แน่นอนว่า การทำงานกับคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องที่เรียกว่าเป็น แฟมิลี่ บิซสิเนส (Family Business) มีโอกาสที่จะเกิดการกระทบกระทั่งกันได้ง่ายดาย เพราะด้วยความสนิทสนมกันตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้ความเกรงใจอาจจะมีน้อยกว่าคนที่อยู่นอกครอบครัว เมื่อแนวคิดไม่ตรงกันแต่ต้องทำธุรกิจร่วมกัน จะทำอย่างไรให้ลดความขัดแย้งลงได้ และไม่กลายเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ เรามี 6 เคล็ดลับดีๆ มาบอก
กำหนดบทบาทแต่ละคนให้ชัดเจน
การกำหนดบทบาท ตำแหน่ง และหน้าที่ในบริษัทให้แก่คนในครอบครัวอย่างชัดเจนเหมือนการทำธุรกิจในรูปแบบขององค์กรโดยทั่วไป จะทำให้คนในครอบครัวได้รู้ว่าตัวเองมีหน้าที่และความรับผิดชอบด้านไหน ตำแหน่งอะไร ทำอะไรบ้าง ช่วยให้ไม่เกิดการก้าวก่ายในหน้าที่ระหว่างกัน สิ่งสำคัญคือ การกำหนดบทบาทหน้าที่นั้น ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับทักษะและความสามารถ ไม่ใช่ให้คนในครอบครัวเลือกทำตำแหน่งที่แต่ละคนอยากได้เพราะไม่อยากเกิดการกระทบกระทั่ง การทำแบบนั้นจะยิ่งเกิดทำให้เกิดปัญหาในระยะยาว การบริหารที่ดีต้องใช้คนให้ถูกกับงาน (Put the right man on the right job) นอกจากนั้นยังควรเปิดกว้างในการพิจารณาคนนอกที่มีความสามารถหรือทักษะในการนำพาบริษัทไปในทิศทางที่ดี เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในการบริหารธุรกิจครอบครัวด้วย
ปฏิบัติตัวเหมือนพนักงานทั่วไป
เมื่อวางตัวลูกๆ หรือญาติพี่น้องในตำแหน่งต่างๆ แล้ว คนเหล่านี้ก็เป็นพนักงานซึ่งควรได้รับการปฏิบัติแบบพนักงานคนอื่นๆ รวมถึงเรื่องเงินเดือนค่าจ้างที่ไม่ควรล้ำหน้าพนักงานคนอื่นด้วย ซึ่งหากพนักงานคนอื่นเห็นแนวทางของนายจ้างว่าปฏิบัติต่อทุกคนด้วยมาตรฐานเดียวกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ จะช่วยให้เกิดกำลังใจในการทำงานมากขึ้น
อย่าสร้างดราม่าในที่ทำงาน
ให้คุณท่องไว้ว่าเมื่ออยู่ที่ทำงาน ทุกคนคือพนักงาน และเมื่ออยู่นอกเวลางาน ทุกคนคือครอบครัวเดียวกัน ที่มีความรักใคร่ กลมเกลียวกัน แต่หากมีเรื่องที่ไม่พอใจกันในครอบครัว อย่านำความไม่พอใจตอนอยู่บ้าน หรือเรื่องส่วนตัวของคนในครอบครัว มาระบายในที่ทำงาน สิ่งนี้อาจทำได้ยากแต่จำเป็นมาก รวมถึงการพูดเรื่องงานพยายามให้จบที่ออฟฟิศเท่านั้น ไม่นำมาพูดตอนอยู่กันในครอบครัว การทำเช่นนี้คือการขีดเส้น ไม่ให้ธุรกิจเข้ามามีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว
หากมีเค้าลางว่าความขัดแย้งกำลังก่อตัวขึ้น ควรพูดคุยปรับความเข้าใจกันเสียก่อนที่เรื่องราวจะบานปลายกลายเป็นดราม่าจนส่งผลเสียต่อธุรกิจและบรรยากาศการทำงาน ทั้งนี้ทั้งนั้นหากเกิดสถานการณ์ร้อนแรง ถึงขั้นที่ใช้กันแต่อารมณ์และไม่มีใครฟังใคร คุณอาจจะสั่งให้ทุกคนไปสงบสติอารมณ์ให้เย็นลง เมื่ออารมณ์ดีขึ้นแล้ว ค่อยมาปรับความเข้าใจกันใหม่
สังสรรค์กระชับความสัมพันธ์กันบ้าง
การบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะกับคนในครอบครัวอาจหลีกเลี่ยงปัญหาที่ก่อให้เกิดความเครียดสะสมไม่ได้ และความอดทนก็อาจจะลดลงไปเรื่อยๆ ฉะนั้น คุณไม่ควรปล่อยให้เรื่องงานเข้ามามีอิทธิพลตลอด 24 ชั่วโมง ลองหาเวลาทำกิจกรรมกับคนในครอบครัวเพื่อคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์และปรับเปลี่ยนบรรยากาศให้มีเสียงหัวเราะ ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง กินข้าวเย็น ปิกนิก ไปต่างจังหวัด หรือกิจกรรมอะไรก็ได้ที่ทั้งครอบครัวชื่นชอบ สร้างความรู้สึกของการเป็นทีมเดียวกัน และเป็นเครื่องเตือนใจว่าอย่าเครียดเกินไป แต่ควรทำสิ่งต่างๆ อย่างมีความสุขและสนุกเข้าไว้
ต้องมีความโปร่งใส
หากธุรกิจที่ทำอยู่นั้น มีคนนอกถือหุ้นด้วย คนนอกย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ทำทุกอย่างแบบโปร่งใส หรือแม้แต่กรณีที่ไม่มีคนนอก ก็ควรจะสามารถเปิดเผยข้อมูลต่างๆ หรือตัวเลขงบดุล, กำไรขาดทุนให้แก่ลูกๆ หรือคนในครอบครัวทราบได้ เพราะการเก็บงำอะไรเป็นความลับ มักนำไปสู่ความระแวง ไม่พอใจและเกิดความไม่โปร่งใสในการทำธุรกิจได้ ซึ่งคนในครอบครัวคือคนที่ทำงานด้วยกัน ลงทุนลงแรงด้วยกันและธุรกิจนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นของพวกเขาด้วย ดังนั้นพวกเขาจึงมีสิทธิที่ทราบข้อมูลรายละเอียดต่างๆ
วางตัวทายาทรุ่นถัดไป
หลังจากลงทุนลงแรงก่อร่างสร้างธุรกิจของครอบครัวมาอย่างเหน็ดเหนื่อยแล้ว ขั้นตอนสำคัญคือจัดวางตัวทายาทไว้รับช่วงต่อ ซึ่งสิ่งที่ควรพิจารณาคือใครมีศักยภาพที่จะบริหารบริษัท ใครมีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่สุด และบริษัทควรมีผู้บริหารแบบไหน
เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลือกใครให้มารับช่วงต่อ ควรมีการสอนงานและเปิดโอกาสให้ว่าที่ทายาทได้เรียนรู้การดำเนินงานด้านต่างๆ รวมถึงพูดคุยว่าจะมีทิศทางหรือแนวคิดใหม่ๆ สำหรับธุรกิจยังไงบ้าง การที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ทำธุรกิจมาแบบหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าคนรุ่นต่อไปก็ต้องทำแบบเดิมไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อคนรุ่นลูกรู้สึกว่าต้องเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างเพื่อพัฒนาการในระยะยาว ดังนั้นคนแต่ละรุ่นจึงต้องพัฒนาและจัดทำกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ตามยุคสมัยนั่นเอง