาย

6. โกหกตั้งแต่วันแรกที่เจอ
การสัมภาษณ์ใครสักคนหนึ่ง ถ้าคุณสามารถจี้จุดจนจับได้ว่าเขาคนนั้นโกหก ขอให้ตัดเขาออกจากลิสต์รายชื่อผู้ผ่านเข้ารอบไปได้เลย เพราะไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เขาให้ไว้ในเรซูเม่ที่มันไม่ตรงกับประวัติการทำงานที่เขาเล่า หรือมีคำพูดบางอย่างที่แสดงถึงความไม่น่าไว้วางใจ คำพูดโกหกเหล่านี้ควรจะนำมาใช้ในการตัดคะแนน เพราะเมื่อเขายังกล้าโกหกคนที่เพิ่งเจอหน้าครั้งแรก นั่นหมายถึงว่าในการทำงานต่อๆ ไปคุณเองจะไม่สามารถเชื่อถืออะไรเขาได้เลย