ในชีวิตการทำงาน เมื่อต้องพบปะพูดคุย หรือนำเสนองานในรูปแบบต่างๆ เรามักเตรียมการแต่เฉพาะเนื้อหาหรือเรียบเรียงคำพูด สิ่งที่มักจะถูกมองข้ามไป แต่มีความสำคัญแทบจะเป็นครึ่งหนึ่งของการสื่อสาร นั่นก็คือ ภาษากาย หรือที่เรียกว่า Body language ซึ่งจะมีส่วนอย่างมากต่อความน่าเชื่อถือ ความสัมพันธ์ และความไว้วางใจ องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงกับความสำเร็จทั้งในแต่ละภารกิจและหน้าที่การงานของคุณทั้งสิ้น
ภาษากาย มีทั้งที่ใช้สื่อสารแทนคำพูด (Non-verbal communication) หรือใช้ประกอบการพูดคุย และเมื่อพูดถึงภาษากาย เรามักจะหมายถึงสิ่งเหล่านี้
1. การใช้สายตา
สายตาเป็นภาษากายที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ การสบตากับผู้ที่เราพูดคุยด้วย โดยเฉพาะคนที่เพิ่งรู้จักกันเป็นครั้งแรก แม้จะยังไม่ได้พูดอะไรเลย สายตาก็จะเป็นสิ่งที่สร้างความรู้จัก คุ้นเคย ไว้เนื้อเชื่อใจ รวมทั้งการแสดงถึงความมั่นใจหรือไม่มั่นใจได้เป็นอย่างดี
2. มือ
มือ เป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับคำพูดหรือความรู้สึกของเราได้อย่างเหลือเชื่อ เช่นเมื่อคุณพูดแล้วทำท่าทุบโต๊ะ คนฟังก็จะรับรู้ถึงความไม่พอใจ หรือการตัดสินใจอย่างเด็ดขาด หรือการประกบสองมือไว้ระหว่างอก แสดงถึงความอบอุ่น สร้างความเชื่อมั่น โดยคุณต้องนึกไว้เสมอว่า ในขณะพูดคุย มือต้องอยู่ในสายตาของคนที่เราคุยด้วย อาจจะฟังดูแปลกอยู่บ้าง แต่เชื่อเถอะว่า เราจะสังเกตมือของคนที่เราคุยด้วยอยู่ตลอดเวลา และเมื่อใดที่อีกคนซ่อนมือไว้ไม่ให้เราเห็น หรือแม้แต่การแกว่งมือแกว่งแขนอยู่ตลอดเวลาตอนที่พูด เราจะมีความรู้สึกที่ต่างออกไปในทันที เช่น อาจจะคิดว่าคนๆ นั้น กำลังเสียความเชื่อมั่น หรืออาจจะกำลังพูดโกหกอยู่ก็ได้
3. รอยยิ้ม
รอยยิ้ม มีพลังในการสื่อสารอย่างวิเศษ เมื่อเรายิ้มให้ใคร เป็นเรื่องยากมากที่อีกฝ่ายจะไม่ยิ้มตอบ รอยยิ้มสื่อสารได้หลายความหมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นความหมายเชิงบวกทั้งสิ้น สำหรับคุณผู้หญิง ลิปสีสวยจะช่วยขับเน้นให้รอยยิ้มดูโดดเด่นเห็นชัด รอยยิ้มจะทรงพลังมากยิ่งขึ้น เมื่อไปพร้อมกับความรู้สึกจริงใจจากภายใน
4. โทนเสียง
การเลือกใช้โทนเสียงที่เหมาะกับวาระโอกาส ก็จะทำให้สิ่งที่เราสื่อสารดูมีพลังเพิ่มขึ้น เช่น ในการนำเสนอผลงาน ควรใช้โทนเสียงที่หนักแน่น พูดเสียงดังฟังชัด ไม่อ้อมแอ้มกระซิบกระซาบ แต่ก็ไม่ตะเบ็งจนน่ารำคาญ
5. ท่วงท่า
นอกจากในขณะที่พูดคุยสื่อสารกันแล้ว การจัดวางท่วงท่าเป็นสิ่งที่คนมักจะสังเกตเห็น อาจจะเริ่มตั้งแต่คุณเดินเข้ามาในห้องหรือขณะที่นั่งรอ การเดินหลังค่อมจะทำให้ดูเสียบุคลิก ไม่น่าเชื่อถือ บางคนอาจพาลคิดไปว่าคุณน่าจะขี้เกียจทำงาน เวลาที่นั่งก้มหน้าใช้มือถือ จะเป็นช่วงเวลาที่คนเราเผลอตัวมากที่สุด และนั่นจะทำให้คุณดูแย่ได้มากที่สุดด้วยเช่นกัน
สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงอยู่เสมอก็คือ ภาษากายอาจไม่สื่อสารได้เป๊ะเสมอไป บางครั้งภาษากายอาจสวนทางกับสิ่งที่เรากำลังพูด หรือไม่ตรงกับลักษณะนิสัย หรือความรู้สึกในขณะนั้น เช่น เมื่อเห็นคนตั้งใจฟังสิ่งที่เราพูด มีการพยักหน้าเออออไปกับเรา เป็นไปได้ว่าที่จริงแล้วอาจไม่ได้เข้าใจสิ่งที่เรากำลังพูด แต่แค่พยักเพยิดให้เรารู้สึกดี หรือเพื่อให้การสนทนาจบๆ ไป
คนที่ดูคล่องแคล่วปรู๊ดปร๊าด ไม่จำเป็นต้องเป็นคนขยัน หรือทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ
เช่นเดียวกัน คนที่เดินช้า คอตก ดูอุ้ยอ้าย ใช่ว่าจะเป็นคนเกียจคร้านเชื่องช้าเสมอไป เขาอาจจะแค่เป็นคนที่ไม่ถูกฝึกให้ใส่ใจเรื่องบุคลิกภาพก็เป็นได้ ฉะนั้น อย่าเพิ่งรีบฟันธงตัดสินคนอื่นในทันทีด้วยสิ่งที่เห็น
ไม่ว่าจะอย่างไร การมีสติรู้ตัวและควบคุมร่างกายอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งการใช้ภาษากายให้เป็น ถูกจังหวะเวลาก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารให้คนเป็นผู้นำ สร้างเสน่ห์ให้คนฟังรู้สึกถึงสิ่งที่คุณสื่อสารออกไปและพร้อมจะเชื่อมั่นในสิ่งที่เราสื่อสารออกไปอยู่เสมอ