5 เช็คลิสต์ก่อนก้าวออกมาเป็นฟรีแลนซ์


McKinsey บริษัทที่ปรึกษาในสหรัฐอเมริกาประมาณการว่า 27% ของคนทำงานในสหรัฐอเมริกาตอนนี้เป็นการทำงานแบบฟรีแลนซ์ และคาดว่าจำนวนของคนทำงานแบบนี้จะเพิ่มขึ้นถึง 50% ในปี 2030

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจและอยากจะเปลี่ยนตัวเองให้ไปสัมผัสกับความอิสระและความยืดหยุ่นของชีวิตการทำงานแบบนี้ ก็ต้องมีการเตรียมตัวเตรียมใจกันเอาไว้ก่อน มาดูกันว่าคนที่จะทำงานแบบฟรีแลนซ์จะต้องมีทักษะด้านใดบ้าง

5 เช็คลิสต์ก่อนก้าวออกมาเป็นฟรีแลนซ์

1. ต้องรู้จักตัวเอง

เมื่อพิจารณาถึงการทำงานอิสระสิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือ พิจารณาว่ารูปแบบการทำงานแบบนี้เหมาะสมสำหรับคุณหรือไม่ บางคนอาจจะคิดว่าชอบแต่พอลองทำไปได้ไม่กี่วันพบว่าไม่ใช่แนวแล้วเลิกทำไปก็มี งานแบบนี้เหมาะสำหรับคนรักความอิสระ และชอบความท้าทายชนิดที่ว่าไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าคุณเป็นคนประเภทต้องการรู้ว่าวันไหนต้องทำอะไรแล้วละก็ งานนี้คงไม่เหมาะที่คุณจะทำ ดังนั้นขอให้ “ซื่อสัตย์กับตัวเอง”

2. ทดสอบก่อนเริ่มของจริง

หลายคนที่ทำงานประจำอยู่แล้วตอนนี้ อาจจะกล้าๆ กลัวๆ ที่จะออกมาทำงานอิสระ มันก็เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปที่จะกังวล ไม่มีใครบังคับให้คุณต้องลาออกจากงานประจำทันที คุณสามารถลองทำอาชีพอิสระในวันหยุดสุดสัปดาห์ดูก่อนได้ หากมันยังทำให้คุณตื่นเต้นและท้าทายมากกว่างานประจำ ค่อยกระโจนเข้าใส่ก็ยังไม่สาย

3. สร้างตัวคุณให้เป็นแบรนด์

เมื่อคุณพร้อมที่จะเข้าสู่วงการฟรีแลนซ์ สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดเลยก็คือโปรไฟล์ของคุณ คุณจะต้องสร้างความโดดเด่นและแตกต่างให้มากที่สุด เพราะวงการนี้คู่แข่งก็มีอยู่ไม่ใช่น้อย การทำให้คนอื่นเข้าใจคุณและไว้ใจคุณได้ผ่านการดูโปรไฟล์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

4. รักษาความเชี่ยวชาญ

ก็คล้ายๆ กับงานอื่น ๆ ที่ต้องทำ เมื่อคุณทำอาชีพอิสระก็ต้องคอยรักษาความเชี่ยวชาญของคุณเอาไว้ แต่การเก็บรักษาอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ คุณจะต้องหาความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตามยุคสมัยเข้าไปด้วย หรือเข้าใจง่ายๆ ว่าจะทำตัวให้เชี่ยวชาญในเรื่องที่คนอื่นต้องการนั่นเอง สมัยนี้แหล่งความรู้มีมากมายไม่ว่าจะเป็น edX, Udemy และ Coursera

5. กำหนดราคาของตัวคุณเอง

ข้อสุดท้ายมันเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ การตั้งราคาของตัวคุณในการรับงานเป็นสิ่งสำคัญ อย่างน้อยคุณก็ต้องรู้ว่าต้นทุนของคุณคืออะไรบ้าง เวลาคิดราคาจะได้ไม่ขาดทุน จากนั้นบวกเพิ่มตามความสามารถและเวลาที่คุณจะต้องเสียไปกับการทำงานนั้นๆ คุณจะตั้งราคาได้สูงขึ้นเมื่อเริ่มมีชื่อเสียงในวงการ ค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นไป อย่าตั้งสูงตั้งแต่แรกเริ่ม

อ้างอิง: