อยากรู้ตัวตนที่แท้จริงของผู้สมัคร ต้องละลาย ความเกร็ง ออกไปให้หมดก่อน


การมาสมัครงานของแต่ละคน แน่นอนว่าเขาจะต้องมีความเตรียมพร้อม และพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองดูดี ซึ่งเกราะตรงนี้เองที่จะทำให้คุณผู้สัมภาษณ์ทุกคน ไม่สามารถมองทะลุเข้าไปถึงตัวตนที่แท้จริงของผู้สมัครได้ว่าเป็นอย่างไร บางคนวันสัมภาษณ์งานตอบคำถามฉะฉาน และน่าฟัง แต่การทำงานจริงกลับไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง

หรือบางคนในวันสัมภาษณ์งานอาจจะทำได้ไม่ดี จนคุณไม่อยากรับเข้าทำงาน แต่สุดท้ายเมื่อได้มาอยู่ร่วมองค์กรเดียวกัน กลับพบว่าเขามีประสิทธิภาพอย่างน่าทึ่ง ซึ่งเทคนิคง่ายๆ ที่จะช่วยให้เหล่าผู้สัมภาษณ์แสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา มีดังนี้

1. เตรียมคนมาต้อนรับตั้งแต่มาถึง

การให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เข้ามาเจอกับบรรยากาศภายในองค์กรคุณด้วยตัวคนเดียว จะทำให้เขาเกิดอาการประหม่า และวิตกกังวล นั่งรอคอยว่าเมื่อไหร่จะถึงคิวเรียกสัมภาษณ์แบบไม่รู้จุดสิ้นสุด ซึ่งเป็นบรรยากาศที่บั่นทอนความคิด และสติปัญญาในการตัดสินใจตอบคำถามอย่างมาก

ดังนั้นทางที่ดีควรมีพนักงานคอยต้อนรับ และแนะนำถึงกระบวนการก่อนเข้าไปสัมภาษณ์ เพื่อชี้ให้ผู้สมัครทราบว่าเขาต้องเตรียมตัวอย่างไร ทำอะไรบ้าง และจะได้เข้าไปตอนไหน ซึ่งขั้นตอนสั้นๆ ง่ายๆ นี้จะแสดงถึงความเป็นกันเองของคนในองค์กรคุณที่ใส่ใจพนักงาน ทั้งสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และทำให้ผู้สมัครลดเกราะป้องกันลง พร้อมแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา

2. ให้ข้อมูลสำคัญทั้งหมด

หลังจากมีคนมาต้อนรับแล้ว การได้ทราบข้อมูลล่วงหน้าจะช่วยให้ผู้สมัครรู้สึกเข้าใจ และเตรียมตัวได้ทันว่าเขาจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้คุณสามารถบอกเอาไว้ตั้งแต่ในใบสมัคร หรือตอนโทรนัดสัมภาษณ์แล้วก็ได้ ทั้งในเรื่องของรายละเอียดขั้นตอนการสัมภาษณ์ ระยะเวลาที่ใช้ในการสัมภาษณ์ รวมถึงขั้นตอนการเดินทาง ถ้าบริษัทคุณอยู่ไกล หรือหายาก

เทคนิคการให้ข้อมูลแบบเผยหมดเปลือกนี้จะทำให้คุณคัดกรองคนที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่ได้ต้องการออกไปได้มากมาย รวมถึงในวันสัมภาษณ์คุณจะหมดข้อแก้ตัวกับคนที่มาสาย และไม่มีความเตรียมพร้อม เผยให้เห็นถึงความตั้งใจและการรับมือกับสถานการณ์สำคัญก่อนเริ่มทำงานจริงได้ตั้งแต่วันแรกที่พบกัน

3. การสัมภาษณ์ไม่ใช่การแข่งขัน

จงจำไว้เสมอว่าการสัมภาษณ์งานไม่ใช่การแข่งขันที่คุณจะต้องเร่งรัดเอาคำตอบจากผู้สมัครให้ได้ไวที่สุด บางครั้งผู้สมัครเองอาจจะอยากได้เวลาในการคิดหาคำตอบที่เหมาะสม และดีที่สุด คุณก็ควรให้เวลากับเขาบ้าง ซึ่งมันเป็นประโยชน์กับตัวคุณเองมากกว่าด้วย ที่จะช่วยให้คุณรับรู้ถึงทัศนคติ และความคิดของผู้สมัครว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร
คนที่ตอบคำถามไม่เก่ง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่เป็น ตอบคำถามช้า ต้องคิดเยอะ ไม่ใช่เป็นคนที่ไร้คุณภาพ เพียงแต่เขาอาจจะไม่ถนัดเท่านั้นเอง ซึ่งเขาอาจจะมีศักยภาพในการทำงานด้านอื่นๆ อีกมากที่คุณต้องการก็เป็นได้

4. ปล่อยให้ผู้สมัครได้เล่าไปเรื่อยๆ

คำถามปลายเปิดเป็นสิ่งสำคัญมากในการสัมภาษณ์งาน พยายามอย่าถามแค่คำถามที่ตอบว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” เพราะมันจะทำให้คุณไม่รู้อะไรเพิ่มเติมจากเขาเลย แต่ควรเริ่มต้นตั้งคำถามด้วยคำว่า “ทำไม” และ “เพราะอะไร” แทน
2 คำนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจความคิด และนิสัยที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังผู้สมัครทุกคนได้เป็นอย่างดี และหน้าที่ของคุณคือ ต้องปล่อยให้เขาได้แสดงมันออกมาอย่างเต็มที่ เล่าให้คุณฟังอย่างหมดเปลือก จนกว่าเขาจะหยุดเอง เพราะยิ่งเขาได้พูดออกมามากเท่าไหร่ ยิ่งบ่งบอกถึงทัศนวิสัยต่อสิ่งรอบตัวได้มากเท่านั้น

5. นัดสัมภาษณ์แบบแปลกใหม่

นอกจากการสัมภาษณ์เซลล์ หรือพนักงานขายที่จะมีการทดสอบให้ลองขายสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือสร้างเหตุการณ์สมมติขึ้นมาเพื่อทดสอบว่า พนักงานบริการจะตัดสินใจรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างไรแล้ว การที่นัดสัมภาษณ์แบบแปลกใหม่อย่างการเชิญมาทานอาหารเช้าร่วมกัน สัมภาษณ์แบบสบายๆ นอกสถานที่ เหมือนคุยกันทั่วๆ ไป ก็จะสร้างความสนิทสนม คุ้นเคย และทำให้ผู้สมัครสบายใจ จนเผยตัวตนที่แท้จริงออกมา

คุณสามารถสังเกตนิสัยของเขาในการวางตัว การสั่งอาหาร หรือแม้แต่การปฏิบัติต่อเด็กเสิร์ฟ ซึ่งจะทำให้เข้าใจธรรมชาติและตัวตนของพวกเขามากยิ่งขึ้น