เรื่องที่ SME ต้องรู้ เมื่อ “เงินบาทแข็งค่า” ใครได้ ใครเสีย?


หากใครทำธุรกิจโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ คงจะเคยได้ยินคำว่า ค่าเงินบาทแข๋็งค่า, ค่าเงินบาทอ่อน กันอยู่เป็นประจำ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออก ผู้นำเข้า นักลงทุน และผู้ที่กู้เงินตราต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งผู้ที่ได้ และเสียประโยชน์ โดยตรง 

เพื่อความเข้าใจเรื่องค่าเงินให้มากขึ้น เพจเฟซบุ๊กธนาคารแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่อง ค่าเงินบาทแข็ง VS ค่าเงินบาทอ่อน ใครได้ใครเสีย? เพื่ออธิบายเรื่องดังกล่าวโดยมีรายละเอียดดังนี้

ค่าเงินบาทแข็ง VS ค่าเงินบาทอ่อน

***หากสมมุติว่า วันนี้ ค่าเงินบาทอยู่ที่ 33 บาท = 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ

เมื่อค่าเงินบาทแข็ง คือการใช้เงินบาทน้อยลง ในการแลกสกุลเงินอื่นในจำนวนเท่าเดิม

32 บาท = 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ

 

ใครบ้าง ที่ได้ประโยชน์?

  • ผู้นำเข้า เพราะลดต้นทุนในการนำเข้าสินค้า เพราะราคาสินค้าจากต่างประเทศถูกลง
  • ประชาชน ซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศได้ถูกลง
  • ผู้ลงทุน นำเข้าสินค้า ทุนได้ถูกลง เช่นเครื่องจักร, อุปกรณ์ต่างๆ
  • ผู้เป็นหนี้กับต่างประเทศ มีภาระหนี้ลดลง เพราะใช้เงินบาทลดลงในการชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ

 

ใครบ้าง ที่เสียประโยชน์?

  • ผู้ส่งออก นำรายได้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศแลกเงินบาทได้น้อยลง
  • คนทำงานต่างประเทศ นำรายได้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง
  • ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่รับเงินสกุลต่างประเทศ นำรายได้มาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง

 

เมื่อค่าเงินบาทอ่อน คือการใช้เงินบาทมากขึ้น ในการแลกสกุลเงินอื่นในจำนวนเท่าเดิม

34 บาท = 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ

 

ใครบ้าง ที่ได้ประโยชน์?

  • ผู้ส่งออก นำรายได้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น
  • คนทำงานต่างประเทศ นำรายได้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น
  • ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่รับเงินสกุลต่างประเทศ นำรายได้มาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น

 

ใครบ้าง ที่เสียประโยชน์?

  • ผู้นำเข้า เพิ่มต้นทุนการนำเข้าสินค้า
  • ประชาชน ซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศแพงขึ้น
  • ผู้ลงทุน นำเข้าสินค้า ทุนแพงขึ้น เช่นเครื่องจักร, อุปกรณ์ต่างๆ
  • ผู้เป็นหนี้กับต่างประเทศ มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น เพราะใช้เงินบาทมากขึ้นในการชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ

 

แบงก์ชาติ ระบุในโพสต์ดังกล่าวด้วยว่า ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า จะเป็นช่วงจังหวะที่ดีที่ผู้ประกอบการจะปรับโครงสร้างการผลิต โดยนำเข้าสินค้าทุนจากต่างประเทศ เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ ได้ในราคาที่ถูกลง และลงทุนในต่างประเทศเพื่อขยายช่องทางการค้าได้ในต้นทุนที่ต่ำลง รวมไปถึงการกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (portfolio diversification) เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน

ทั้งนี้ การดูแลค่าเงินบาทต้องพิจารณาผลกระทบให้รอบด้าน และเป็นไปไม่ได้เลยที่แบงก์ชาติจะทำการฝืนตลาดเพื่อทำให้ค่าเงินบาทอ่อนหรือแข็งค่า การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน จะเป็นไปตามกลไกตลาด โดยแบงก์ชาติจะดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมากจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

 

ที่มาจาก : ธนาคารแห่งประเทศไทย – Bank of Thailand