แนวทางใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเสริมแกร่งโลจิสติกส์


เมื่อธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งในและต่างประเทศมีแนวโน้มการเติบโตอย่างมากในปัจจุบัน แต่ละองค์กรในสนามแข่งขันนี้จึงต้องคิดว่าจะปรับตัวอย่างไรเพื่อให้เกิดคุณค่าสูงสุดแก่ลูกค้า, พนักงาน, องค์กร และสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน

เอสซีจี โลจิสติกส์ เป็นหนึ่งในองค์กรที่เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าว จึงเร่งปรับตัวในหลายด้านโดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินงาน สร้างประโยชน์ให้ลูกค้า และเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ดียิ่งขึ้น

สำหรับการทำงานของเอสซีจี โลจิสติกส์ นั้น เดิมจำเป็นต้องใช้จำนวนพนักงานมากเพื่อติดต่อกับลูกค้า ช่วยค้นหาข้อมูลของสินค้า และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับลูกค้า การทำงานแต่ละครั้งจึงใช้เวลานาน และเสี่ยงต่อการที่ข้อมูลจะผิดพลาดสูง อีกทั้งการเก็บรวบรวมข้อมูลให้เป็นระบบส่วนกลางก็ค่อนข้างยาก การนำเทคโนโลยีแต่ละอย่างมาค่อย ๆ ปรับใช้ในการทำงานจึงสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้

แชทบอท (Chatbot)

หนึ่งในเทคโนโลยีที่นำมาใช้คือ แชทบอท (Chatbot) หรือโปรแกรมโต้ตอบอัตโนมัติ “ทัคคุง” ทำให้จากปกติที่ลูกค้าต้องโทรศัพท์หาคอลล์เซ็นเตอร์ เพื่อติดตามสถานะสินค้าของตนเองที่ทำการขนส่งว่าจะมีการจัดส่งเมื่อใดและจัดส่งถึงที่ใดแล้ว มาเป็นการที่ลูกค้าสามารถคุยกับแชทบอทได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) และสามารถทราบคำตอบต่าง ๆ ได้ทันทีจากการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ที่สำคัญ “ทัคคุง” ยังฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ เพราะระบบมี Machine Learning ที่สามารถเรียนรู้แนวโน้มความต้องการของลูกค้า และสามารถนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าอาจจะชอบในอนาคตได้

Robotic Process Automation

นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยี RPA หรือ Robotic Process Automation ซึ่งเป็นการนำหุ่นยนต์มาใช้ในระบบคอมพิวเตอร์ ที่สามารถทำงานแทนพนักงานโดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลหรือการคีย์ข้อมูล ได้อย่างแม่นยำตลอด 24 ชั่วโมง จึงสามารถแบ่งเบาการทำงานของพนักงานได้ถึง 3 คนต่อการใช้ RPA 1 ตัว ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นและช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดียิ่งขึ้น

Machine Learning และ AI

นอกจากนั้นยังมีการนำเทคโนโลยี Machine Learning และ AI เข้ามาช่วยควบคุมความปลอดภัยในการทำงานของพนักงานขับรถ โดยมีศูนย์ Logistics Command Center (LCC) ที่คอยติดตาม GPS ของรถขนส่งกว่า 10,000 กว่าคัน ว่ากำลังเคลื่อนที่ไปถึงจุดใด และแต่ละคันขับตามความเร็ว 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตามที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งหากรถมีความเร็วเกินกำหนด ระบบก็จะแจ้งเตือนให้พนักงานทราบผ่านลำโพงในรถยนต์เพื่อให้คนขับรถลดความเร็วทันที ขณะเดียวกันหากมีการจอดรถอย่างฉุกเฉินและเกินเวลาที่กำหนดจนทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ระบบก็จะแจ้งพนักงานที่ควบคุมดูแลศูนย์ LCC ให้ประสานงานไปยังคนขับรถเพื่อสอบถามและให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งหมดนี้คือแนวทางการดำเนินงานของเอสซีจี โลจิสติกส์ ในช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้และพัฒนาสู่การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อมอบบริการที่มีคุณภาพและสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า รวมทั้งพนักงานทุกคน

อ้างอิง: เอสซีจี โลจิสติกส์