เข้าสังคมไม่เก่ง ต้องดู! 5 เทคนิคที่จะทำให้พูดคล่องจนได้คอนเนคชั่นเพียบ


การทำธุรกิจหรือการใช้ชีวิตให้อุ่นใจและมีคนคอยช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา คงหนีไม่พ้นการมีคอนเนคชั่นที่แน่นแฟ้นและหลากหลายแน่นอน ดังนั้นการที่คุณจะมองหาคอนเนคชั่นดีๆ ตามงานสัมมนาหรืองานอีเว้นท์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรเลย หลายคนใช้วิธีนี้ในการต่อยอดพัฒนาธุรกิจและช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งสิ้น

แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเป็นคนพูดน้อย และเข้าสังคมไม่เก่ง การหาคอนเนคชั่นจะเป็นเหมือนฝันร้ายไปในทันที เพราะคุณต้องเริ่มคุยกับคนแปลกหน้า และคนใหม่ๆ ที่คุณยังไม่รู้จักแม้แต่ชื่อ ซึ่งนี่คือ 5 เทคนิคง่ายๆ ที่จะทำให้คุณพูดได้คล่องแคล่วจนสามารถผูกมิตรได้อย่างเป็นธรรมชาติ

1. พูดเรื่องรอบตัว ณ ตอนนั้น

การเปิดประเด็นด้วยสิ่งที่มองเห็นรอบตัว ณ ตอนนั้น ดูจะเป็นสิ่งที่เข้าท่า และเหมาะสมที่สุดสำหรับการเริ่มต้นบทสนทนากับเพื่อนใหม่ ซึ่งคนส่วนมากอาจจะพูดเรื่องของตัวเองซะเยอะ แต่คนตรงหน้าคุณเขาอาจจะไม่ได้อยากฟังก็ได้ และการทำให้คู่สนทนาประทับใจที่แท้จริงก็คือ การเป็นฝ่ายฟังเขาเล่ามากกว่า 

เพราะฉะนั้นจุดเริ่มต้นของบทสนทนา คุณแค่อาจจะทักทายสั้นๆ ง่ายๆ และพูดเกริ่นว่า “วันนี้คนเยอะดีนะครับ นี่คุณมาคนเดียวเหรอ” ประโยคง่ายๆ แบบนี้จะนำไปสู่ขั้นตอนการสนทนาต่อๆ ไปและทำให้การพูดคุยเป็นไปตามธรรมชาติและง่ายขึ้น

2. แนะนำตัวเองก่อนเสมอ

ถ้านึกอะไรไม่ออก ไม่มั่นใจว่าจะเข้าหาคนในงานได้ยังไง คุณสามารถเริ่มต้นง่ายๆ อีกวิธีคือ แนะนำตัวเองอย่างเป็นทางการด้วยคำง่ายๆ อย่าง “สวัสดีครับ ผม…อันนี้คุณ…เอ่อ” ซึ่งคู่สนทนาก็จะเข้าใจ และตอบรับด้วยการบอกชื่อตัวเองต่อมาอย่างแน่นอน หลังจากที่ทราบชื่อกันเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคุณก็สามารถพูดคุยสิ่งรอบตัวต่อได้ หรือจะเปิดประเด็นยิงคำถามที่น่าสนใจและคิดว่าเหมาะสมเลยก็ได้เช่นกัน

3. คุยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงาน

นอกจากการเปิดประเด็นแล้ว หลายคนยังมักจะเจอปัญหาหมดมุกเมื่อคุยสักพักและเกิดอาการเดดแอร์ ไม่รู้จะพูดคุยอะไรต่อไป ซึ่งตรงนี้จะทำให้บรรยากาศดูกร่อยไปในทันที คุณต้องฝึกสังเกต และหมั่นยิงคำถามที่เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ต่อคำ เพื่อให้บทสนทนาเป็นไปอย่างราบรื่น หรืออย่างง่ายที่สุด คุณก็แค่พูดเรื่องที่เกี่ยวกับงานอีเว้นท์ที่คุณกำลังอยู่ก็ได้ เพราะจะทำให้คุณและคู่สนทนามีจุดร่วมไปพร้อมๆ กัน และคุยกันได้ถูกคอนั่นเอง

4. ขอคำแนะนำจากเขาบ้าง

มนุษย์เราทุกคนชื่นชอบที่จะเป็นคนมีความรู้ และอยากจะมอบสิ่งที่ตัวเองคิดว่ามีประโยชน์และดีให้คนอื่นได้ลองใช้ ลองทำตามกันทั้งนั้น ดังนั้นการขอคำแนะนำจะเป็นการแง้มประตูบ้านใหญ่ที่มีน้ำทะเลทั้งมหาสมุทรอยู่เบื้องหลัง ซึ่งหมายความว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่มันถูกแง้มออก บทสนทนาของคุณทั้งคู่ก็จะพรั่งพรูออกมาผ่านประตูบานนั้นทันทีแบบไม่มีที่สิ้นสุด
การที่คุณขอคำแนะนำดีๆ จากเขาหลังจากที่ได้คุยกัน เช่น “คุณดูบริหารเก่งมากจัง ทั้งๆ ที่มีลูกน้องนับร้อยคน คุณมีเทคนิคยังไงเหรอ” ก็จะทำให้เขาเกิดความอยากแชร์ และพร้อมจะพรีเซนต์ตัวตนให้คุณรู้จักเขามากยิ่งขึ้นด้วย

5. เริ่มด้วยคำถามปลายเปิด

สุดท้ายแล้วการเริ่มต้นตั้งคำถามเองก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะถ้าคุณถามคำถามปลายปิดที่ตอบได้แค่ “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” บทสนทนาก็จะจบลงอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าคุณฝึกใช้คำถามปลายเปิด เช่น การถามว่า “ทำไม” ซึ่งเป็นคำที่ง่ายมาก แต่ได้ผลสุดๆ ในการต่อยอดบทสนทนา เพียงแค่คุณต้องใช้มันอย่างถูกจังหวะ ไม่ใช่ถามแต่ทำไมซ้ำๆ กันเสมอ เพราะผู้พูดก็เหนื่อยจะอธิบาย และบางทีอาจจะมองว่าคุณเป็นคนที่เข้าใจอะไรยาก หรือมีความรู้รอบตัวน้อย จนไม่อยากผูกคอนเนคชั่นด้วยก็ได้