หัวหน้าที่ดีต้อง Comment ลูกน้องให้เป็น “พูดแบบไหนไม่ให้เสียความรู้สึก”


บ่อยครั้งที่หัวหน้างานนั้นจำเป็นต้องคอมเมนท์ลูกน้องในทิศทางที่ไม่ดี เพื่อให้เกิดการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และให้ลูกน้องได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งคำพูดของคนเรานั้นเป็นสิ่งที่ตีความได้มากมาย ทั้งจากน้ำเสียง ท่าทาง และคำที่เลือกใช้ ตรงนี้เองที่คอมเมนท์แย่ๆ อาจนำไปสู่การบั่นทอนจิตใจ และทำให้ลูกน้องคิดมากจนถึงขั้นลาออกเอาได้ ซึ่งเป็นปัญหาเดือดร้อนที่ทุกบริษัทต้องเจอหรือกลับกัน การคอมเมนท์แบบอ้อมค้อมเองก็อาจทำให้ลูกน้องไม่เข้าใจว่าคุณต้องการจะสื่อสารถึงอะไร สุดท้ายจากจะได้งานที่ดีขึ้นก็กลับเป็นเสียเวลาและไม่ได้อะไรเลย 

ดังนั้นสำหรับผู้ประกอบการ หรือหัวหน้างานแล้ว การคอมเมนท์อย่างมีศิลปะเองก็เป็นหนึ่งในเทคนิคที่จำเป็นต้องเรียนรู้ เพื่อให้ลูกน้องทำงานได้ตามที่ต้องการ พร้อมรักษาน้ำใจให้เขาไม่รู้สึกว่ากำลังโดนกดขี่ และพร้อมจะทำงานกับคุณต่อไปอย่างไม่มีผิดใจกัน

สอดแทรกมุกระหว่างการคอมเมนท์

เพื่อเป็นการผ่อนคลายบรรยากาศไม่ให้ตึงเครียดเกินไประหว่างที่คุณกำลังคอมเมนท์งาน คุณอาจจะสอดแทรกมุกเข้าไปสักนิด เพื่อให้บรรยากาศดีขึ้น เช่น การพูดถึงเรื่องชิ้นงานในจุดที่โดดเด่น หรือจุดที่สังเกตเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดีก็ตาม แต่ที่สำคัญอย่าลืมยิ้มระหว่างที่คุณพูดเพื่อให้คนฟังเข้าใจเจตนาของคุณอย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นการเปิดเริ่มการคอมเมนท์ที่ดี และทำให้ผู้ฟังรู้สึกเป็นกันเอง ไม่เกร็งหรืออึดอัดกับคำพูดของคุณ

ชม – ตักเตือน – ชม

เทคนิคนี้เรียกว่าเทคนิค Sandwich ซึ่งเป็นการคอมเมนท์ที่ดีที่สุด และทำให้คนฟังรู้สึกเสียใจน้อยที่สุด เป็นการพูดคอมเมนท์กับลูกน้องที่ได้รับความนิยมมากและได้ผลดี โดยให้คุณเริ่มต้นจากการกล่าวชม และตามด้วยข้อตำหนิ จากนั้นปิดด้วยการกล่าวชมอีกทีนึง ซึ่งจะทำให้คนฟังเปิดใจและรับฟังคุณ

เช่น “วันนี้คุณพูดอย่างมีความมั่นใจมากเลยทีเดียว ดูดีมาก (ชม) ส่วนเรื่องรายละเอียดอาจจะต้องหาข้อมูลที่ชัดเจนกว่านี้หน่อย (ตักเตือน) แต่ตอนจบนั่นน่าประทับใจมากเลย สรุปได้เข้าใจง่ายและน่าฟังมาก (ชม)”

ใช้ท่าทางสบายๆ ไม่กดดันในการคอมเมนท์

ถ้าคุณนั่งตัวตรงจ้องเขม็งและทำให้บรรยากาศดูจริงจัง คอมเมนท์ในครั้งนั้นจะทำให้ลูกน้องกดดัน และรู้สึกว่าคุณอยู่ขั้วตรงข้ามกับเขาโดยสิ้นเชิง ถึงแม้คุณจะชมเขามากกว่าการตักเตือนก็ตาม

แต่ถ้าคุณใช้ท่าทางสบายๆ ในการคอมเมนท์งาน สร้างสีสันด้วยภาพลักษณ์ที่ดูไม่จริงจัง เหมือนเขากำลังเข้ามาคุยกับคุณแบบจิปาถะ สร้างอารมณ์ผ่อนคลายเหล่านี้ขึ้นมาได้มากเท่าไหร่ เขาก็จะยิ่งเปิดใจรับฟังคุณแบบไม่มีอคติมากเท่านั้น

คอมเมนท์อย่างเป็นกลาง

หัวหน้างานส่วนใหญ่จะมีความคิดตีตราลูกน้องแต่ละคนเอาไว้ในใจ เช่น คนที่ชอบมาสายเป็นประจำก็อาจจะทำให้คุณรู้สึกอยากจับผิดมากกว่าลูกน้องที่เข้ามาทักทาย ยิ้มแย้ม พูดคุยกับคุณเสมอ ซึ่งเรื่องนี้เองที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะเป็นเรื่องของจิตใจ แต่ในการคอมเมนท์ อยากให้คุณมองทุกคนอย่างเป็นกลาง พยายามเคลียร์ใจตัวเองและมองเฉพาะภาพตรงหน้าให้ชัดเจนที่สุด

ลูกน้องที่เข้าหาเก่ง ไม่ใช่ลูกน้องที่ทำงานดี ส่วนลูกน้องที่ปฏิบัติตัวไม่ดี ก็ไม่ใช่ลูกน้องที่ไม่เก่งอะไรเลย ถ้าคุณแยกแยะเรื่องนี้ได้ คุณก็จะสามารถรักษาคนเก่งและพัฒนาคนดีให้อยู่คู่องค์กรไปพร้อมกันได้

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ แต่ไม่เปรียบเทียบ

เป็นเรื่องยากมากสำหรับการยกตัวอย่างงานที่คุณต้องการ ให้พนักงานเห็นว่าเขาควรจะปรับปรุงยังไง โดยที่คุณต้องไม่เปรียบเทียบตัวพนักงานกับเพื่อนร่วมงานอีกคน เพราะนั่นจะทำให้เขาสูญเสียความมั่นใจ สูญเสียความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อคุณ ต่อตัวเอง และต่อเพื่อนร่วมงานคนนั้น กลายเป็นคุณจะสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นเข้าไปใหญ่

พยายามยกตัวอย่างให้เขาเข้าใจในสิ่งที่คุณต้องการจะสื่อ โดยใช้บทบาทสมมติเข้ามาช่วย พูดชม และพูดตักเตือนเฉพาะคนตรงหน้า ไม่ลากบุคคลที่ 3 เข้ามาเกี่ยว เท่านี้ก็จะทำให้ความรู้สึกระหว่างคุณและเขาจบลง ณ ห้องนั้น ไม่ทำให้เกิดการเกลียดกันลับหลังตามมา