ขึ้นชื่อว่าหัวหน้านั่นหมายความว่า คุณกำลังกุมชะตาของเหล่าลูกน้องในบริษัทไว้มากมาย การบริหารจัดการกับบุคคลเหล่านั้นเป็นสิ่งที่คุณต้องรับมือ เพราะอะไรที่ตึงเกินไป ก็มักจะขาด และอะไรที่หย่อนเกินไป ก็จะใช้งานไม่ได้ ซึ่งคุณสมบัติของหัวหน้ายุคใหม่ถ้าสังเกตดีๆ คุณจะเห็นเลยว่าแตกต่างกับสมัยก่อนอย่างมาก
เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป ทำให้การดำเนินงานเปลี่ยนตาม ถ้าคุณยังคงยึดติดนิสัยเก่าๆ ของคนสมัยก่อนเอาไว้ ก็จะกลายเป็นหัวหน้าที่เหล่าลูกน้องไม่อยากอยู่ใกล้ หรือร่วมงานด้วย ซึ่งนี่คือความต่างของนิสัยของหัวหน้ายุคใหม่ และยุคเก่า
1. เข้มงวด ไม่มีความยืดหยุ่น
หัวหน้าสมัยก่อนจะเป็นคนที่ทำงานถวายหัว เพื่อให้งานเสร็จออกมาตามโพรเซสอย่างที่ควรจะเป็น เขาจะยึดติดกับวิธีการ และการดำเนินงานทุกขั้นตอน ต้องผ่านกระบวนการที่ตั้งค่าเอาไว้เท่านั้น ความเข้มงวดนี้จะว่าดีก็ดี แต่จะว่าไม่ดีก็ได้เช่นกัน เป็นเหมือนดาบสองคมที่ไม่มีความยืดหยุ่น ทำให้พนักงานในองค์กรอึดอัด และรู้สึกถูกจำกัดอิสรภาพในการทำงาน
ซึ่งจุดนี้เองที่แตกต่างกับหัวหน้ายุคใหม่ ที่ต้องการมองแค่ผลลัพธ์ โดยไม่สนใจวิธีการ ตราบใดที่มันไม่ผิดกฎหรือขัดต่อหลักจรรยาบรรณ ก็สามารถดำเนินการได้ โดยมอบหมายแค่เดตไลน์ และเข้มงวด แค่ต้องส่งให้ทันเวลาเท่านั้นพอ เป็นการเข้มงวดอย่างยืดหยุ่น ที่จะทำให้พนักงานสบายใจ
2. ออกคำสั่งเสมอ ไม่มาคลุกคลีกับงาน
หัวหน้าสมัยก่อนนั้น จะเคยชินกับการที่เป็นคนออกคำสั่ง โดยไม่จำเป็นต้องมามองงานอย่างใกล้ชิด เพราะยุคสมัยก่อน การทำงานนั้น ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ เหมือนอย่างยุคนี้ ทำให้หัวหน้าต้องโฟกัสที่งานใดงานหนึ่งอย่างเต็มที่ ไม่มีโอกาสมาใส่ใจในงานอื่นๆ ที่ได้มอบหมายไป จึงเคยชินกับการออกคำสั่งดำเนินงานมากกว่า
แต่กลับกัน ยุคนี้การทำงานนั้นคนๆ เดียวสามารถดำเนินงานที่หลากหลายได้ หัวหน้าไม่จำเป็นต้องยุ่งจนงานรัดตัวเหมือนแต่ก่อน เราสามารถดูผลลัพธ์ของงานได้แบบ Real-Time ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ทำให้สามารถให้คำแนะนำ ปรึกษา และพูดคุยเป็นกำลังใจให้กับลูกทีมได้ตลอดเวลา ไม่ทิ้งให้เค้าลองผิดลองถูกอยู่คนเดียวโดยไม่ให้คำแนะนำ
3. เอาความคิดตัวเองเป็นที่ตั้งสูงสุด
แน่นอนว่าการเป็นหัวหน้าต้องมีคุณสมบัติของความเป็นผู้นำ และการมั่นใจในตัวเอง ก็เป็นหนึ่งในคุณสมบัติเหล่านั้นเช่นกัน ซึ่งหัวหน้ายุคเก่าจะมีสิ่งที่เรียกว่าอีโก้อยู่มาก เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะไม่ได้เข้าถึงการศึกษาได้ง่ายเหมือนปัจจุบัน น้อยคนนักจะมีความรู้ ความสามารถอย่างที่หัวหน้ามี ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เขาจะเชื่อในความคิดของตัวเองมากที่สุด
ซึ่งมาถึงยุคนี้ ความรู้ทุกอย่างสามารถหาได้บนโลกออนไลน์ ทุกคนมีความเท่าเทียมเหมือนกันหมด ทำให้หัวหน้ายุคใหม่จะเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นมากขึ้น และยอมรับว่ามุมมองของตัวเองแค่เพียงคนเดียว อาจไม่กว้างพอที่จะช่วยพัฒนาสิ่งต่างๆ ได้ดีที่สุด การรับฟังความคิดเห็นคนรอบตัวบ้าง จึงกลายเป็นเรื่องปกติทั่วไปของหัวหน้ายุคใหม่
4. คนเก่งคือ คนที่ทำงานหนักที่สุด
การมาเร็ว และกลับบ้านช้า ไม่ได้การันตีว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดทำงานเก่ง และดีที่สุด เพราะนี่เป็นปัญหาที่ประเทศไทยพบเจอมานาน กับทัศนคติเชิดชูคนที่ทำงานหนัก ทำงานล่วงเวลา แต่ในต่างประเทศนั้น กลับตีค่าคนเหล่านี้ว่า เป็นคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ และไม่สามารถบริหารจัดการเวลาให้อยู่ในขอบเขตที่กำหนดได้
ซึ่งหัวหน้ายุคเก่านั้นจะยึดติดกับเวลาในบัตรตอก หรือเครื่องสแกนนิ้ว มากกว่าว่าใครมีพฤติกรรมเป็นอย่างไร เพราะสมัยนั้นการจะเช็กถึงการทำงานแต่ละคนได้เป็นเรื่องยากมาก
แต่ทุกวันนี้คุณสามารถตรวจสอบกระบวนการทำงานได้ตลอดเวลา และรู้ได้เลยว่าใครเก่งจริง ผ่านการทำงาน และการมอบหมายงานให้รับผิดชอบตามหน้าที่ คนที่ทำงานหนักไม่ใช่คนเก่งเสมอไป คนที่เอาแต่พรีเซนต์ก็ไม่ได้หมายความว่าทำงานดีแต่คนที่ทำงานได้ตามที่รับมอบหมาย โดยไม่มีขาดตกบกพร่องต่างหาก คือคนที่ควรค่าแก่การรักษาไว้ในองค์กร