ปีใหม่ เปลี่ยนงานใหม่ ขอถามอีกที “คุณคิดดีแล้วหรือยัง?”


มีสถิติบอกไว้ว่า มนุษย์เงินเดือนมักจะเปลี่ยนงานทุก ๆ 2 – 4 ปี ด้วยเหตุผลหลาย ๆ ประการ อาทิ งานที่ทำอยู่เริ่มไม่ท้าทายแล้ว เบื่อกับความจำเจ งานหนักจนสุขภาพทรุดโทรม นอกจากเรื่องงานแล้วบางทีเหตุผลของการเปลี่ยนงานยังมาจากเรื่อง “คน” เช่น เจ้านายกดดัน เพื่อนร่วมงานไม่ดีทำให้อยู่แล้วไม่มีความสุข

ช่วงเวลาที่เปลี่ยนงานโดยมากเป็นช่วงปลายปีถึงต้นปี เนื่องจากหลายคนต้องรอรับโบนัสปลายปีเสียก่อน รวมถึงบางคนอาจรอว่าเงินเดือนที่ปรับใหม่น่าพอใจไหม ถ้าปรับน้อยไปเมื่อเทียบกับแรงกายและเวลาที่คุณทุ่มเทให้มาทั้งปีก็อาจเป็นเหตุผลที่คิดลาออกก็ได้

เคยได้ยินไหมว่ามี 2 เรื่องใหญ่ ๆ ในชีวิต ซึ่งถ้าต้องตัดสินใจแล้ว ไม่ควรไปถามใคร แม้กระทั่งหมอดู นั่นคือเรื่อง “เปลี่ยนงาน” กับ “แต่งงาน” เพราะถ้าตัดสินใจผิดพลาดไปแล้ว คนที่ทุกข์ทรมานที่สุดคือคุณเองนั่นแหละ

ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจเปลี่ยนงานควรคิดให้รอบคอบก่อน อย่าใช้อารมณ์เพียงชั่ววูบตัดสินใจเขียนจดหมายลาออก เพราะการตกงาน ไม่มีงาน ไม่มีเงิน เป็นชีวิตที่ยิ่งกว่าตกนรกเสียอีก แม้คุณจะคิดว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวก็หางานใหม่ได้ ถ้างานใหม่ไม่ดีก็ลาออก เปลี่ยนงานไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถูกใจ แต่รู้ไหม…องค์กรที่รับคุณเข้าทำงานจะตั้งคำถามในใจโดยไม่ได้บอกคุณว่า คนที่เปลี่ยนงานบ่อยเกินไปน่าจะเป็นคนที่มีปัญหามากกว่า องค์กรมีปัญหา

เหรียญมี 2 ด้าน ทุก ๆ อย่างต้องมีทั้งดีและไม่ดีเสมอ ดังนั้นถ้าคิดจะลาออกจากงานลองตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ก่อนการตัดสินใจ

เงินเดือนหรือสวัสดิการเพิ่มขึ้นไหม?

เรื่องเงินเดือนน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่เราทุกคนนำมาพิจารณาเป็นอันดับแรก เพราะใคร ๆ ก็อยากได้เงินเดือนสูง ๆ ทั้งนั้น แล้วยิ่งเปลี่ยนงานบ่อยคุณจะสามารถ up เงินเดือนได้มากกว่าที่เดิมอยู่แล้ว แต่การที่บริษัทยอมจ่ายเงินเดือนที่สูงขึ้น ก็ต้องคาดหวังกับความสามารถ ประสบการณ์ และความทุ่มเทของคุณที่จะมีให้องค์กรด้วยเช่นกัน นี่อาจจะเป็นความกดดันที่คุณคาดไม่ถึงก็ได้

เงินเดือนไม่ดีแต่สวัสดิการดี? 

ถ้าคุณทำงานเพื่ออนาคตยาว ๆ จนถึงเกษียณก็ควรพิจารณางานที่ให้สวัสดิการดี ๆ อย่างเช่น ถ้าเงินเดือนไม่มาก แต่มีโบนัสทุกปี มีค่ารักษาพยาบาล ประกันชีวิต เบิกค่าเล่าเรียนลูกได้ เบิกค่าพยาบาลให้พ่อแม่ได้ ทำงานจนเกษียณได้บำเหน็จหรือบำนาญ ถ้าดีขนาดนี้บั้นปลายชีวิตหลังเกษียณจะสบาย

ตำแหน่งที่ดีขึ้นไหม?

คนเราทำงานย่อมต้องการความก้าวหน้าเสมอ คงไม่มีใครอยากเป็นลูกน้องตลอดชีวิต ดังนั้นบางคนแม้จะทำงานในองค์กรใหญ่ที่มั่นคง แต่โอกาสจะขึ้นเป็นผู้บริหารนั้นยากมาก เพราะองค์กรใหญ่นั้นกว่าจะไปถึงตำแหน่งหัวหน้าต้องข้ามห้วยหนองคลองบึงอีกมากมาย

กลับกัน ถ้า…หัวหมา จะดีกว่าหางราชสีห์  ถ้าคุณได้ไปอยู่ในบริษัทที่เล็กกว่าเดิม แต่ได้ตำแหน่งใหญ่ขึ้น เรื่องอย่างนี้ต้องคิดหนัก ถ้าคุณอายุยังน้อย แนะนำให้เลือกอยู่บริษัทเล็กแต่มีโอกาสก้าวไปสู่ตำแหน่งใหญ่ง่ายขึ้น เพราะจะมีโอกาสเรียนรู้งานพัฒนาศักยภาพตัวเอง แต่ถ้าอายุงานของคุณอยู่ปลาย ๆ แล้ว ควรจะเลือกความมั่นคงดีกว่าเพื่อความก้าวหน้า  ถ้าเปลี่ยนงานด้วยเหตุผลนี้ดีมาก ๆ แต่ต้องมั่นใจว่าคุณเป็นคนมีความสามารถจริง ๆ และที่ทำงานใหม่ต้องเห็นความสำคัญของคุณ เห็นความสามารถของคุณ และพร้อมจะยอมให้คุณรับผิดชอบงานได้เต็มที่ ถ้าได้เช่นนั้นมัวรออะไร เขียนใบลาออกเลย

เดินทางสะดวกกว่าไหม?

ชีวิตคนทำงานในเมืองใหญ่ต้องตื่นแต่เช้ามืด ฝ่าการจราจรหลายชั่วโมงเพื่อไปให้ทันเวลาเข้างาน 8 โมงเช้า และต้องติดบนถนนอีก 1- 2 ชั่วโมงกว่าจะกลับถึงบ้าน กินข้าว อาบน้ำเข้านอน นอนไม่กี่ชั่วโมงต้องตื่นไปทำงานอีกแล้ว ชีวิตวนลูปแบบนี้

….สู้ย้ายตัวเองไปหางานที่ใกล้บ้าน หรือย้ายบ้านไปอยู่ให้ใกล้ที่ทำงาน คงต้องเลือกสักเส้นทาง หลายคนแก้ปัญหาด้วยการหาซื้อคอนโดฯ ที่อยู่ติดกับรถไฟฟ้า เพื่อให้การเดินทางไปทำงานสะดวกง่ายสบายขึ้น จึงทำให้คอนโดขายดิบขายดี แต่คุณพร้อมที่จะต้องมาผ่อนบ้านหลังที่สองจะเพิ่มภาระไหม ถ้าไม่ไหว ลองหางานที่ใกล้บ้านคุณก็ดีเหมือนกัน

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนงานเพื่อไปทำงานที่สบายขึ้นแลกกับเงินเดือนน้อยลง เหมาะสำหรับคนที่สุขภาพไม่ดีทำงานหนักไม่ไหว หรือคนมีครอบครัวที่มีลูกเล็ก ๆ ต้องดูแลก็คงต้องตัดสินใจหางานที่มีเวลามากพอ ในยุคโซเชียลมีเดีย ถ้าคุณมีความสามารถหาเงินได้จากการขายของออนไลน์ อย่าเสี่ยงลาออกจากงานประจำแต่ให้ทำควบคู่แล้วดูทิศทางลมไปก่อนว่ารอดหรือร่วง 

นอกจากนี้ ถ้าคุณเป็นคนประเภท comfort zone ยึดติดกับที่ ทำแต่อะไรเดิม ๆ  ชอบอยู่อย่างสบาย ก็ต้องคิดสักนิดก่อนจะเปลี่ยนงาน เพราะที่ทำงานใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ งานรับผิดชอบใหม่ อะไรที่มันแปลกใหม่จากเดิม จะไหวไม่ไหว…ถามใจตัวเองก่อน