ลูกน้อง 6 ประเภท ที่คนเป็นหัวหน้าไม่อยากยุ่งด้วย


หลายบทความ คนเป็น “หัวหน้า” มักจะเป็นหัวข้อให้ได้กล่าวถึงกันบ่อยๆ แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง ไม่ใช่แค่ลูกน้องหรอกที่อยากมีเจ้านาย หรือหัวหน้าที่ดี จริงๆ แล้วคนเป็นหัวหน้าเองก็อยากมีลูกน้องที่น่ารัก ปกครองง่าย คุยกันได้แบบสบายๆ โดยไม่ต้องใช้ไม้แข็งกันทั้งนั้นแหละ

แต่เมื่อสังคมการทำงาน ประกอบด้วยมนุษย์หลายประเภทมารวมตัวกัน หลากนิสัย หลายรสนิยม ทำให้หัวหน้าเอง ก็เป็นฝ่ายที่ต้องอดทนกับลูกน้องที่พฤติกรรมไม่ค่อยโอเคเช่นกัน ซึ่งเชื่อว่าหัวหน้าหลายๆ คนคงจะเคยปวดหัวกับคนเหล่านี้กันมาบ้างแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะรับมือยังไง ถ้าเรียกมาต่อว่าก็กลายเป็นถูกเกลียดกลับมา ถ้านิ่งเฉย งานก็เสีย วันนี้เรามีเทคนิคการรับมือเพื่อให้หัวหน้าทุกคน สามารถคุมลูกน้องแต่ละประเภทได้อย่างอยู่หมัด มาฝากกัน

1. ลูกน้องจอมดื้อ

เคยเจอไหม? ลูกน้องที่ชอบดื้อ สั่งอะไรก็ยาก ปกครองลำบาก เแถมเต็มไปด้วยข้ออ้างที่ดูดีเพื่อที่จะได้ไม่ต้องถูกสั่งงาน ปัญหาคือ แต่ถ้าลูกน้องคนนั้นฝีมือดีล่ะ?

ดังนั้น พฤติกรรมที่เจ้านายหรือหัวหน้าทุกคนควรทำก็คือ ใจเย็นๆ รับฟังความคิดเห็นของเขาให้มากที่สุด และอาจจะเสนองานให้เขาดูแลเองไปเลย 1 โปรเจคต์ โดยไม่ต้องเข้าไปก้าวก่ายกับวิธีการทำงาน แค่มอบอิสระให้กับเขาแล้วเลือกควบคุมอยู่ห่างๆ นั่นเอง

2. ลูกน้องที่อายุมากกว่า

อายุที่มากกว่า ทำให้คนเป็นลูกน้องมีอีโก้สูง ทำอาจจะแข็งขืนกับหัวหน้าที่เด็กกว่าได้ ลูกน้องประเภทนี้มักจะมีความมั่นใจสูง คิดว่าตัวเองมีประสบการณ์มากกว่า ทำให้หัวหน้าอาจจะปกครองได้ลำบากสักหน่อย

เพราะฉะนั้น ทางที่ดีให้พยายามรับฟัง เปิดใจ และให้โอกาสเขาได้นำเสนอประสบการณ์ของเขา แต่หากมันล้าสมัยเกินกว่าจะรับไหวจริงๆ ลองเปิดอกคุยแบบส่วนตัวเพื่อลดทิฐิลง และดูว่าคำแนะนำที่เรามีให้มันช่วยในการทำงานให้ดีขึ้นได้ยังไงบ้าง

3. ลูกน้องจอมขี้เกียจ

ลูกน้องประเภทนี้ จะทำตัวเป็นจอมขี้เกียจแต่อาศัยการทำงานหลอกๆ มาบังหน้า ซึ่งความสามารถพิเศษของเขาและเธอเหล่านี้คือการพูดที่เป็นการเป็นงาน น่าเชื่อถือว่ามีงานล้นมือ ซึ่งที่จริงอาจจะเอาแต่เม้ากับเพื่อนร่วมงาน ชวนโดดงาน อู้งาน หรือไม่ใส่ใจกับงานเท่าที่ควร

แบบนี้ หัวหน้าอาจจะต้องงัดไม้เด็ดออกมาใช้ โดยการมอบหมายงานให้รับผิดชอบและกำหนดวันส่งงานให้ชัดเจน ซึ่งถ้าทำตามกำหนดไม่ได้ก็ให้ทำโทษ เช่น ตัดเงินเดือน สั่งพักงาน หรือออกใบเตือน เป็นต้น

4. ลูกน้องที่ขาดความมั่นใจ

มีเกือบทุกบริษัทจริงๆ สำหรับลูกน้องที่ขี้กังวล ขาดความมั่นใจ ไม่กล้าตัดสินใจอะไรด้วยตัวเอง จะทำอะไรเองไม่ได้สักอย่าง ต้องขออนุญาตหรือเอาแต่ถามตลอด ซึ่งทำให้เสียเวลาการทำงานมาก

ลูกน้องแบบนี้ ค่อนข้างเป็นปัญหาอยู่พอสมควร ทางที่ดีต้องคอยพูดชม คอยให้กำลังใจเขา เพื่อให้ความกลัวหายไป เหลือแต่ความมั่นใจนั่นเอง

5. ลูกน้องมั่นใจสูง แต่ทำไม่ได้

สำหรับใครที่กำลังปวดหัวกับลูกน้องที่ดูเหมือนว่าจะท่าดีทีเหลวอยู่ล่ะก็ แนะนำให้โยกย้ายไปทำตำแหน่งอื่นที่จะช่วยให้สกิลของเขาสามารถเกิดประโยชน์ได้สูงสุดจะดีกว่า เพราะบางครั้งเขาเหล่านี้จะมีความมั่นใจใส่มาเกินร้อย แต่อาจจะผิดที่ผิดทาง ส่งผลต่อระบบการทำงานส่วนอื่นๆ จนรวนไปหมด

ไม่ว่าจะเป็น ย้ายไปทำตำแหน่งเซล หรือเวลามีการพรีเซนต์อะไรก็ให้เขาเป็นคนจัดการ ซึ่งการจัดคนให้ตรงกับความสามารถและจุดเด่นที่มี ก็จะช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้น และส่งเสริมให้บริษัทดีขึ้นได้อีกด้วย

6. ลูกน้องช่างประจบประแจง

เป็นอันตรายมากสำหรับลูกน้องขี้ประจบนี้ เพราะหัวหน้าบางคนอาจจะรู้ไม่ทันลูกน้องและมองว่าคนๆ นั้นดีกว่าคนอื่นได้ ซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นใต้น้ำขึ้นในบริษัท เพราะพนักงานด้วยกันเองจะดูออกว่าพนักงานคนนั้นนิสัยเป็นยังไง งานที่ทำ ทำจริงรึเปล่า

ซึ่งวิธีแก้ปัญหาคือ ให้หัวหน้าแสดงให้ลูกน้องคนอื่นๆ เห็นเลยว่าการที่เข้ามาตีสนิทกับเรานั้นไม่ได้ช่วยให้มีผลต่อการทำงาน หรือการเลื่อนขั้นแต่อย่างใด หัวหน้าทั้งหลายต้องเทคแอคชั่นตรงนี้ ให้ได้ ไม่ควรปล่อยวาง เพราะจะทำให้ลูกน้องคนอื่นไม่สบายใจ และเกิดปัญหาได้