การทำธุรกิจอะไรสักอย่างเป็นของตัวเองอาศัยมากกว่าความฝัน และไม่ใช่ทุกคนจะประสบความสำเร็จซะทุกรายไป เพราะสิ่งจำเป็นคือคำแนะนำดีๆ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น ไปจนถึงระหว่างทางที่เตือนว่าเราจะพบเจออุปสรรคใดบ้าง และทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ ซึ่งหนังสือ ถือได้ว่าเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีสำหรับการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ อีกทั้งยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจได้ดีอีกด้วย
วันนี้ เรามีหนังสือเกี่ยวกับเอสเอ็มอีและการทำธุรกิจ ที่คนเป็นผู้ประกอบการไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง มีเล่มไหนบ้าง ไปดูกัน
1. ‘The Art of the Start 2.0 : The Time-Tested, Battle-Hardened Guide for Anyone Starting Anything’
ภาพจาก Amazon.com
ผลงานสุดคลาสสิกของ Guy Kawasaki ที่ติดอันดับ bestselling เพราะอัดแน่นไปด้วยคำแนะนำในหัวข้อต่างๆ อย่างนวัตกรรม การระดมทุน และการสร้างแบรนด์ สำหรับเจ้าของกิจการ เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก หรือผู้นำองค์กรที่ไม่เน้นผลกำไร คำแนะนำเหล่านี้กลั่นมาจากประสบการณ์หลายสิบปีของ Kawasaki นักการตลาดชื่อดังผู้เคยร่วมงานกับ Steve Jobs
ในเวอร์ชัน 2.0 Kawasaki ได้เพิ่มเติมมุมมองทางเทคโนโลยีและคำแนะนำเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียเข้าไปด้วย รวมถึงการทำ crowdfunding หรือระดมทุนจากฝูงชนผ่านเว็บไซต์กลาง, cloud computing และอื่นๆ
Kawasaki เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่เกิดขึ้นในแวดวงธุรกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คลื่นลูกนี้ซัดสาดจนทำให้บริษัทต่างๆ ที่เคยเป็นผู้นำในตลาดพากันซวดเซ แต่ขณะเดียวกันปัจจัยพื้นฐานก็เอื้อให้สามารถลงมือทำธุรกิจได้ง่ายดายขึ้น ด้วยต้นทุนที่ถูกลง พร้อมกับที่โซเชียลมีเดียได้เข้ามามีบทบาทแทนพีอาร์และโฆษณา ในฐานะช่องทางโปรโมทที่สำคัญ ขณะที่ Crowdfunding กลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการระดมทุน นอกเหนือจากการมองหานักลงทุน
The Art of the Start 2.0 จะอธิบายถึงวิธีการนำเครื่องมือใหม่ๆ เหล่านี้ มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับวางแนวทางรับมือสิ่งท้าทายหลักๆ ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาหรือเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการสร้างทีมงานที่แข็งขัน การสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ยอดเยี่ยม และการต่อกรกับคู่แข่ง
2. ‘The Founder’s Dilemmas: Anticipating and Avoiding the Pitfalls That Can Sink a Startup’
ภาพจาก Amazon.com
ผลงานของ Noam Wasserman อาจารย์ประจำภาควิชาพัฒนาผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ซึ่งรวบรวมภาพรวมจากการวิจัยนานนับสิบปี มาให้เห็นว่าเส้นทางไหนนำผู้ประกอบการไปสู่ความสำเร็จ และทางสายไหนที่จะไปไม่รอด โดยยกตัวอย่างจากโลกแห่งความเป็นจริง มาประกอบคำอธิบาย รวมถึงข้อมูลมากมายเกี่ยวกับผู้ประกอบการเกือบหมื่นราย แถมด้วยเรื่องราวอินไซด์เกี่ยวกับ Evan Clark Williams ซึ่งก่อตั้งบริษัทอินเทอร์เน็ตหลายแห่ง ทั้งยังเคยเป็นประธานและหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร Twitter ตามด้วยเรื่องราวของ Tim Westergren ผู้ร่วมก่อตั้ง Pandora Radio
ตอนคิดลงมือทำธุรกิจ หลายคนอาจไม่มั่นใจและอยากได้เพื่อน หนังสือเล่มนี้ให้คำแนะนำว่าทำอย่างไรจึงจะทราบว่าตัวเองสามารถบริหารงานได้เองทั้งหมด หรือควรดึงคนนอกเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระ ไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง หรือในฐานะนักลงทุน โดยมีการลงรายละเอียดว่าดีไหมที่จะทำธุรกิจร่วมกับเพื่อน หรือญาติ ถ้าร่วมมือกันแล้วจะจัดสรรปันส่วนหุ้นอย่างไร และเมื่อไรที่ผู้ร่วมก่อตั้งควรออกจากบริษัทไป ไม่ว่าจะโดยสมัครใจหรือจำยอม
ผู้เขียนยังสะท้อนให้เห็นความจำเป็นในการรักษาสมดุลระหว่างการดูแลธุรกิจเอง กับการดึงคนนอกฝีมือดีเข้ามาช่วยขับเคลื่อน ในทุกๆ ขั้นตอนของการทำธุรกิจ
3. ‘Conquer the Chaos: How to Grow a Successful Small Business Without Going Crazy’
เขียนโดย Clate Mask กับ Scott Martineau ถือเป็นคู่มือสำหรับผู้ประกอบการที่พบว่าแต่ละวันมีปัญหาจุกจิกให้ดูแล ไม่ต่างจากการวิ่งดับไฟที่ลุกพึ่บขึ้นตรงนั้นที ตรงนี้ที หนังสือเล่มนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการที่เพิ่งลงมือทำธุรกิจ เพราะนำเสนอเทคนิคและคำแนะนำอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่เริ่มต้น เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการมือใหม่สามารถเดินตามแนวทางที่เหมาะสมนับจากวันแรกของการทำธุรกิจ แทนที่จะเดินหน้าไปอย่างเปะปะ และกว่าจะรู้ตัวว่าไปผิดทาง ความเสียหายก็ลุกลามยากต่อการแก้ไข
4. ‘Deep Work: Rules for Focused Success in a Distracted World’
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการบริหารเวลา เป็นสิ่งสำคัญในโลกของธุรกิจ ผลงานของ Cal Newport เล่มนี้ ให้คำแนะนำว่าทำอย่างไรจึงจะได้เนื้องานมากขึ้น และอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย พร้อมยกตัวอย่างความสำเร็จของบุคคลที่มีชื่อเสียง โดยผู้เขียนได้นำเสนอเทคนิคของการทุ่มเทความสนใจให้กับภารกิจหลักๆ อันจะเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จ แทนที่จะมัวเสียเวลากับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่มักเข้ามาหันเหความสนใจไปจากการดูแลธุรกิจในแต่ละวัน
5. ‘Start With Why: How Great Leaders Inspire Everyone to Take Action’
เป็นหนังสือที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตัวของผู้นำ ผู้เขียนคือ Simon Sinek ระบุว่ามีวิธีการ 2 อย่างในการโน้มน้าวให้พนักงานเข้าอกเข้าใจนายจ้าง และทำงานอย่างเต็มกำลังเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ อย่างแรกคือใช้วิธีควบคุม-ออกคำสั่ง อีกอย่างคือสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งผู้เขียนแนะนำว่าวิธีหลังคือการสร้างแรงบันดาลใจนั้น เป็นหนทางดีที่สุด
นอกจากนั้น “เหตุผล”ยังมีความสำคัญ โดยเฉพาะเหตุผลของการเริ่มต้นทำธุรกิจ เพราะการรำลึกถึงเหตุผลดังกล่าวบ่อยๆ จะสร้างพลังให้แก่ผู้ประกอบการในการเสาะแสวงหาแนวคิดใหม่ๆ และเป็นแรงบันดาลใจให้พนักงานได้ด้วย
6. ‘Influence: The Psychology of Persuasion’
เป็นคู่มือด้านการตลาดและการขาย เพราะการขายเป็นเรื่องของการโน้มน้าวและทำให้ลูกค้าเชื่อว่าสินค้าหรือบริการที่กำลังนำเสนอนั้น ไม่ใช่แค่สิ่งที่ลูกค้าต้องการ แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีเลยทีเดียว เนื้อหาในหนังสือจะอธิบายให้เข้าใจว่า อะไรที่ทำให้ผู้คน”สะดุด” และเหตุใดคนจึงตกปากรับคำ แทนที่จะเดินหนี จากนั้นก็ถึงตอนสำคัญ นั่นคือ จะนำความรู้นี้มาใช้ประโยชน์อย่างไร
