เป็นนักฟังที่ดี ด้วยเทคนิค “สร้างคอนเนคชั่นขั้นเทพ”


คนเราทุกคนไม่มีใครชอบฟังเรื่องของคนอื่นมากกว่าเรื่องของตัวเอง หลายคนพยายามหาคอนเนคชั่นอย่างยากลำบาก โดยไม่รู้เลยว่าหนึ่งในสิ่งที่เขาหลงลืมและมักทำเป็นประจำคือ “ไม่เปิดโอกาสให้คู่สนทนาได้พูดบ้าง” พยายามพูดแต่เรื่องของตัวเอง พรีเซนต์ถึงความดีของธุรกิจตัวเอง มีแต่จะทำให้คนรอบตัวเบื่อหน่าย ดังนั้นสำหรับคนที่อยากจะมีคอนเนคชั่นขั้นเทพ ไปที่ไหนก็มีแต่คนรัก และอยากอยู่ด้วย นี่คือเทคนิคสำคัญที่จะทำให้คุณได้ในสิ่งที่ปรารถนา

1. รอให้คนตรงหน้าเปิดประเด็น
อันดับแรกเลยหลังจากที่คุณได้พบปะกับใครก็ตามในงานต่างๆ ให้ทำการเดินเข้าไปทักทายกันตามปกติทันที พูดคุยกันแบบหอมปากหอมคอ แต่หลังจากนั้นให้ปิดปากเงียบสนิทเข้าไว้ครับ รอให้คู่สนทนาของคุณเป็นคนเปิดประเด็น เพราะถ้าคุณเป็นคนเริ่มก่อนจะทำให้เผลอพูดในสิ่งต่างๆ ออกไปมากแบบไม่รู้ตัว และแน่นอนการเริ่มต้นก่อนนั่นแหละว่า เขาไม่ได้ถาม แต่คุณอยากจะนำเสนอ ดังนั้นความสนใจในเรื่องที่คุณเล่าจึงไม่น่าประทับใจในตัวเขาแม้แต่น้อย เทคนิคคือหลังจากที่เขาเป็นคนเปิดประเด็นแล้ว คุณก็ตั้งใจฟังและคิดคำถามที่สำคัญเพื่อถามเขากลับไป

2. ธรรมชาติคนเราจะชอบพูดมากกว่าฟังเสมอ
ต่อให้คุณจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม แต่ธรรมชาติของมนุษย์เราจะต้องการเป็นคนพูดมากกว่าฟังอยู่เสมอ เพราะการได้พูดจะเหมือนกับคุณได้ระบายสิ่งในใจออกมา มันทำให้คุณสบายใจและรู้สึกโล่ง กลับกัน การนั่งฟังคนอื่นพูดนานๆ ต้องอาศัยความอดทนอย่างมาก จึงทำให้น้อยคนนักจะทำ ดังนั้นการที่คุณสามารถอดทนฟังคู่สนทนาเล่าสิ่งต่างๆ ได้เป็นเวลานาน จึงทำให้เขาเหล่านั้นเกิดความประทับใจ และรู้สึกดี รู้สึกว่าคุณแตกต่างจากคนอื่นๆ ดังนั้นการรับฟังจะช่วยเพิ่มคอนเนคชั่นให้กับคุณได้แน่นอน

3. เริ่มต้นถามแบบฉลาด เพื่อให้อีกฝ่ายระบายออกมา
คนส่วนใหญ่คงไม่มีใครที่อยู่ๆ ก็เข้ามาพูดคุยระบายเรื่องในใจออกมาให้คนแปลกหน้าฟังแน่นอนครับ ดังนั้นคุณต้องอาศัยการกระตุ้น หรือกระทุ้งสิ่งที่อยู่ในใจให้เขาได้พูดมันออกมา โดยการใช้คำถามที่ชาญฉลาด โดยห้ามใช้คำถามเชิงลบเด็ดขาด ซึ่งคำถามที่ฉลาดนั้นก็คือคำถามเชิงบวก ที่ทำให้คู่สนทนาเกิดความภูมิใจที่ได้เล่า เช่น “ผมเห็นธุรกิจคุณประสบความสำเร็จมากเลย ใครๆ ก็พูดถึงกัน ตรงนี้ขอถามได้ไหมครับว่าเริ่มต้นแนวคิดนี้มาได้ยังไง” ซึ่งจะทำให้คู่สนทนาอดใจไม่ไหวที่จะเล่าถึงเรื่องของตัวเอง และเป็นการเล่าอย่างภาคภูมิใจอีกด้วย

4. พยายามฟังให้จบ แล้วค่อยแทรก
คุณสมบัติของผู้ฟังที่ดีคือ ฟังให้จบในบทสนทนานั้นๆ ต้องรับฟังให้คู่สนทนาพูดจบประโยคซะก่อน แล้วจึงค่อยถามแทรก หรือขอตัวตัดบท อย่าพยายามพูดขัด เพราะจะทำให้คนตรงหน้าเกิดความรำคาญที่ทำให้เขาสะดุดกับการเล่าเรื่อง หรือถ้าต้องการขัดจริงๆ อาจจะใช้สัญลักษณ์ท่าทาง ยกมือแล้วบอกว่า “ขอแทรกนิดนึงได้ไหมครับ” ก็จะทำให้คนตรงหน้าไม่รู้สึกว่าตัวเองโดนขัดมากจนเกินไป

5. เล่นต่อคำเพื่อให้บทสนทนาไหลลื่น
สำหรับใครที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มบทสนทนายังไงให้ไหลลื่น และให้คู่สนทนารู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติ เล่าสิ่งที่ตัวเองอยากรู้ออกมาเยอะๆ ก็แนะนำให้ค่อยๆ ฝึกพัฒนาทักษะการถามของคุณควบคู่ไปกับทักษะการฟัง โดยหลังจากที่คู่สนทนาเริ่มพูด คุณเองก็พยายามจับใจความสำคัญ แล้วนำมาถามต่อ เหมือนคุณกำลังเล่นต่อคำ ดูว่าสิ่งที่คู่สนทนาพูดมาคืออะไร และถามถึงรายละเอียดลึกเข้าไปเรื่อยๆ ก็จะช่วยให้การสนทนาไหลลื่น และดึงข้อมูลออกมาได้เยอะเลย