ผู้สมัครแบบไหน ที่คุณสามารถต่อรองเงินเดือนให้ต่ำลงได้ ไม่ต้องอิงจากที่ขอ


การเป็นหัวหน้า เจ้าของกิจการ ก็เหมือนกับการซื้อสินค้าอะไรสักอย่างนึง แน่นอนว่าคนขายก็จะอยากได้ราคาสูงๆ ได้กำไรมากๆ แต่คุณเองในฐานะผู้ซื้อ ก็จะอยากได้สินค้าราคาถูกแต่คุณภาพดี และเพราะผู้สมัครทุกคนที่เข้ามาก็มักจะมีตัวเลขเงินเดือนในใจกันอยู่แล้วว่าขอเรียกเท่าไหร่ และคุณเองก็จะพิจารณาจากตัวเลขตรงนั้นว่า ทักษะ ความสามารถ รวมถึงปัจจัยต่างๆ ของเขานั้นเหมาะสมกับเงินตัวเลขนี้มั้ย

แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณต้องการว่าจ้างคนตรงหน้านี้จริงๆ แต่ไม่อยากจ่ายแพงตามที่เขาเรียกร้อง จะมีทักษะยังไงบ้างล่ะที่จะช่วยให้คุณต่อรองเงินเดือนได้แบบชิลๆ โดยไม่ต้องกลัวว่าเขาจะหนีคุณไป ซึ่ง 5 จุดนี้จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายตรงนั้นได้อย่างง่ายดายเลย

1. สังเกตว่ามีงานทำอยู่รึเปล่า

การจะต่อรองเงินเดือนนั้นต้องดูก่อนเลยว่า คนที่มาสมัครงานเขามีงานทำอยู่รึเปล่าในตอนนี้ ถ้าเพิ่งลาออกจากที่ใหม่มาหรือไม่มีงานอยู่ในมือ กำลังมองหางานทำอยู่ล่ะก็ คุณสามารถต่อรองเงินเดือนได้ และมีโอกาสที่จะต่อรองได้มากขึ้นด้วย
เพราะคนเหล่านี้จะไม่อยากว่างงานนานๆ ต้องการงานที่มั่นคงทำ การถูกปรับเงินเดือนลงนิดหน่อยก็อาจจะเป็นทางเลือกที่พวกเขายอมรับได้

2. ดูว่าเขามีตัวเลือกอื่นเหลือในมือหรือไม่

คนสมัครงานส่วนใหญ่มักจะมีตัวเลือกในใจกันไว้ทั้งนั้น บางคนได้ที่นี่แล้วก็ยังมองหาที่สมัครอื่นๆ อยู่ดี เพราะต้องการอัปเงินเดือนที่มากขึ้น ซึ่งคุณจะสามารถสังเกตได้เลยว่า บุคคลนี้มีตัวเลือกอื่นๆ ทางเลือกใหม่ให้เขาไปรึเปล่า โดยดูจากท่าทางการตอบคำถาม และอารมณ์ น้ำเสียงที่สื่อออกมา ว่ามีความใจเย็นปนอยู่ในนั้นมากแค่ไหน

คนที่มีตัวเลือกจะไม่ทำท่าทางลุกลี้ลุกลนเหมือนคนอยากได้งาน แต่จะใจเย็น นิ่ง และจะพูดออกมา หรือทำท่าทางปฏิเสธให้คุณรู้ได้ทันทีเมื่อเสนอเงินเดือนขั้นต่ำกว่าที่เขาขอออกไป

3. เอาเรื่องผ่านโปรมาอ้าง

สำหรับผู้ประกอบการนั้นจะมีแต้มต่ออยู่ในการต่อรองเงินเดือน นั่นคือช่วงยังไม่ผ่านโปร เพราะคุณสามารถกดเงินเดือนพนักงานให้ต่ำอย่างที่ต้องการได้ เพื่อดูว่าทักษะความสามารถของเขานั้นตรงกับที่คุณต้องการมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งยังเป็นการช่วยเช็กด้วยว่า เขารับได้กับเงินเดือนที่คุณเสนอไปหรือไม่

ถ้าเขาโอเค นั่นหมายความว่าคุณจะยังขอต่อรองเงินเดือนหลังผ่านโปรได้อีก เพราะขนาดตัวเลขก่อนผ่านโปรเขายังโอเค การจะปรับตัวเลขให้ลงจากที่เขาขอสักเล็กน้อยหลังผ่านโปรก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร

4. กล้าที่จะพูด

คนไทยจะมีนิสัยขี้เกรงใจ และไม่กล้าพูดอะไรตรงๆ ซึ่งถ้าคุณมัวแต่เหนียมอาย ไม่กล้าต่อรองเงินเดือน คุณก็จะต้องจ่ายเต็มในอัตราที่อาจจะไม่คุ้มค่าจ้างก็ได้ เพราะฉะนั้นให้คุณคิดเอาไว้ว่าคุณมีตัวเลือกในมือมากมาย มีคนที่ต้องการสมัครกับคุณอีกมาก

การต่อรองเงินเดือนกับคนคนนึงแล้วเขารับไม่ได้ก็ไม่ใช่การเสียหน้า หรือเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำแต่อย่างใด แต่มันเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำกัน ถ้าไม่ลองคุณก็ไม่มีทางรู้ว่าเขาจะยอมหรือไม่

5. ใส่เหตุผลเข้าไปว่าทำไมถึงต้องปรับลดเงินเดือนลง

ทุกอย่างจะง่ายขึ้นทันทีถ้าคุณมีเหตุผลมารองรับการกระทำเหล่านั้น การปรับเงินเดือนลงก็เช่นกัน คุณอาจจะอ้างว่า ที่บริษัทคุณนั้นเขาจะไม่ต้องทำในส่วนไหนบ้าง จะให้รับผิดชอบมากแค่ไหน น้อยกว่าที่เก่าอย่างไร ทำไมถึงต้องปรับลงสักเล็กน้อย

การมีเหตุผลมารองรับจะช่วยให้ผู้สมัครเข้าใจได้ง่ายขึ้น และไม่รู้สึกว่านี่คือการเอาเปรียบ แต่เป็นการว่างจ้างตามหลักของความสมเหตุสมผลนั่นเอง

สุดท้ายแล้วถ้าคุณอยากจะได้ผู้สมัครคนนี้เข้ามาทำงานจริงๆ ด้วยความถูกชะตา หรือชอบในทักษะที่เขามี การให้ราคาที่ผู้ว่าจ้างและผู้สมัครรับได้ทั้งคู่นั้นก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องเสียใจในภายหลังที่เขาไปสมัครที่ใหม่ และเขาจะได้กลายเป็นพนักงานของคุณด้วยความเต็มใจด้วย