ผู้เขียนคือ Dr. Robert Cialdini ไม่เพียงบรรยายถึงการเข้าไปมีอิทธิพลหรือโน้มน้าวผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการเพื่อที่จะได้สามารถตัดสินใจทางธุรกิจอย่างชาญฉลาดด้วย เนื้อหาในหนังสือไม่ได้รวบรวมหรือตัดตอนมาจากตำราเรียนเล่มต่างๆ แต่มาจากการวิจัยที่ใช้เวลาถึง 35 ปีของผู้เขียน
7. ‘Shoe Dog: A Memoir by the Creator of Nike ‘
ใครบ้างล่ะที่ไม่อยากทราบว่าผู้ประกอบการคนอื่นมีเคล็ดลับอย่างไรจึงประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะเมื่อนักธุรกิจคนนั้นโดดเด่นแทบขึ้นแท่นระดับตำนานอย่าง Phil Knight ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเคยเป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทไนกี้ ก่อนถ่ายทอดประสบการณ์ออกมาเป็นตัวอักษร
เนื้อหาในหนังสือไม่เพียงสะท้อนความสำเร็จของ Knight เท่านั้น แต่ยังเล่าเรียงถึงการเติบโตของไนกี้ตั้งแต่ต้น เมื่อ Knight ก่อตั้งธุรกิจด้วยเงินที่ยืมมาจำนวน 50 ดอลลาร์ ทั้งยังมีเรื่องราวส่วนตัวของผู้เขียนและแง่คิดที่น่าประทับใจ นับเป็นครั้งแรกที่ผู้ร่วมก่อตั้งไนกี้ ออกมาถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหลายแหล่แบบหมดเปลือก และพาผู้อ่านโลดแล่นไปกับพัฒนาการอันโลดโผนของบริษัทตั้งแต่ต้นจวบจนปัจจุบัน
8. ‘Built to Last: Successful Habits of Visionary Companies’
หากอัตชีวประวัติของ Phil Knight สร้างแรงบันดาลใจอย่างดีแก่ผู้อ่าน งานเขียนของ Jim Collins กับ Jerry Porras ที่รวบรวมผลการศึกษานาน 6 ปีของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเนื้อในพูดถึง 18 บริษัทชื่อดังที่ประสบความสำเร็จเล่มนี้ น่าจะส่งผู้อ่านไปถึงดวงดาวได้อย่างไม่ลำบากนัก
หนังสือเล่มนี้ตอบคำถามสำคัญๆ ที่คาใจหลายคน ว่าเหตุใดบริษัทเหล่านี้จึงประสบความสำเร็จ และบริษัทเหล่านี้ทำอะไรที่แตกต่างออกไป จึงมาถึงจุดนี้ได้ ผู้เขียนไม่ได้เฉลยคำตอบอย่างชัดเจนและง่ายดาย แต่บรรยายให้เห็นรายละเอียดการเติบโตของบริษัทเหล่านี้ ตั้งแต่วันแรกของการทำธุรกิจ ไล่เรียงมาจนถึงปัจจุบัน จนอาจเรียกได้ว่าเป็นคู่มือหรือคัมภีร์ด้านการบริหารของยักษ์ใหญ่จากหลายภาคอุตสาหกรรม
9. ‘Jab, Jab, Jab, Right Hook: How to Tell Your Story in a Noisy Social World’
หนังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนของ Gary Vaynerchuk กูรู ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดีย ทั้งยังเป็นนักธุรกิจ และเจ้าของเว็บไซต์ด้วย ถือเป็นหนังสือที่ต้องมี หากต้องการให้บริษัทโดดเด่นในยุคโซเชียลมีเดียและเพิ่มยอดผู้ติดตามสินค้าหรือบริการของบริษัท
Vaynerchuk ให้คำแนะนำอันล้ำค่าว่าทำอย่างไรจึงจะ”ต่อติด”กับลูกค้า ล้ำหน้าคู่แข่ง พัฒนาคอนเทนต์ได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และใส่ทั้งหมัดแย็บรวมถึงหมัดฮุคได้อย่างถูกจังหวะบนสนามโซเชียลมีเดีย อันจะช่วยสร้างผลลัพธ์และแปลงแทรฟฟิกให้เป็นยอดขาย
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่มาพร้อมเทคโนโลยี และความแพร่หลาย รวมถึงความหลากหลายของแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดีย สะท้อนว่าบริบทหรือสภาพแวดล้อม มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะโจทย์ไม่เพียงอยู่ที่การพัฒนาคอนเทนต์แบบมีคุณภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคอนเทนต์ที่เหมาะสมกับแพลทฟอร์มและอุปกรณ์พกพาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Pinterest, Twitter, Tumblr และอื่นๆ