เทคนิคง่ายๆ ในการตั้งชื่อร้านอาหารให้ปัง ไม่ว่าใครก็ต้องรู้จักคุณ!


ชื่อร้านอาหาร ก็เปรียบเหมือนชื่อเรียกของคน ซึ่งถ้าคุณสามารถตั้งชื่อให้น่าฟัง น่าสนใจและทุกคนนึกออกแล้วร้องอ๋อได้ทันทีที่ได้ฟัง จะทำให้ร้านของคุณเป็นที่พูดถึง และฝังอยู่ในใจลูกค้าได้อย่างง่ายดาย ซึ่งการที่คุณเป็นที่จดจำได้นั้นมีข้อดีอยู่เยอะมาก เพราะนั่นหมายถึงคุณจะผูกพันกับลูกค้าง่ายขึ้น ร้านของคุณจะถูกลูกค้าจดจำและนึกถึงอยู่เสมอ เวลาเขาต้องการทานอาหารสักร้านนึง ร้านคุณจะผุดขึ้นมาเป็นร้านแรก

เทคนิคการตั้งชื่อให้เป็นที่จดจำนั้นไม่ได้มีแค่ในเฉพาะร้านค้าเท่านั้น แต่ยังโยงไปถึงธุรกิจทุกอย่าง สินค้าทุกชิ้นของโลกใบนี้ ซึ่งถ้าคุณจดจำเทคนิคนี้ไปใช้กับร้านอาหารของคุณได้ คุณก็สามารถเรียกแขกเข้าร้านได้มากกว่าเดิมแน่นอน


1. สั้น กระชับ ตรงใจ

ร้านอาหารส่วนใหญ่จะมีคำแค่ 2-5 พยางค์เท่านั้นเองครับ สังเกตดูได้เลย ซึ่งจะทำให้ร้านเหล่านั้นเป็นที่จดจำได้ง่ายมาก ซึ่งถ้าร้านอาหารของคุณมีชื่อที่ยาวเกินไป กว่าลูกค้าจะเรียกชื่อร้านจบก็คงหมดบทสนทนาพอดี ซึ่งร้านอาหารที่มีชื่อสั้นๆ จะทำให้จดจำได้ง่ายมาก เช่น โอ้กะจู๋ คุ้มกะตังค์ โจนส์สลัด สังเกตว่าจำนวนคำจะน้อยมาก และเป็นชื่อที่มีเอกลักษณ์ เล่นคำ เล่นศัพท์ แต่ตรงประเด็นและเข้าใจง่าย

2. มีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจน

คาแรคเตอร์ร้านอาหารจะช่วยบ่งบอกความเป็นมาผ่านชื่อร้านได้ ซึ่งถ้าฟังแล้วร้องอ๋อขึ้นมาว่าร้านของคุณมีคาแรคเตอร์แบบไหน จะยิ่งทำให้ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น เช่น Too Fast Too Sleep ก็บ่งบอกถึงร้านที่เปิดตลอดเวลา ไม่ว่าคุณจะมาตอนไหนก็สามารถใช้บริการได้ หรือร้าน Sit-นี่ ที่มีการเล่นคำระหว่างภาษาอังกฤษและภาษาไทย ชวนให้ดูเป็นคนขี้เล่น กันเอง และมีบรรยากาศสบายๆ เหมือนที่ร้านตั้งใจจะสื่อ

3. ดึงจุดขายมาตั้งชื่อร้าน

ถ้าร้านของคุณมีจุดเด่นไม่ว่าจะด้านไหนก็ตาม และต้องการนำเสนอสิ่งนั้นเป็นสำคัญ ก็สามารถนำมาตั้งชื่อร้านให้คนจดจำได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเมนูเด็ด หรือรสชาติอาหารที่ถึงใจ เช่น ร้านอร่อยแตกซิก ซึ่งเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวที่ให้รสชาติเผ็ดและกินแล้วมีความรู้สึกว่าเหงื่อแตกซิกๆ คนอ่านจะจดจำและนึกโยงไปถึงรสชาติอาหารของคุณได้ทันที

4. ไม่ซ้ำหรือใกล้เคียงกับคนอื่น

สำหรับชื่อร้านอาหารนั้นถ้าเป็นชื่อทั่วๆ ไปก็อาจจะซ้ำกับคนอื่นได้ ทำให้เกิดความสับสนและไม่น่าจดจำ แต่ถ้าคุณพยายามตั้งชื่อให้เป็นเอกลักษณ์ก็จะทำให้ลูกค้าประทับใจและพร้อมจะนึกถึงคุณเป็นคนแรกไม่ว่าจะได้ยินชื่อนั้นจากที่ไหนก็ตาม ซึ่งคุณสามารถตรวจดูได้ว่าชื่อร้านอาหารของคุณที่สนใจนั้นมีคนใช้ไปรึยังที่เว็บไซท์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ www.dbd.go.th

5. ใช้ภาษาท้องถิ่นให้ดึงดูดความเป็นต้นตำรับ

เทคนิคง่ายๆ ในการตั้งชื่อร้านให้คนอยากเข้ามากินอีกวิธีคือ การดึงเอกลักษณ์ของถิ่นฐานบ้านเกิดออกมา ถ้าร้านอาหารของคุณเป็นร้านอาหารตามต่างจังหวัด หรือมีเมนูเด็ดคือรสชาติ และอาหารที่ขึ้นชื่อของที่ไหนสักที่ คุณสามารถใช้ชื่อร้านที่เป็นภาษาถิ่นมาตั้งได้เลย ซึ่งลูกค้าจะมองว่าร้านคุณเป็นตัวจริงในด้านนั้น ถ้าอยากกินอาหารของภาคนั้นต้องไปร้านคุณทันที เช่น ร้านตูบน้อย ที่เป็นภาษาเหนือ แปลว่ากระท่อมเล็กๆ คนเหนือได้ยินเป็นต้องคิดถึงบ้าน และอยากใช้บริการคุณแน่นอน

6. ความหมายดีคนยิ่งจดจำ

สุดท้ายแล้วเรื่องความหมายของชื่อร้านนี่เองที่ทำให้คนจำได้ เพราะถ้าร้านของคุณมีความหมายดี เป็นสิริมงคลกับร้าน ไม่เป็นชื่อที่ฟังยาก อ่านยาก ก็จะแสดงจุดยืนและภาพลักษณ์ของร้านให้ออกมาน่าสนใจ เช่นเดียวกับร้านเสื้อผ้าผู้ชายที่ชื่อว่า Alano ที่แปลว่า หนุ่มรูปงาม หรือร้านดอกไม้ที่ชื่อว่า Olivia ที่แปลว่า สัญลักษณ์แห่งความสุข ซึ่งถ้านำมาปรับใช้กับร้านอาหารของคุณจะต้องเป็นร้านที่มีคนจดจำและอยากมาใช้บริการแน่นอน