9 ตำแหน่งงานที่ไม่ควรนั่งทำงานในออฟฟิศ


นับวันเรื่องของการแสวงหาสมดุลของชีวิตการทำงานมีมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งมาจากสภาพของการเดินทางในมหานครต่างๆ นั้น ทำเอาคุณภาพชีวิตของพนักงานพังกันไปเป็นแถบๆ มีเรื่องน่าตื่นเต้นและน่าดีใจมาฝากกัน นั่นคือในมหานครใหญ่ๆ ทั่วโลกกำลังให้การยอมรับเรื่องของการทำงานจากข้างนอก นั่นคือไม่สนใจว่าคุณจะนั่งทำงานอยู่ที่ใด ถ้างานเดินคุณก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท จำนวนพนักงานที่ทำงานแบบนี้มีมากถึง 20% ในปัจจุบัน

แล้วตำแหน่งงานแบบไหนกันที่สามารถทำงานจากนอกออฟฟิศได้ ตอนนี้คงต้องยอมรับว่าความสามารถของเทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารรองรับเรื่องแบบนี้มานานพอสมควรแล้ว การทำงานที่ไม่ต้องมาให้เจ้านายเห็นหน้าในออฟฟิศหรือที่เรียกว่า FlexJobs นั้นกระแสกำลังมาแรงสุดๆ

ส่วนหนึ่งเพราะผู้บริหารรุ่นใหม่มองเห็นว่า เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรเป็นอย่างมาก ในการที่พนักงานหนึ่งคนจะเสียเวลาในการเดินทางมาทำงานมากถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนอาคารสำนักงานต้องเสียค่าเช่าพื้นที่ในการวางโต๊ะให้กับพนักงานจำนวนมากมาย นี่ยังไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ หากลดรายจ่ายประจำพวกนี้ได้อีกทั้งยังช่วยให้พนักงานได้เวลาที่เสียไปกลับคืนมา ทุกอย่างจะดีขึ้นทั้งระบบ

แล้วตำแหน่งงานแบบไหนที่ไม่ต้องเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ มีมากมายหลายตำแหน่งที่ไม่รู้ว่าจะให้เขาเหล่านั้นเข้ามานั่งทำงานที่ออฟฟิศทำไม

FlexJobs ยอดนิยมในปัจจุบัน

1. Administrative

ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการบริหารตารางเวลาของผู้บริหาร เรื่องแบบนี้จะจัดการจากที่ใดก็ได้ เว้นเสียแต่ว่าคุณต้องการให้เขาทำหน้าที่เสิร์ฟน้ำชากาแฟให้ด้วย

2. Data entry

ตำแหน่งนี้จะมานั่งให้เห็นหน้าในออฟฟิศให้เปลืองค่าไฟทำไม การป้อนข้อมูลเข้าระบบทำจากที่ไหนก็ได้ เพราะความถูกต้องของงานเช็คได้ผ่านระบบอยู่แล้ว

3. Project management

ตำแหน่งนี้นานๆ เจอกันที และส่วนใหญ่จะเจอกันในห้องประชุม งานที่ทำส่วนมากเป็นการบริหารและติดตามผลซึ่งทำจากที่ไหนก็ได้

4. Writing and editing

ตำแหน่งของบรรดานักเขียนทั้งหลาย จะเสียเวลาเดินทางเข้ามาออฟฟิศเพื่ออะไร ให้พวกเขาเริ่มงานได้ทันทีที่ตื่นนอนน่าจะมีประโยชน์กว่า

5. Customer service

การดูแลลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์หรือระบบออนไลน์ ก็สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ พนักงานสามารถให้บริการลูกค้าได้เหมือนเดิมไม่ว่าเขากำลังนั่งทำงานอยู่ที่ไหนก็ตาม

6. Computer and IT

งานด้านนี้ควรจะเป็นพนักงานกลุ่มแรกที่ไม่ต้องเข้ามาออฟฟิศ เพราะตราบใดที่ระบบไอทีของบริษัทยังคงให้บริการได้ดีอยู่ ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องมาให้เห็นหน้า หรือถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาจริงๆ พวกเขาก็เตรียมรับมือเรื่องการทำงานจากข้างนอกเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

7. Education and training

ตำแหน่งด้านนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ข้างนอกกับลูกค้าเป็นหลัก ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาทำงานในออฟฟิศ เว้นเสียแต่ว่างานที่ทำเป็นการ training ภายในให้กับพนักงาน

8. Consulting

ตำแหน่งงานด้านนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นการให้บริการคำปรึกษากับลูกค้า สนามการทำงานก็ควรจะอยู่ข้างนอกไม่ใช่การนั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศ

9. Marketing

นักวิเคราะห์การตลาดดิจิทัล ทำงานอยู่กับระบบออนไลน์อยู่แล้ว จะให้มานั่งทำงานในออฟฟิศทำไมให้เสียค่าน้ำค่าไฟ เครื่องมือในการติดต่อสื่อสารสมัยนี้ใกล้ชิดกว่าการนั่งอยู่ใกล้ๆ กันซะอีก

กระแสของเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ องค์กรสมัยใหม่ที่กำลังวางแผนจะปรับตัวควรพิจารณาเรื่องนี้เข้าไปด้วย

อ้างอิง: