ธุรกิจ E-Commerce ไทย จะก้าวกระโดดยิ่งไปกว่านี้ เมื่อ EEC แล้วเสร็จ


ปัจจุบันในยุคที่เทคโนโลยีเติบโตแบบก้าวกระโดด การทำธุรกิจจึงมีการเติบโต และเปลี่ยนแปลงไปมากอย่างรวดเร็วเช่นกัน การทำธุรกิจโดยการใช้หลักการตลาดแบบเดิมเริ่มไม่ได้ผล จึงต้องมีการปรับตัวให้ทันยุคสมัย ธุรกิจ E-Commerce (อีคอมเมิร์ซ) กลายเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์ เป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบันได้ง่าย และมีบทบาทอย่างมากต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ปัจจัยหลักในการสนับสนุน และขับเคลื่อนให้ ธุรกิจ E-Commerce เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ก็คือ อุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งไทยเราเองก็มีโครงการเมกะโปรเจกต์ของ EEC (โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) ที่มีโครงการพัฒนาด้านโลจิสติกส์รวมอยู่ด้วย หากโครงการนี้เสร็จสมบูรณ์ ก็จะเป็นโครงการด้านโลจิสติกส์ที่ใหญ่สุดอีกแห่งในเอเชีย

หากกล่าวถึงอุตสาหกรรม E-Commerce หลายคนมองว่าเป็นอีกหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงทาง Digital Disruption (สภาวะที่ธุรกิจถูกทำให้หยุดชะงักในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาอย่างรวดเร็ว) ที่ทำให้มูลค่าการค้าขายแบบออฟไลน์ลดลง และคนตกงานมากขึ้น แต่ในความเป็นจริง ธุรกิจ E-commerce เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการจ้างงานหลายสายงานเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสายงานไอที (โปรแกรมเมอร์, นักพัฒนา) การขนส่งและโลจิสติกส์ (พนักงานเดลิเวอรี่, จัดส่งสินค้า) และบริการลูกค้า (คอลล์เซ็นเตอร์ ทั้งวอยซ์ และแชท) ยืนยันได้จากผลสำรวจของ McKinsey ที่ศึกษาบริษัท SME กว่า 4,800 บริษัท พบว่า Internet ช่วยสร้างงานเพิ่ม 2.6 อัตรา ต่อการลดลง 1 อัตรา ตัวอย่าง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในฝรั่งเศส จากการเกิดขึ้นของ ธุรกิจ E-commerce ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา อินเทอร์เน็ตช่วยสร้างงานเพิ่ม 1.2 ล้านอัตรา ในขณะที่ตำแหน่งงานหายไป 500,000 อัตรา หรือช่วยสร้างงาน 2.4 อัตรา ต่อการลดงาน 1 อัตรา นั่นเอง

ยังมีอีกอุตสาหกรรม และการบริการ ที่เป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุน และขับเคลื่อนให้ ธุรกิจ E-Commerce เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นอุตสาหกรรมหลักที่จำเป็นต้องมีการพัฒนาควบคู่ไปพร้อมกัน ซึ่งก็คือ อุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากประเทศจีน ที่ตลาดการขนส่งและโลจิสติกส์มีการเติบโตอย่างอย่างก้าวกระโดด เพราะต้นทุนการขนส่งสินค้าเป็นปัจจัยหลักในการทำกำไรของธุรกิจ E-Commerce ทำให้ทุกบริษัทจำเป็นต้องแข่งกัน และพัฒนาการให้บริการอยู่ตลอด เนื่องจากเป็นภาคอุตสาหกรรมที่เกื้อกูลกัน

อนาคตเมื่อโครงการ EEC ในส่วนของด้านโลจิสติกส์แล้วเสร็จ จะสามารถเชื่อมโยงกับ กลุ่มประเทศ CLMV ประกอบไปด้วย 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา (Cambodia), ลาว (Laos), เมียนมาร์ (Myanmar), เวียดนาม (Vietnam) ได้ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในทุกภาคส่วนเข้าไว้ด้วยกัน อาทิ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ และโลจิสติกส์ รวมเป็นศูนย์กลางการบินที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เชื่อมโยงเอเชีย และโลก, โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ, โครงการพัฒนาท่าเรือ แหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ, โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรม มาบตาพุด ระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่จะใช้หล่อเลี้ยงประชาชนทั้งประเทศ, ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเรือ และการประกอบแท่นขุดเจาะน้ำมัน และโครงการรถไฟทางคู่ เพื่อการขนส่งสินค้าระบบรางที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ

นอกจากนี้ พื้นที่ EEC ยังตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดของภูมิภาคอาเซียน สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศจีน และอินเดียที่มีประชากรจำนวนมาก และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง การยกระดับพื้นที่เศรษฐกิจครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจ SME หรือแม้แต่ Startup มากขึ้น ดังนั้นธุรกิจ E-Commerce ไทยจะเติบโตมากขึ้นควบคู่กับการเสร็จสิ้นของโครงการ EEC